ก่อนเปิดเทอมนี้มีไอเดียดีๆ ฟื้นฟูการเรียนรู้คณิตศาสตร์มาแบ่งปัน
การระบาดของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการศึกษา นอกจากโรงเรียนต้องปิดเป็นระยะยาว หรือปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้มีความเหมาะสมแล้ว ยังส่งผลไปถึงภาวะถดถอยทางความรู้ของเด็ก ถึงแม้ว่าจะทำการเปิดเรียนหลังจากสถานการณ์คลี่คลายอาจยังไม่พอต่อการฟื้นฟูความรู้ที่ขาดหาย ดังนั้น นักเรียนจึงควรได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในการฟื้นฟูการเรียนรู้โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกสาระวิชาได้
การถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) เป็นการเสียโอกาสทางการเรียนรู้ ซึ่งมีผลให้นักเรียนเกิดภาวะถดถอยของความรู้ ทำให้ทักษะต่างๆ ที่นักเรียนควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยก็จะสูญเสียตามไปด้วย เช่น ทักษะการอ่าน การคำนวณ รวมทั้งทักษะต่างๆ ทางสังคม เช่น การปรับตัว ทักษะทางอารมณ์ เป็นต้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1. การถดถอยทางการเรียนรู้แบบชั่วคราว เป็นการถดถอยที่เกิดในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งอาจมาจากขาดการเรียนรู้กับครูแบบตัวต่อตัว การไม่มีโอกาสได้วัดประเมินผลหรือตรวจสอบความเข้าใจ ทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และเมื่อเด็กกลับเข้าสู่ระบบโรงเรียนปัญหาดังกล่าวสามารถที่จะแก้ไขได้
2. การถดถอยทางการเรียนรู้ระยะยาว เป็นการถดถอยที่ไม่รู้ตัวและไม่สามารถแก้ไขได้ สาเหตุหลักๆ คือ โครงสร้างเชิงระบบ เช่น สถานศึกษา บุคลากร อุปกรณ์ สื่อการเรียนรู้และงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้ครูไม่สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู ด้วยเนื้อหาและภาระงานที่ค่อนข้างมาก ทำให้การจัดการเรียนรู้ของครูเน้นที่กระบวนการปฏิบัติมากกว่าความเข้าใจ เมื่อเด็กไม่เข้าใจสะสม ทำให้ยากต่อการเรียนรู้เนื้อหาใหม่ ๆ ส่งผลให้เด็กเกิดการถดถอยทางการเรียนรู้อย่างสะสมเป็นระยะยาว
เห็นได้ว่า การถดถอยทั้ง 2 รูปแบบมีความสัมพันธ์กัน ฉะนั้น หลังจากที่โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนแบบปกติ ครูจึงมีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน ยกตัวอย่างการแชร์ประสบการณ์ในการฟื้นฟูการถดถอยทางการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ โดยเริ่มจากการปรับความรู้พื้นฐานใหม่ ทบทวนบทเรียน สอดแทรกวิธีการและจัดกิจกรรมกระตุ้นความรู้เดิม เพื่อสะท้อนสู่ความรู้พื้นฐานของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการใช้แบบทดสอบความรู้พื้นฐานก่อนเรียน (Prerequisite-Knowledge Test) การใช้กิจกรรมการเรียนรู้ การใช้คำถาม (Questioning) การวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล (Individual analysis) การทำแบบสอบถามความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน (Questionnaire) ทั้งนี้ ครูสามารถใช้วิธีการที่หลากหลายในการสำรวจ ทำความเข้าใจถึงความสามารถและความพร้อมทางการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนจากรูปแบบการเรียนรู้ (Learning Style) ประสบการณ์การเรียนรู้ ความรู้พื้นฐานที่แตกต่างกัน รวมไปถึงความพร้อมส่วนบุคคลหรือปัจจัยภายนอก และภูมิหลังครอบครัวที่แตกต่างกันได้
สำหรับแนวทางการดำเนินการเมื่อรู้ว่ามีความถดถอยของผู้เรียนวิชาคณิตศาสตร์ ในการดำเนินกิจกรรมให้กับนักเรียน ย่อมเกิดการเรียนรู้ผ่านความจำจากการสัมผัส (Sensory Memory) ซึ่งเป็นความจำระยะสั้นที่ต้องอาศัยความตั้งใจ (Attention) ถึงจะสามารถนำความจำไปใช้ปฏิบัติการได้ ถ้าหากมีการสร้างเนื้อหาเชื่อมโยงกับความจำหรือประสบการณ์ที่มีอยู่เดิม นำมาฝึกฝน ปฏิบัติซ้ำๆ จะก่อให้เกิดทักษะและความจำที่นักเรียนสามารถนำไปใช้ได้คงทนมากขึ้น ซึ่งจากการวิเคราะห์ผู้เรียนในการจัดการเรียนรู้ 2 รูปแบบ คือ แบบ A เป็นการสอนโดยการเฉลยบนกระดานทุกข้อ และแบบ B เป็นการสอนที่แสดงคำตอบที่มากกว่า 1 วิธี พบว่า การจัดการเรียนรู้ทั้งกลุ่ม A และ B ต่างเป็นการส่งผ่านความรู้จากครูสู่เด็ก (Passive Learning) แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมโดยใช้วิธีการที่หลากหลาย อาจส่งผลให้เด็กเปิดเผยแนวคิดที่คลาดเคลื่อน (Misconception) ซึ่งส่งผลดีในการปรับเปลี่ยน แก้ไขที่จะนำไปสู่แนวคิดหลักทางคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องได้ ถือว่าเป็นประโยชน์ในการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้
ทั้งนี้ การฟื้นฟูการถดถอยทางการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ จุดประสงค์หลักในการจัดการเรียนรู้จะต้องเป็นการซ่อมความรู้พื้นฐานของเด็กและสร้างความรู้ใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจแนวคิดทางคณิตศาสตร์ผ่านกิจกรรม Active Learning ที่ใช้กระบวนการคิดสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองผ่านกิจกรรมนั้น ๆ โดยที่ครูเป็นผู้จัดกิจกรรม
ยกตัวอย่างกิจกรรมรื้อฟื้นความถดถอย เช่น กิจกรรม Warm Up Activity เป็นกิจกรรมที่ฟื้นฟูความถดถอยขั้นเริ่มต้น ครูสามารถใช้เวลาในการทำกิจกรรมในระยะเวลาสั้นๆ 10-15 นาที เพื่อเป็นการรื้อฟื้นการเชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียนได้ กิจกรรมการบวกจำนวนเต็มบวก 2 หลัก เป็นการสอนที่เน้นกระบวนการ (Procedural/Instrumental Understanding) ที่ทำให้เด็กรู้ว่ากระบวนการในการได้มาของคำตอบทำอย่างไร และการสอนที่เน้นกระบวนการ (Relational Understanding) เป็นกระบวนการสอนที่ว่าเด็กจะรู้คำตอบอย่างไร และทำไมถึงทำอย่างนั้นได้ รวมทั้งเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ อย่างไร ซึ่งทั้ง 2 กระบวนการเป็นการสอนที่สำคัญ แต่สิ่งที่ครูต้องคำนึงคือ การสอนแบบนี้จะอยู่ในช่วงไหนของการเรียนรู้ และกิจกรรม Walk Through the Number Line การเดินบนเส้นจำนวน เป็นต้น
สรุปได้ว่า ในการฟื้นฟูการเรียนรู้ของผู้เรียนมีวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งวิธีการหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ การจัดกิจกรรม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของกิจกรรมเล็กๆ หรือกิจกรรมเกม สิ่งที่สำคัญคือ ในขณะที่เด็กเล่นเกมหรือกิจกรรมนั้น ครูจะต้องสังเกตว่าเด็กถดถอยการเรียนรู้ด้านไหน และสิ่งไหนที่จะช่วยซ่อมได้ จากนั้นจึงทำการสร้างความรู้ใหม่ให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด ทั้งนี้ สามารถรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ www.starfishlabz.com
ครูเชิดศักดิ์ ภักดีวิโรจน์ ครูสอนคณิตศาสตร์
โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดนครปฐม
บทความใกล้เคียง
แชร์ไอเดียการสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ง่ายๆ สไตล์โรงเรียนบ้านปลาดาว
มาตรการฟื้นฟูความรู้ถดถอยในเด็ก (Learning Loss) โดย Starfish Education
“การลดปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย”
Related Courses
การวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ
ในการระบาดของโรคโควิด- 19 ทำให้ไม่สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้จึงต้องมีการวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูการเรียน ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...