PLC Happy Hour Live Online ครั้งที่ 5 "PLC ภายในโรงเรียน"
กิจกรรม PLC Happy Hour Live Online ครั้งที่ 5 โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง
รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ต่อเนื่องในปี 2564 หัวข้อ PLC ภายในโรงเรียน
จากการจัดการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าในแต่ละชั้นเรียนจะมีนักเรียนที่มีความสามารถที่หลากหลายและแตกต่างกัน ทำให้สถานศึกษาต้องมีการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของนักเรียน โรงเรียน เพื่อให้การเรียนรู้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยน แบ่งปันข้อมูลถึงลักษณะ PLC ที่โดนเด่นของแต่ละโรงเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม PLC ร่วมกัน โดยโรงเรียน
วัดบ้านม้า สังกัด สพป.ลำพูน เขต 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีความโดดเด่นในด้านการ PLC การทำงานเป็นทีม การลงมือปฏิบัติจริง และที่สำคัญคือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC คือ การร่วมมือกันของครู ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียน และผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา บนพื้นฐานความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร มีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และภารกิจร่วมกัน โดยทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งการดำเนินการในรูปแบบ PLC นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านวิชาชีพและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน
สำหรับบทบาทหน้าที่ของครูในการทำกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ภายในโรงเรียน ได้มีการกำหนดบทบาทของครูอย่างชัดเจนทั้ง 5 บทบาท ดังนี้
1) ผู้บริหารสถานศึกษา มีบทบาทเป็น Administrator Teacher ซึ่งจะเป็นผู้ที่รับรองการจัดกิจกรรม PLC ให้เป็นชั่วโมงการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ที่ กสศ. กำหนด
2) ครูผู้สอน (Model Teacher) ครูทุกคนจะสร้างรูปแบบการสอนของตนเอง และนำมาแลกเปลี่ยนประเด็นที่ตนเองถนัดในชั้นเรียนนั้นๆ
3) ครูร่วมเรียนรู้ (Buddy)
4) ฝ่ายวิชาการ/หัวหน้ากลุ่มสาระ (Mentor Teacher) เป็นครูพี่เลี้ยง ครูผู้นำ ประสานงาน ให้ความช่วยเหลือครูในทีมในการจัดกิจกรรม PLC
5) ผู้เชี่ยวชาญ (Expert Teacher) เป็นครูผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา ชี้แนะหลักวิชาการที่นำมาเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้ นำไปสู่นวัตกรรมของการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน ทั้งนี้ โรงเรียนได้มีเทคนิคในการทำงานร่วมกัน โดยดำเนินการตามโมเดลการบริหารงานของสถานศึกษา “Watbanma Model” ซึ่งครูทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดทำโมเดลดังกล่าว เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของสถานศึกษา ประกอบด้วย
- Work Together (W) การวางแผนการจัดการศึกษาร่วมกัน
- Active Learning (A) ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
- Technology and Coding (T) ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและโค้ดดิ้ง
- Best Practice (B) ส่งเสริมครูให้มีผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ
- Attitude (A) ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านเจตคติเชิงบวก
- Network (N) ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม และใช้กระบวนการ PLC
- Morality (M) ส่งเสริมด้านคุณธรรมและจริยธรรม
- Apply for life skills (A) ส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะอาชีพ ทั้งนี้ จุดเน้นที่สำคัญของโรงเรียน คือ Network (N) โรงเรียนได้มีเครือข่ายในการจัดกิจกรรม PLC ร่วมกันทั้งในและนอกสถานศึกษา มีการให้คำปรึกษาโดยเพื่อนครูและที่ปรึกษาทางวิชาการทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา
ด้านการวางแผนในการทำงานของโรงเรียนวัดบ้านม้า ได้ดำเนินการจัดการ PLC ตามกระบวนการ PDCA โดยมีขั้นตอนดังนี้
1) การวางแผน ประกอบด้วย
1.1) การจัดประชุมเพื่อวางแผนกิจกรรม PLC
1.2) ดำเนินกิจกรรม PLC ตามรูปแบบ สพฐ. 7 ขั้นตอน ดังนี้
- ขั้นที่ 1 ตั้งกลุ่มร่วมปณิธาน เป็นลักษณะกลุ่มคละช่วงชั้นและกลุ่มสาระ มี 3 กลุ่ม ดังนี้ ระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
- ขั้นที่ 2 ค้นหาปัญหา/ความต้องการ
- ขั้นที่ 3 ร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหา
- ขั้นที่ 4 ออกแบบกิจกรรม/วิธีการ/กระบวนการ/นวัตกรรม
- ขั้นที่ 5 แลกเปลี่ยนเสนอแนะ
- ขั้นที่ 6 นำสู่การปฏิบัติ/สังเกตการสอน ทั้งนี้ กระบวนการพัฒนาผู้เรียน จะดำเนินการทั้งหมดจำนวน 3 วงรอบ เพื่อให้ทราบถึงการพัฒนามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งแต่ละวงรอบจะประกอบไปด้วย 4 กิจกรรม (P-การตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยน D-ปรับปรุงแผนฯใหม่/กระบวนการสอนใหม่ C-เยี่ยมชั้นเรียน A-การสะท้อนผลการปฏิบัติ)
- ขั้นที่ 7 สะท้อนผล AAR (After Action Review) ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ เพื่อทำให้รู้ว่า สิ่งที่ทำได้ดีและควรรักษาไว้ให้มีต่อไปคืออะไร เป้าหมายเป็นไปตามแผนที่กำหนดหรือไม่ และปัญหา อุปสรรคระหว่างทำงานมีอะไร ได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรม แนวทางการนำไปปรับปรุงครั้งต่อไป และข้อควรพึงระวังที่ควรให้ความสำคัญ (ถ้ามี)
2) สรุปรายงานและเผยแพร่กิจกรรม PLC
3) การปฏิบัติตามแผน การตรวจสอบผลการปฏิบัติ
4) การพัฒนาปรับปรุงแก้ไข
สำหรับเครื่องมือ/กระบวนการ/รูปแบบและเทคนิคในการดำเนินกิจกรรม PLC ให้ประสบความสำเร็จ โรงเรียนวัดบ้านม้าได้ดำเนินการดังนี้
- ประกาศ/คำสั่ง กิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
- หนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญในการเข้าร่วมกิจกรรม PLC เพื่อร่วมวิพากษ์เกี่ยวกับนวัตกรรมที่ครูแต่ละกลุ่มได้พัฒนาขึ้นมา
- ประชุมวางแผนการดำเนินกิจกรรม PLC เพื่อให้คณะครูทราบเป้าหมายร่วมกันและเข้าใจระยะเวลาดำเนินการร่วมกัน
- ดำเนินกิจกรรม PLC ตามแผนการดำเนินงานของ สพฐ. 7 ขั้นตอน
- รายงานผลดำเนินกิจกรรม PLC โดยทำเป็นสมุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ให้กับครูทุกคนในโรงเรียน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงวิธีการ กระบวนและผลลัพธ์ในการทำของครูแต่ละคน
- การเผยแพร่กิจกรรม PLC ซึ่งจะมีการเผยแพร่ 2 รูปแบบ คือ On-site โดยการจัดบูธนำเสนอผลงานในงานประชุมเชิงวิชาการต่างๆ การทำห้อง PLC เพื่อเผยแพร่ผลงานของครูและแลกเปลี่ยนความรู้จากสิ่งที่เกิดจากนวัตกรรมการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้วิชาชีพของโรงเรียนทั้งในและต่างเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนการเผยแพร่กิจกรรมในรูปแบบ Online ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Group Line, Youtube เป็นต้น
จากการดำเนินกิจกรรม PLC พบว่า ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ และยังได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ในส่วนของครูผู้สอนมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนร่วมกัน (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง) เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ยกระดับความสามารถครูในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ ยกระดับความสามารถครูในการพัฒนานวัตกรรม และครูมีนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ด้านโรงเรียน พบว่า เกิดระบบการทำงานที่เข้มแข็งภายใต้โมเดลการบริหารงาน “Watbanma Model” และโรงเรียนเกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ครบทุกระดับชั้น ที่สำคัญโรงเรียนเป็นต้นแบบกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และได้มีเครือข่ายการแลกเปลี่ยนชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพทั้งภายในสถานศึกษา ต่างเขตพื้นที่การศึกษา และในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า ในการทำ PLC เป็นการแลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ และช่วยเหลือกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร ทั้งนี้ หัวใจหลักสำคัญในการทำ PLC คือ การพูดคุยสื่อสารร่วมกันภายในองค์กร การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นและมีความเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและสามารถพัฒนาได้ การทำงานเป็นทีม และมีที่ปรึกษาที่คอยให้คำแนะนำ เติมเต็มในการพัฒนาการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายของสถานศึกษา เครือข่ายของเพื่อนครู ในการร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน โดยคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน ครู และโรงเรียน ทั้งนี้ สามารถรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/StarfishAcademy2019/videos/1123051795213065/
Related Courses
How to สอบอย่างไรให้เด็กสนุก ไม่มีลืม
การทดสอบเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ ว่าเรามีความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนมากน้อยแค่ไหน และการสอบนั้นอาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่ ...
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
ทำความรู้จักข้อตกลงการพัฒนางาน (วPA) แบบเจาะลึก เพื่อสร้างความเข้าใจการทำข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตราฐานตำแหน่ง ...
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...