แผนการเรียนรู้ทรงพลัง สร้างสมรรถนะนักเรียน สะท้อนสมรรถนะครู
แผนการเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนของครู เปรียบเหมือนกับการเดินทางที่เป็นจุดเชื่อมโยงให้ครูสามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และตรงตามเป้าหมาย ปัจจัยสำคัญต่อแผนการเรียนรู้ทรงพลัง ประกอบด้วย
1) นโยบายระดับชาติ ในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และการพัฒนาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของผู้เรียน
2) เป้าหมายของโรงเรียน (School Goal) ในการขานรับนโยบายชาติ เพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้และเติมเต็มช่องว่างของการเรียนรู้
3) บริบท (Context) ของนักเรียน ผู้ปกครอง และธรรมชาติของวิชา โดยการตั้งเป้าหมายให้มีความสอดคล้องกับบริบทที่จะนำไปสู่การวางแผนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่สำคัญในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการคิดและจินตนาการ ความสามารถในการแก้ปัญหาและการจัดการ ทักษะในการสื่อสาร และความสามารถในการตัดสินใจ
ทั้งนี้ ในแต่ละสาระวิชาอาจจะมุ่งที่ตัวชี้วัดของแต่ละหน่วยการเรียนรู้ จากการออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับตัวชี้วัด สิ่งที่ควรคำนึงคือ ผลการเรียนรู้/ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้ ถ้าทำการแยกแต่ละตัวชัดเจน และนักเรียนผ่านการเรียนรู้ในแต่ละข้อได้ ก่อให้เกิดสมรรถนะอย่างไร ถ้าครูสามารถตอบข้อคำถามนี้ได้นั่นแสดงว่าครูมีการวางแผนการเรียนรู้ที่ชัดเจน แต่ถ้าครูมองว่าการแยกส่วนแล้วเด็กไม่เกิดสมรรถนะ ครูอาจจะต้องเปลี่ยนแผนการจัดการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งอาจจะต้องมองย้อนว่า หน่วยการเรียนรู้นี้อยากให้เด็กเกิดสมรรถนะอะไร ดังนั้น ก่อนที่จะมีแผนการเรียนรู้ ต้องมีการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ โดยครูอาจจะต้องทำการขมวดหรือหลอมบางตัวชี้วัดเข้าด้วยกัน และทำบางตัวชี้วัดให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้เกิดทักษะที่คาดหวังด้วยกระบวนการที่ว่า นักเรียนต้องรู้อะไร นักเรียนต้องทำอะไรได้ และนักเรียนต้องรับรู้หรือรู้สึกอย่างไร ซึ่งในแต่ละตัวของจุดประสงค์การเรียนรู้ต้องใช้หรือมีเครื่องมืออะไรบ้าง และใครเป็นผู้ให้ข้อมูลได้บ้าง โดยต้องทำแต่ละตัวออกมาให้ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป
สำหรับแผนการเรียนรู้ทรงพลัง สร้างสมรรถนะนักเรียนและสะท้อนสมรรถนะครูในครั้งนี้ มุ่งเน้นในกระบวนการที่นักเรียนต้องทำอะไรได้บ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของเด็กที่ทำสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างไร
โดยเริ่มจากการสร้างคำบรรยายลักษณะของผู้เรียน จากการสังเกตพฤติกรรมทั้งในห้องเรียน และงานที่นักเรียนทำส่งในแต่ละระดับ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 เป็นการระบุปัญหาที่ต้องการจากสถานการณ์ที่กำหนดให้
ระดับที่ 2 นักเรียนสามารถเลือกวิธี เสนอวิธีการ และประเมินการสำรวจตรวจสอบได้โดยมีเหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจได้
ระดับที่ 3 นักเรียนสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีความซับซ้อน เพื่อระบุปัญหาที่ตรวจสอบได้ รวบรวมข้อมูล ตัดสินใจเลือกวิธี เสนอวิธีการ และประเมินการสำรวจตรวจสอบปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนต่างๆ ได้
ระดับที่ 4 นักเรียนสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีความซับซ้อนเพื่อระบุปัญหา รวบรวมทางเลือก ตัดสินใจเลือกวิธีการ เสนอวิธีการ และประเมินการสำรวจตรวจสอบปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนและไม่คุ้นเคย หลังจากนั้น ทำการลำดับตามสถานการณ์ เพื่อให้เด็กได้พัฒนากระบวนการคิดตามที่ครูได้กำหนดไว้
แผนการเรียนรู้ทรงพลัง ประกอบด้วย P8O4 ซึ่ง P มาจากคำว่า Performance สมรรถนะของครูในการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ ผู้เรียนสามารถเข้าใจสิ่งที่เรียนและเข้าใจบทเรียน ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้หรือประสบการเดิมกับการเรียนรู้ใหม่ ผู้เรียนได้สร้างความรู้เอง หรือได้สร้างประสบการณ์ใหม่จากการเรียนรู้ ผู้เรียนได้รับการกระตุ้นและเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญจากการเรียนรู้ ผู้เรียนได้รับข้อมูลสะท้อนกลับเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ในบรรยากาศชั้นเรียนที่เหมาะสม และผู้เรียนสามารถกำกับการเรียนรู้และมีการเรียนรู้แบบนำตนเอง และ O มาจากคำว่า Outcome ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ ผลงานหรือผลการปฏิบัติเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนรู้ของครู ผลงานหรือผลการปฏิบัติสะท้อนถึงการได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐาน (Basic Skills) ตามวัยและลักษณะของผู้เรียน ผลงานหรือผลการปฏิบัติสะท้อนถึงความสามารถในการเรียนรู้ (Cognitive Abilities) ตามวัยและลักษณะของผู้เรียน และผลงานหรือผลการปฏิบัติสะท้อนถึงการบูรณาการทักษะในการทำงาน (Cross-functional Skills) ตามวัยและลักษณะของผู้เรียน ทั้งนี้ แผนการเรียนรู้ทรงพลัง จะต้องมีกลยุทธ์ในการจัดการเรียนรู้และผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งครูสามารถวิเคราะห์ P และ O ในแผนการจัดการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน (Timeline) ได้
จะเห็นได้ว่า การออกแบบการเรียนรู้ ถ้าแยกส่วนการเรียนรู้และผลของการเรียนรู้ อาจส่งผลให้เด็กขาดการกระตุ้น ประยุกต์ใช้ความรู้หรือทักษะทั้งหมด ถ้าหลอมบางตัว มีแผนและเป้าหมายที่ชัดเจนและกระตุ้นให้เด็กได้ใช้สิ่งนั้นออกมา ย่อมก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายมากขึ้น ทั้งนี้ สามารถเรียนรู้แนวทางการสร้างแผนการเรียนรู้ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้เพิ่มเติม ได้ที่ www.StarfishLabz.com
ดร.กมลรัตน์ ฉิมพาลี
ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนถนนหักพิทยาคม สพม. จ.บุรีรัมย์
Related Courses
การวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ
ในการระบาดของโรคโควิด- 19 ทำให้ไม่สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้จึงต้องมีการวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูการเรียน ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
Micro Learning หลักการอ่านภาษาไทย ป.1-3
การเรียนหลักการอ่านภาษาไทย ป.1-3 เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบของ Micro Learning เรื่อง มาตราตัวสะกด คำที่มี ห นำ และก ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...