ฟื้นฟูความรู้ แบบครูที่สู้ไม่ถอย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการปรับรูปแบบ วิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย ตลอดจนการปรับบทบาทของโรงเรียน ครูผู้สอน โดยเฉพาะกับกลุ่มนักเรียนที่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ ส่งผลให้การพัฒนาการในด้านต่างๆ ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่ภาวะความถดถอยในการเรียนรู้ ฉะนั้น นักเรียนจึงควรได้รับการส่งเสริม สนับสนุนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของโรงเรียน และครูผู้สอนในการช่วยฟื้นฟูความรู้และลดความถดถอยในการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้สถานศึกษาต้องหยุดการเรียนการสอน และปรับรูปแบบการเรียนการสอน ให้มีความสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและสถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อให้การเรียนสามารถดำเนินต่อไปได้ และจากการปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย ส่งผลให้นักเรียน เกิดความไม่ต่อเนื่องในด้านการเรียน รวมไปถึงการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่อาจหายไป จนก่อให้เกิดภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมของเด็กในการเรียน เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน นักเรียนมีพื้นฐานในการเรียนรู้ที่ถดถอยสำหรับระดับชั้นที่สูงขึ้น เนื่องจากไม่มีการจัดการเรียนรู้ที่เต็มรูปแบบ การจัดรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ใม่ตอบโจทย์ของนักเรียน เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้
ปัญหาด้านสุขภาวะของนักเรียน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการตามช่วงวัยที่ช้าลง ผู้ปกครองไม่มีเวลา ไม่รู้หนังสือ และไม่เห็นความสำคัญของการเรียน รวมถึงปัญหาการใช้เทคโนโลยีในการสอนของครู ซึ่งจากวิกฤติดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นความท้าทายของครูในการช่วยเหลือเพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำโครงการ การสร้างใบงาน การสร้างสื่อการเรียนรู้ การติดตามการเรียนรู้ของเด็ก ตลอดจนหาแนวทางเข้าสู่ชุมชนและผู้ปกครองในการเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ ให้เห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้น เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้กลับมาสู่ภาวะปกติ และนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามระดับชั้น
หลังจากที่ได้มีการกลับมาเรียนในรูปแบบ On-site นอกจากทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนเกิดภาวะถดถอยแล้ว ยังพบว่าทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมของนักเรียนถดถอย และไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูจะต้องแก้ไข เพื่อให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตในโรงเรียนและที่บ้านก่อนที่จะนำเข้าสู่ทักษะวิชาการ เนื่องจากในการส่งเสริมจะต้องส่งเสริมให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ก่อน ส่งเสริมให้อยู่ในสังคมที่ดีก่อนและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ก่อนที่จะเข้าสู่ในเรื่องของวิชาการต่อไป
สำหรับเทคนิคหรือวิธีการในการช่วยเด็ก ฟื้นฟูด้านการถดถอยทางการเรียนรู้ ได้มีการดำเนินการทดสอบความรู้พื้นฐานของเด็กทุกระดับชั้น เพื่อวัดระดับความถดถอยทางการเรียนรู้ โดยออกแบบทดสอบอิงจากข้อสอบ RT, NT และตามตัวชี้วัดของรายวิชา ซึ่งจะทำการทดสอบในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเรียน การซ่อมความรู้เดิมให้กับเด็ก การปูพื้นฐานความรู้ให้เด็กมีความพร้อมที่จะรับความรู้ใหม่ๆ การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ โดยการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบสื่อ การจัดกิจกรรมในเรื่องที่ต้องการส่งเสริมให้กับผู้เรียน การเรียนรู้เสริมจากสิ่งที่ชอบผ่านสื่อโซเซียล เช่น TikTok Facebook เป็นต้น ทั้งนี้ จากเทคนิคหรือวิธีการต่างๆ ได้มีการนำมาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องตามสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูให้กับผู้เรียนโรงเรียนได้มีแนวทางช่วยเหลือ โดยการสำรวจความต้องการช่วยเหลือจากทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง การจัดโครงการหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะในด้านต่างๆ ที่นักเรียนเกิดความถดถอย โดยการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น การประเมินสภาพแวดล้อมทั้งระบบ
(นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน) เพื่อเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือนักเรียน การเยี่ยมบ้านนักเรียน การ PLC แลกเปลี่ยนปัญหาของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น การส่งเสริมให้ครูในโรงเรียนพัฒนานวัตกรรมของตนเอง เพื่อแก้ปัญหาผู้เรียนในชั้นของตนเอง นอกจากนี้ ยังให้การพัฒนาสนับสนุนด้านครู การติดตามผลทั้งครูและนักเรียนเพื่อวิเคราะห์ในการสนับสนุนเพิ่มเติม
จะเห็นได้จากวิกฤติย่อมก่อให้เกิดโอกาส ความท้าทายย่อมก่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ เชื่อได้ว่า ครูทุกคนย่อมมีเทคนิคที่แตกต่างกันออกไป ตลอดจนความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด ทั้งนี้ สามารถรับฟังเทคนิค วิธีการ ตลอดจนแนวทางในการฟื้นฟูความถดถอยในการเรียนรู้เพิ่มเติม ได้ที่ www.StarfishLabz.com
ครูลลิตตา ภักดีวานิช โรงเรียนวัดบ้านม้า จ.ลำพูน
ครูมัทนา รุ่งแจ้ง โรงเรียนบ้านเวียงหวาย จ.เชียงใหม่
ครูสิริญา ชุ่มเย็น โรงเรียนบ้านห้วยเกี๋ยง จ.เชียงใหม่
ครูอนันต์ เตชะระ โรงเรียนบ้านดง จ.เชียงใหม่
บทความใกล้เคียง
กิจกรรม Focus Group โครงการ พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อลดภาวะการเรียนรู้ถดถอยและฟื้นฟู การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
Starfish Teachers Hero Season 2 แท็กทีมครูมีไฟ หัวใจฮีโร่ ในยุค New Normal
5 แหล่งเรียนออนไลน์ สอนทักษะ Soft Skills สำคัญแห่งศตวรรษที่ 21
Related Courses
การพัฒนาทักษะการอ่าน
หนังสือเปรียบเสมือนคลัง ที่รวบรวมเรื่องราวความรู้ต่างๆ มากมาย การพัฒนาทักษะและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านจึงมีความสำคัญเป็น ...
การวัดความรู้ถดถอยของนักเรียน
การวัดความรู้ถดถอยของนักเรียน เมื่อต้องปรับตัวมาเรียนออนไลน์ ครูเป็นอีกหนึ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเตรี ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...