ในวันที่ลูกท้อเรื่องเรียน พ่อแม่อย่างเรา จะเติมไฟสู้ให้ลูกยังไงดี?
“เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย” ไหนจะต้องทำการบ้าน ทำรายงาน อ่านหนังสือเตรียมสอบทำคะแนนให้พ่อแม่ชื่นใจ แล้วไหนจะต้องพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ไปพร้อมกับการรับมือความเปลี่ยนแปลงของร่างกายทั้งสมองและฮอร์โมน
ยิ่งช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา หยุดเรียนเป็นปี เปิดเทอมอีกทีก็มีสิ่งให้ปรับตัวใหม่ราวกับไปโรงเรียนเป็นครั้งแรก วิชาความรู้บางอย่างก็เจือจางพอๆ กับระยะทางที่เรียนออนไลน์
หลังจากเปิดเทอมได้สักระยะ วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยจึงอาจรู้สึกหมดไฟ ท้อแท้ใจในการเรียน เพราะนอกจากต้องปรับตัวใหม่หลายๆ ด้าน เรื่องเรียนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องปรับจูนใหม่เช่นกัน ในช่วงปรับตัวหลังจากกลับมาเรียน on-site ก็อาจไม่ง่ายสำหรับลูกเหมือนเคย เพราะอาจยังตามบทเรียนไม่ค่อยทันตั้งแต่ช่วงเรียนออนไลน์
Starfish Labz ชวนพ่อแม่ทำความเข้าใจความท้อแท้หมดไฟด้านการเรียนของลูกวัยรุ่น และลองมาดูกันซิว่า พ่อแม่อย่างเราจะเติมไฟสร้างกำลังใจให้ลูกได้อย่างไรบ้าง
สาเหตุเบื้องหลังความท้อใจในการเรียน
ความเบื่อหน่าย การขาดความสนใจ และความว้าวุ่นใจ เป็นอารมณ์หลักๆ ที่มักเกิดขึ้นกับวัยรุ่น เมื่อผนวกอารมณ์เหล่านี้เข้ากับความเครียดจากการเรียน ก็ยิ่งทำให้วัยรุ่นหมดไฟในการเรียนได้ง่าย โดยทั่วไปแล้วเมื่อวัยรุ่นรู้สึกท้อใจ ไม่อยากอ่านหนังสือ ไม่มีแรงทำการบ้าน ไม่อยากไปโรงเรียน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขารู้สึกว่า “ต้องทำ” ในสิ่งที่ “ไม่อยากทำ” และด้วยเหตุนี้เองวัยรุ่นจึงรู้สึกว่าตนเองขาดอิสรภาพ ซึ่งอิสระเสรี นับเป็นสิ่งที่วัยรุ่นทุกคนต้องการมากที่สุดอิสระ ความเป็นตัวของตัวเอง และการยอมรับ เป็นสามสิ่งใหญ่ๆ ที่วัยรุ่นให้ความสำคัญมากที่สุด ซึ่งการเรียน ไปจนถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเรียนมักไม่ได้ทำให้วัยรุ่นรู้สึกถึง 3 สิ่งดังกล่าว
วัยรุ่นมักรู้สึกว่า ถึงจะอ่านหนังสือจนจบ ก็ยังไม่ได้รับอิสระ เพราะยังมีวิชาอื่นๆ ต้องอ่านอีก หรือ ถึงจะทำสอบผ่าน แต่ก็ยังมีรายงานต้องทำอยู่ดี การเรียนเป็นเหมือนกรงขังอิสรภาพที่ไม่มีวันสิ้นสุด หรือถึงจะทำคะแนนได้เต็ม ก็ยังต้องทำตามที่พ่อแม่บอก ทำตามที่ตัวเองต้องการไม่ได้อยู่ดี ถึงจะอ่านหนังสือหนัก แต่ถ้าคะแนนออกมาไม่ได้ แม่ก็จะไม่ยอมรับในตัวเรา หนำซ้ำยังถูกเปรียบเทียบกับลูกของญาติๆ หรือลูกของเพื่อนพ่อแม่เสียอีก
ความรู้สึกต่างๆ ข้างต้น คือสาเหตุของความท้อใจในการเรียนของวัยรุ่น ไม่ว่าจะพยายามสักเพียงใด แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้อิสระ ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง และไม่ได้รับการยอมรับสักที จึงเกิดความท้อแท้ขึ้นมา
เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่ควรหาวิธีสื่อสาร เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าพวกเขาได้รับสิ่งที่ต้องการ เช่น เมื่อลูกรู้สึกว่าหลังกลับจากโรงเรียน ก็ต้องทำการบ้านตั้งมากมาย ลองบอกลูกว่า ถ้าลูกตั้งใจเรียนในห้อง ใช้เวลาว่างที่โรงเรียนทำการบ้านมาบางส่วน เมื่อกลับถึงบ้านลูกก็จะใช้เวลาทำการบ้านน้อยลง และมีเวลาอิสระมากขึ้น หรือหากลูกต้องการเป็นตัวของตัวเอง ได้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในบ้านบ้าง เมื่อลูกรู้สึกว่าไม่ว่าจะทำคะแนนได้ดีแค่ไหน พ่อแม่ก็ยังไม่ให้ลูกได้ทำตามที่ต้องการ อาจลองบอกลูกว่า ถ้าลูกทำคะแนนภูมิศาสตร์ได้ดี ปิดเทอมคราวหน้าแม่จะให้ลูกเป็นคนวางแผน
ทริปของครอบครัว หรือไม่ว่าลูกจะเรียนหนักแค่ไหน พ่อแม่ก็ยังไม่ยอมรับและคิดว่าทำได้ไม่ดีพอ พ่อแม่จึงควรหมั่นสังเกตและแสดงให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่นั้นยอมรับในตัวลูก ไม่ด่วนตัดสิน และไม่เปรียบเทียบ เพราะการได้รับการยอมรับจากพ่อแม่จะช่วยสร้างกำลังใจให้ลูกได้
แรงใจจากพ่อแม่สำคัญอย่างไร
พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเรื่องการเรียนของลูกทั้งหมด เป็นหน้าที่ของครู แต่ในความจริงมีการศึกษาที่พบว่า พ่อแม่ที่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูก จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
การศึกษาจาก National Coalition for Parent Involment in Education พบว่า ไม่ว่าพื้นฐานของครอบครัวจะเป็นแบบใด หากพ่อแม่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูก นักเรียนก็มีแนวโน้มที่จะทำคะแนนได้ดี เข้าเรียนสม่ำเสมอ มีทักษะทางสังคมที่ดี และสามารถปรับตัวและพฤติกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้นในโรงเรียน
การศึกษาดังกล่าวยังระบุอีกว่า สิ่งที่บ่งชี้ความสำเร็จในการเรียนของเด็กๆ ไม่ใช่ฐานะการเงินหรือสถานะของครอบครัว แต่ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวไหน จะมีส่วนร่วมด้านการเรียนรู้ของเด็กๆ ในโรงเรียนมากกว่าต่างหาก นักเรียนที่มีพ่อแม่ ครอบครัวคอยให้กำลังใจสนับสนุน มีโอกาสอย่างมากที่จะประสบความสำเร็จด้านการเรียน
ดังนั้น กำลังใจจากพ่อแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญเสมอสำหรับลูกทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน หากพ่อแม่เข้าใจ เสริมแรงใจอยู่ข้างๆ ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ลูกกล้าเผชิญสิ่งต่างๆ ในโลกได้
วัยรุ่นที่เห็นว่าพ่อแม่อยู่ตรงนั้นเสมอเมื่อพวกเขาต้องการ มักมีแนวโน้มที่จะกล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กล้าใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพราะพวกเขารู้ว่าไม่ว่าอย่างไร พ่อแม่ ครอบครัว ก็จะให้กำลังใจถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
ช่วยลูกสร้างแรงใจ เติมไฟในการเรียน
เมื่อรู้แล้วว่าบทบาทของพ่อแม่เป็นกำลังใจสำคัญให้ลูกกล้าเรียนรู้สิ่งใหม่และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ลองมาดูกันว่า ในฐานะพ่อแม่จะช่วยสร้างแรงใจ เติมไฟในการเรียนให้ลูกได้อย่างไรบ้าง
1. เห็นอกเห็นใจ เพื่อจะให้กำลังใจลูก พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไรอย่างแท้จริง ลองจินตนาการว่าหากเราเป็นลูกตอนนี้จะรู้สึกอย่างไร วัยรุ่นมักมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ พ่อแม่ควรพยายามพูดคุยและเข้าใจมุมมองของลูกก่อนแล้วจึงพูดสิ่งที่ตนรู้สึก สิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ คือ
- สิ่งสำคัญพ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเพราะอะไรลูกจึงไม่ต้องการอ่านหนังสือ, ทำการบ้าน ฯลฯ
- วิธีการรับมือความท้อใจของลูกคือเผชิญหน้ากับลูกตรงๆ และหาคำตอบว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคในการเรียนของลูกตอนนี้
- ลูกวัยรุ่น อาจไม่ชอบเรียนวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี
- ลูกอาจรู้สึกว่าไม่เข้าใจบทเรียนที่ครูสอนในห้องเรียน และไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร
- การพูดคุยกับลูกจะทำให้พ่อแม่เข้าใจลูกและช่วยลูกแก้ปัญหาได้
2. ลงมือลงแรง โดยทั่วไปวัยรุ่นมักรู้สึกเหนื่อยล้าหลังกลับจากโรงเรียน จนไม่อยากหยิบการบ้านออกมาทำ หยิบหนังสือออกมาอ่าน การบอกลูกปากเปล่าว่าให้ทำการบ้านจึงอาจไม่เพียงพอ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ
- นั่งลงข้างๆ ลูกและช่วยลูกจัดลำดับความสำคัญของงานต่างๆ
- อาจมองหาติวเตอร์มาช่วยสอนในวิชาที่ลูกรู้สึกว่าเป็นปัญหา
- หากพ่อแม่ชวนให้ลูกเริ่มต้นลงมือทำได้ ขั้นต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
3. ปรึกษาหารือกัน การตวาดลูกด้วยอารมณ์ในความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ หรือการที่ลูกไม่อ่านหนังสือสักที ไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ หากพ่อแม่ตวาดลูกเป็นประจำ มีแนวโน้มว่าลูกวัยรุ่นจะตีตัวออกห่างไปเรื่อยๆ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ
- สื่อสารอย่างสงบแแต่มั่นคง (Kind but Firm) ยืนยันสิ่งที่คุณต้องการให้ลูกทำโดยใช้น้ำเสียงสงบนิ่ง ไม่ตวาด ไม่ตะคอก
- อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าทำไมการเรียนจึงสำคัญ
- หารือกันโดยให้เกียรติกันและกัน รับฟังความคิดเห็นของลูก และแสดงความคิดเห็นของตนเองว่าการเรียนมีประโยชน์กับลูกอย่างไร โดยเลือกใช้คำที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าพวกเขาได้รับอิสระ ได้เป็นตัวของตัวเอง และได้รับการยอมรับ
4. อย่าคาดหวังสูง ในการพูดคุยครั้งแรก อย่าคาดหวังว่าลูกจะยอมรับในทันที บ่อยครั้งความคาดหวังสูงของพ่อแม่ มักทำให้วัยรุ่นรู้สึกกดดันและกังวล สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ
- ให้ความสำคัญกับการที่ลูกทำตามกิจวัตรได้สำเร็จ รวมถึงเมื่อลูกตั้งใจเรียนรู้
- สอนให้ลูกตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จได้ง่ายแทนการตั้งเป้าหมายใหญ่ๆ
- ชวนให้ลูกตั้งเป้าหมายใหม่ หลังจากทำเป้าหมายก่อนหน้าสำเร็จ
- การทำงานผ่านเป้าหมายที่ต่อเนื่องกัน จะช่วยให้วัยรุ่นเรียนรู้และประสบความสำเร็จมากขึ้นในระยะยาว
5. โชว์ Passion เมื่อลูกหมดไฟในการเรียน พ่อแม่ส่วนใหญ่มักมีวิตกกังวล แต่สิ่งที่ควรรู้ก็คือ ยิ่งพ่อแม่แสดงความกังวลออกมามากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ลูกเครียด และหมดกำลังใจมากกว่าเดิม ในทางกลับกัน พ่อแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณสงบและควบคุมอารมณ์ได้ดี เปลี่ยนความกังวลเหล่านั้นเป็น Passion ในการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก แสดงให้ลูกเห็นว่าเรื่องวิชาการก็สามารถทำให้สนุกสนานได้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ
- สนับสนุนให้ลูกออกไปหาประสบการณ์นอกบ้าน อาจลงคอร์สกิจกรรมสนุกๆ ที่ลูกสนใจ หรือออกไปพักสมองกับเพื่อนๆ
- ช่วยลูกจัดเวลาทำงานอดิเรกที่ลูกชื่นชอบ
- หากิจกรรมที่คุณและลูกสนใจ และทำกิจกรรมเหล่านั้นด้วยกัน
- กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้จิตใจของวัยรุ่นสดชื่น ในขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมทักษะนอกห้องเรียนที่อาจช่วยเติมไฟการเรียนรู้ให้ลูกได้
สุดท้ายแล้ว พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าการเติมไฟให้ลูกไม่ท้อใจในการเรียน ไม่ใช่การบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ แต่เป็นการสนับสนุนและสร้างความเข้าใจให้ลูกรับรู้ว่าการเรียนรู้สำคัญอย่างไรต่างหาก ขณะเดียวกัน วิธีที่จะทำให้ลูกลงมืออ่านหนังสือหรือทำงานใดๆ อย่างแท้จริง คือ การที่พ่อแม่มีส่วนร่วมและช่วยแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กับลูก เหนือสิ่งอื่นใด
อย่าลังเลที่จะกล่าวคำชมความพยายามของลูก ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะคำชมจากพ่อแม่ เปรียบเสมือนฟืนชั้นดี ที่ทำให้ไฟแห่งการเรียนรู้โชติช่วงต่อไปได้
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...