การสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาทางการศึกษา
นวัตกรรม กับ นวัตกรรมทางการศึกษา ไม่มีความแตกต่างกันในความหมาย เพียงแต่นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับบริบททางการศึกษา โดยพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2462 ได้ให้ความหมายของ “นวัตกรรมการศึกษา” ว่าหมายความถึง แนวคิด วิธีการ กระบวนการ สื่อการเรียนการสอน หรือการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ ซึ่งได้มีการทดลองและพัฒนาจนเป็นที่น่าเชื่อถือว่าสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนและการจัดการศึกษา และให้หมายรวมถึงการนำสิ่งดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วย
ดังนั้น การสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาทางการศึกษา จึงต้องมีองค์ประกอบครบ 3 ข้อดังกล่าวข้างต้น และตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังปรากฏในหมวดที่ 1 มาตรา 5 ดังนี้
- คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา และการเรียนรู้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่นๆ
- ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
- กระจายอำนาจ และให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษา รวมถึงสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร และการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- สร้าง และพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
การพัฒนานวัตกรรม เพื่อตอบสนองต่อการแก้ปัญหาทางการศึกษา จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการออกแบบแบบเพชร 2 เม็ด (Double Diamond Design) เป็นการนำการคิดเชิงออกแบบของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมาผสมผสานกับการออกแบบแบบเพชร 2 เม็ด ของ UK Design Council ในการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งสามารถแบ่งการทำงานออกเป็นสามช่วงใหญ่ ๆ ดังนี้ (ไปรมา อิศรเสนา ณ อยุธยา และชูจิต ตรีรัตนพันธ์, 2560)
1. การสร้างความเข้าใจ (Understand) เป็นการสร้างความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง (Understanding ends in Insight) ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ดังนี้
- 1.1 การสร้างความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง (Empathy) เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกระบวนการออกแบบ ซึ่งจำเป็นต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง คือการเข้าใจปัญหาเพื่อแก้ปัญหาที่เราพยายามแก้ไข ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่าที่แท้จริง (Value Innovation)
- 1.2 การตั้งกรอบโจทย์ (Define) เป็นขั้นตอนที่เราต้องนำข้อมูลทั้งหมด ที่หาได้จากขั้นตอนการสร้างความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง (Empathy) มารวมกันเพื่อวิเคราะห์ความต้องการที่ชัดเจนของกลุ่มเป้าหมาย
2. การสร้างสรรค์ (Create) การสร้างความคิดใหม่ ๆ (Creation ends in ideas)
การสร้างความคิด (Ideate) เป็นขั้นที่เราจะเริ่มนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ โจทย์ปัญหา ที่ชัดเจน มาสังเคราะห์เพื่อหาคำตอบหรือทางเลือกใหม่ ๆ ที่ตอบสนสองต่อความต้องการของผู้ใช้งาน และพร้อมสำหรับการนำไปสร้างต้นแบบต่อไป
3. เตรียมส่งมอบสู่ผู้ใช้ (Deliver) นำสู่การไปใช้ได้จริง (Delivery ends in reality) ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ดังนี้
- 3.1 การสร้างต้นแบบ (Prototype) เป็นการถ่ายทอดความคิดให้เป็นรูปธรรมอย่างง่ายในเบื้องต้น เพื่อสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบ ที่คิดว่าจะตรงใจหรือโดนใจกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ใช้งาน
- 3.2 การทดสอบต้นแบบ (Test) เป็นกระบวนการทดสอบเพื่อพัฒนาและปรับแก้ต้นแบบให้ดีขึ้น
หากผู้พัฒนานวัตกรรมเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง สามารถวิเคราะห์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน นำมาสังเคราะห์เพื่อหาคำตอบหรือทางเลือกใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมาย จนสามารถพัฒนาต้นแบบไม่ว่าจะเป็นในรูปของแนวคิด วิธีการ กระบวนการ สื่อการเรียนการสอน หรือการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถนำสู่การจัดการศึกษา และสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาได้ เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษา ตลอดจนสร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วน จะส่งผลต่อคุณภาพของพลเมืองไทย ให้มีความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก และสามารถขับเคลื่อนสู่การยกระดับประเทศทั้งในมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติการเมือง ตอบสนองต่อวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป
ปภาวรินท์ เรืองประจวบกุล
ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่
รายการอ้างอิง :
กฤษฎา เสกตระกูล. (2563). นวัตกรรม ความหวังใหม่ เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ. ฉบับ 3,634 หน้า 5.
ไปรมา อิศรเสนา ณ อยุธยา และชูจิต ตรีรัตนพันธ์. (2560). การคิดเชิงออกแบบ : เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ. กรุงเทพฯ: ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ.
พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. (2546). กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562. (2562, 30 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 136 ตอนที่ 56 ก. หน้า 102 – 104.
Baregheh, A. & Sambrook, S. (2009). Towards a Multidisciplinary Definition of Innovation. Management Decision. Researcgate.net.
Related Courses
โค้ชชิ่งสู่เส้นทางที่ใช่ด้วย MBTI : Myers-Briggs Type Indicator
Coaching Through MBTI : Myers-Briggs Type Indicator เป็นคอร์สที่จะทำให้คุณครูได้เปลี่ยนจากครูที่ทำหน้าที่สอนให้เป็นโ ...
โค้ชชิ่งสู่เส้นทางที่ใช่ด้วย MBTI : Myers-Briggs Type Indicator
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...