3 ขั้นตอน สานสัมพันธ์ครูนักเรียนในวันเปิดเทอม
เปิดเรียนวันแรกผ่านมาแล้ว ครูควรทำอะไรบ้างเพื่อให้นักเรียนกลับมาสนุกกับการเรียนรู้ที่โรงเรียนอีกครั้ง เรามาลองกระชับความสัมพันธ์ที่ห่างหายไปในช่วงปิดเทอม ซึ่ง Starfish Labz สรุปแนวทางสานสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนใน 3 ขั้นตอน มาให้ได้ลองนำไปปรับใช้กันดูค่ะ
1.ใส่ใจสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ และคอยถามไถ่ด้วยความห่วงใย
ในวันที่โรงเรียนเปิดอีกครั้ง หลังจากเด็กๆ เรียนออนไลน์เป็นเวลานาน เราจะสานสัมพันธ์กับนักเรียนอย่างไร เพื่อให้นักเรียนกลับมาสนุกกับการเรียนรู้ที่โรงเรียนอีกครั้ง โดยเริ่มจากการทำความรู้จักกันก่อน เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจก่อนเลยว่า เหตุใดนักเรียนจึงต้องการให้ครูเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยวางรากฐานความมั่นคงทางอารมณ์ของนักเรียนได้ และอย่าด่วนตัดสินปัญหาของนักเรียน หากนักเรียนร้องไห้มาพบเรา เพราะเหตุผลอะไรก็ตาม พวกเขาต้องการใครสักคนคอยรับฟังเรื่องทุกข์ใจ ไม่ใช่คนที่จะพร่ำสอนอย่างเดียว อาจจะต้องลองเป็นผู้ฟังให้มากและพูดให้น้อย เช่น หากนักเรียนไม่ทำการบ้าน ลองพูดว่า “เสียดายที่งานยังไม่เสร็จ บอกครูหน่อยว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น”
หากมีนักเรียนเข้าห้องสาย ให้ลองพูดว่า “สวัสดี(ชื่อนักเรียน) ดีใจนะที่หนูมา เดี๋ยวให้เพื่อนๆ บอกว่าเรียนอะไรไปบ้าง” หลังจากนั้น เราจะพูดคุยกับนักเรียนเป็นการส่วนตัว แต่ก่อนจะเริ่มคุยหรือตำหนิ ให้ลองสังเกตท่าทีของนักเรียนให้ดีก่อน แล้วจึงพูดว่า “ปกติหนูไม่เคย…เลยนะ เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า สบายดีใช่ไหม” เราต้องแสดงให้นักเรียนเห็นว่าเราห่วงใยและใส่ใจเขาจริงๆ ไม่ใช่ต้องการจะจับผิดหรือคาดโทษ
2. ทำความเข้าใจข้อจำกัดของเด็กๆ เป็นรายบุคคล
หลังจากที่ทำความรู้จักร่วมกันไปแล้วข้างต้น เพื่อทำความเข้าใจข้อจำกัดของนักเรียนเป็นรายบุคคล ลองหากิจกรรมให้นักเรียนออกมาเล่าเรื่อง หรือแชร์ประสบการณ์ในช่วงปิดเทอม ว่า
“ใครไปทำอะไรมาบ้าง” ลองเปิดโอกาสให้นักเรียนมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง อาจจะให้เวลา 2-3 นาที แทนที่จะให้นักเรียนเปิดหนังสือแล้วอ่านพร้อมกัน เป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างความสัมพันธ์ที่จะช่วยให้วันแรกของการเปิดเรียนเป็นวันที่สนุกสนาน ทำให้เด็กๆ อยากมาโรงเรียน โดยให้ครูลองเดินสำรวจนักเรียนไปรอบๆ และประเมินดูว่านักเรียนแต่ละคน มีสีหน้าแววตาที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร ซึ่งความใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้ เราจะเห็นศักยภาพของนักเรียนได้เด่นชัดขึ้น
3. ตั้งเป้าหมายร่วมกันและติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิด
ความสัมพันธ์อันดี ถือเป็นรากฐานที่ครูจะช่วยต่อยอดความสามารถของนักเรียน เพื่อพัฒนาทักษะให้ดีขึ้น จนกระทั่งบรรลุจุดหมายที่วางไว้ร่วมกันได้ ทั้งด้านพัฒนาการทางวิชาการและด้านสังคม ซึ่งหลังจากที่เราทำ 2 ขั้นตอนแรกแล้ว ให้สังเกตดูว่า มีนักเรียนคนไหนติดขัดเรื่องการเรียนหรือต้องการความช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษ ความเห็นอกเห็นใจจากครู จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนสามารถจัดการอารมณ์ และปรับพฤติกรรมของตนเองได้ รวมถึงมีพัฒนาการด้านการเรียนที่ดีตามมาด้วย
เมื่อนักเรียนไว้วางใจและสนิทใจกับครู กล้าที่จะนำเรื่องกลุ้มใจมาปรึกษา หรือมาขอคำแนะนำจากครู ครูควรรับฟังและเลือกใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง โดยเน้นให้คำตอบที่สร้างสรรค์ และหมั่นชมเชยความคิดที่ดีของนักเรียน คอยส่งเสริมให้นักเรียนนำไปคิดทบทวน และปรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวนักเรียนเอง เป็นวิธีการที่จะช่วยส่งเสริมความต้องการให้นักเรียนเรียนรู้และก้าวสู้เป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกันได้
ในฐานะครูก็ต้องอยากพัฒนานักเรียนให้เรียนเก่งขึ้น ตั้งแต่วันแรกของการเปิดเรียนจนไปถึงความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ฉะนั้นวิธีสร้างความสัมพันธ์ จึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกอยากมาโรงเรียนและมีกำลังใจในการเรียนรู้พร้อมที่จะพัฒนาตนเองร่วมกัน มาร่วมกันสร้างสานสัมพันธ์ที่ดีนี้ไปด้วยกันนะคะ
Sources:
Why Teacher-Student Relationships Matter
www.edweek.org/teaching-learning/why-teacher-student-relationships-matter/2019/03
บทความใกล้เคียง
มาตรการฟื้นฟูความรู้ถดถอยในเด็ก (Learning Loss) โดย Starfish Education
5 เคล็ดลับ การพัฒนาทักษะเด็กออทิสติก ทั้งทางร่างกายสู่ทางปัญญา
เปิดเทอมคราวนี้ต้องให้ความสำคัญ เรื่อง “การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอย”
Related Courses
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
การวัดความรู้ถดถอยของนักเรียน
การวัดความรู้ถดถอยของนักเรียน เมื่อต้องปรับตัวมาเรียนออนไลน์ ครูเป็นอีกหนึ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเตรี ...
เป็นครูยุคใหม่ทักษะอะไรบ้างที่ต้องมี
มาเตรียมความพร้อมกับการเป็นครูในยุคใหม่ ทั้งผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นสายอาชีพครู หรือผู้ที่เป็นครูอยู่แล้วมาร่วมอัปเดตทักษะที่ครูยุคใหม่จะ ...
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...