กิจกรรม PLC Happy Hour Live ครั้งที่ 1 โครงการ สนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2
โรงเรียนต้นแบบในความคิดของท่านเป็นอย่างไร
ครูมุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว คำว่า “โรงเรียนต้นแบบ” อาจจะหมายถึง แบบดั้งเดิม แบบที่สร้างขึ้นมา หรือที่เรียกว่า Model (แบบอย่าง) ซึ่งโรงเรียนบ้านปลาดาวเป็นโรงเรียนต้นแบบในการคิดค้นนวัตกรรมการศึกษา และส่งเสริมด้านเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านการคิดค้นนวัตกรรม
ครูประทิน ตั้งใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนพร้าวบูรพา สำหรับต้นแบบของโรงเรียนพร้าวบูรพา ได้ยึดบริบทของพื้นที่เป็นหลัก เนื่องด้วยโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่แนวสันเขาติดกับดอยม่อนล้าน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ และบริบทของชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ (กลุ่มพื้นเมือง ลีซอ อาข่า) ซึ่งเป็นชุมชนที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ดังนั้น ต้นแบบของโรงเรียนได้มีการคิดร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา คุณครู ใช้ชื่อว่า PB Team Model เน้นด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง การระดมสมอง รวมถึงการทำงานเป็นทีมระหว่างผู้บริหาร คณะครู ซึ่งนำไปสู่ขั้นตอนการวัด และประเมินผลอย่างเป็นระบบ และเน้นกิจกรรมของนักเรียนที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการบริหารจัดการที่เป็นระบบของโรงเรียน
ในปีที่ผ่านมา ได้มีเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนอย่างไร
ผอ.ประทิน ตั้งใจ - สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนพร้าวบูรพา ได้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้บริหาร และคุณครูถึงการกำหนดแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาโรงเรียนอย่างไร มีการจัดทำเป้าหมาย พันธกิจ แผนปฏิบัติประจำปี การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ในส่วนของเป้าหมายหลัก คือ อัตลักษณ์ของโรงเรียน โดยให้ครูมีการกำหนดหลักสูตร การสร้างพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ผู้เรียนที่ได้รับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ตามช่วงวัย โดยใช้กระบวนการ STEAM Design Process ทำให้นักเรียนได้เกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่น หลังจากนักเรียนได้รับการพัฒนาจนนำไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคต โดยมีครูเป็นทีมโค้ชในการสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้
นอกจากนี้ ยังมีการจัดพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ (Makerspace) ตามความสนใจและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนตามความเหมาะสมของช่วงวัย ตามทฤษฏีการเรียนรู้ของบลูมที่เน้นทักษะการเรียนรู้ขั้นสูง รวมไปถึงการบูรณาการในชีวิตประจำวันได้
ผอ.มุกดา คำวินิจ - เป้าหมายหลักของโรงเรียนบ้านปลาดาว คือ การปรับปรุง พัฒนาหลักสูตร เพื่อเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เนื่องจากโรงเรียนบ้านปลาดาวได้เป็น 1 ใน 256 โรงเรียนพื้นที่นำร่องนวัตกรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL Learning Platform ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 จากการใช้นวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิชา โดยการบูรณาการด้านสังคม และความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อชีวิตและสังคม รวมไปถึงด้านวิทยาการค้นคว้าเชิงระบบ โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง
วิธีการหรือแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างไร
ผอ.ประทิน ตั้งใจ - สำหรับแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนได้ให้ความสำคัญกับครูและผู้เรียน ด้านห้องเรียน คุณครูดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่พัฒนาให้ผู้เรียนเกิดทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของโรงเรียน โดยประเมินจากการเข้าร่วมกิจกรรม การบันทึก การสังเกต เพื่อพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล ในส่วนของผู้บริหารมีส่วนร่วมในการพูดคุยกับครูในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบายให้ชัดเจน และนำไปสู่การขยายผลยังเครือข่ายและชุมชน โดยการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน
ผอ.มุกดา คำวินิจ – ด้านการวางแผนในการพัฒนาโรงเรียนบ้านปลาดาว จะต้องมีการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ตลอดจนการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งโรงเรียนได้นำการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ 9 ข้อมาปรับปรุง และกำหนดเป็น KPI ของโรงเรียน ดังนี้ ครูโรงเรียนบ้านปลาดาวเกิดพฤติกรรมที่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร (กล้าเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น การทำงานเป็นทีม ให้โอกาสและเชื่อมั่น) บริหารจัดการสถานศึกษาด้วยนวัตกรรมการศึกษาที่หลากหลาย (อย่างน้อย 1 นวัตกรรม) จัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ทั้งภายในภายนอกห้องเรียน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชน พัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล การมีส่วนร่วมในการปรับปรุงหลักสูตรฐานสมรรถนะ ครูสามารถจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะและบูรณาการเชื่อมโยงรายวิชาได้ ครูมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน PLC ทั้งในและนอกโรงเรียน และผู้เรียนมีสุขภาพกายและจิตที่ดีพร้อมเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนานวัตกรรมของโครงการ TSQP ในด้านหลักสูตรฐานสมรรถนะ Well Being และ Learning Lost
ปีที่ผ่านมา ครูได้มีบทบาทอะไรในการดำเนินโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง รุ่นที่ 1
ครูจีรนันท์ โปธาสิริทรัพย์ โรงเรียนพร้าวบูรพา บทบาทของครูแกนนำในการประชุมร่วมกันกับครูแกนนำแต่ละระดับชั้น ช่วงชั้นและผู้บริหารถึงแนวทางในการดำเนินงาน/กิจกรรมในแต่ละช่วงชั้นที่เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน และบทบาทของครูผู้สอนในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยการใช้กระบวนการต่างๆ (STEAM Design Process, Makerspace) ในการดึงศักยภาพของผู้เรียนตามบริบทของนักเรียน โรงเรียน สังคมและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนการวัดผลและประเมินผล ตลอดจนการต่อยอดการเรียนรู้ของนักเรียนไปสู่ทักษะด้านอาชีพ
ครูมีวิธีในการทำงานร่วมกับเพื่อนครูในโรงเรียนอย่างไร
ครูสุรีรัตน์ จิตนารินทร์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนบ้านปลาดาว การใช้กระบวนการ STEAM Design Process มาปรับใช้ในการดำเนินงาน อย่างแรกคือ การประเมินผล วิเคราะห์ความสำเร็จของโรงเรียนตามอัตลักษณ์ที่ผ่านมา วางแผนการดำเนินงานเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อพัฒนานวัตกรรม การกำหนดผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน การดำเนินงานตามแผนโดยใช้องค์ประกอบ 9 ด้าน เพื่อเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ การจัดกิจกรรมตามแผนที่วางไว้ การนำนวัตกรรมที่ร่วมกันออกแบบไปใช้ โดยที่ครูแกนนำนำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง บันทึกผล สรุปผล สะท้อนคิด และพัฒนาเพื่อนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายต่อไป ทั้งนี้ สำหรับนวัตกรรมที่ได้จากการพัฒนาแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมในทุกระดับชั้น ตลอดจนสามารถนำนวัตกรรมไปเผยแพร่ยังหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจได้
ช่วงถาม-ตอบ
ในการทำงานมีปัญหาหรือไม่ และแก้ปัญหาอย่างไร
ผอ.ประทิน ตั้งใจ – ในการทำงานย่อมเกิดปัญหา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้ครูต้องมีการปรับการเรียนการสอน ซึ่งโรงเรียนพร้าวบูรพาได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On-hand และ Online นักเรียนจะเรียนที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 2 วัน ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้ขอความร่วมมือผู้ปกครองในการประเมินนักเรียน ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนการคิดของตนเอง
การทำงานร่วมกับชุมชนภายใต้สถานการณ์โควิด มีแนวทางอย่างไรในการดำเนินการ ถ้าชุมชนไม่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี
ผอ.มุกดา คำวินิจ - การทำงานร่วมกับชุมชน เราสามารถจะทำได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น ชุมชนอาสา ผู้ปกครองอาสา หรือว่าคนในชุมชนที่เป็นครูอยู่แล้วอาสา ถ้าไม่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี เราสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นรูปแบบ On-hand การลงพื้นที่ของครู หรือการใช้ครูอาสาเป็นตัวเชื่อมระหว่างเด็กกับโรงเรียน
ในสถานการณ์โควิด โรงเรียนจัดกิจกรรมให้นักเรียนอย่างไร
ครูจีรนันท์ โปธาสิริทรัพย์ - ทางโรงเรียนพร้าวบูรพาได้มีแนวทางในการจัดกิจกรรมในรูปแบบ On-hand โดยการให้นักเรียนรับใบงาน กล่องการเรียนรู้ (Learning Box) แนวทางการจัดกิจกรรม และแบบประเมินจากผู้ปกครอง ในวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เพื่อให้นักเรียนได้พบปะครูอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการติดตามงานจากนักเรียนและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง
ในสถานการณ์โควิด อยากทราบว่าผู้ปกครองมีบทบาทและส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนอย่างไร
ครูสุรีรัตน์ จิตนารินทร์ - ถือได้ว่า ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนไม่ได้เน้นในด้านวิชาการแต่เพียงด้านเดียว แต่อาจจะเน้นด้านกิจกรรมไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมรอบๆ ชุมชนหรือที่บ้าน กิจกรรมการปลูกพืชผักสวนครัว ถือว่าเป็นการเรียนรู้อีกอย่างหนึ่ง และเป็นการส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและนักเรียน
ฝากทิ้งท้ายถึงเพื่อนครู TSQP
ผอ.มุกดา คำวินิจ - อยากจะให้มองว่า “เราเป็นครอบครัวเดียวกัน” อะไรที่สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ สามารถไลน์ หรือสอบถามผ่านทีมโค้ชได้ และไม่ว่าจะเลือกนวัตกรรมประเภทไหนเป็นจุดเด่นของโรงเรียน ขอให้เป็นสิ่งที่สามารถที่จะยืดหยุ่นและสอดคล้องกันทั้ง 3 ด้าน
ผอ.ประทิน ตั้งใจ – ขอชื่นชมกระบวนการ STEAM Design Process ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่ดีมาก ที่ส่งผลให้นักเรียนมีพัฒนาการอย่างชัดเจนในด้านการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการกลุ่ม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆ ในส่วนของทีมโค้ชต้องชื่นชมเป็นอย่างยิ่งในการให้การสนับสนุน ช่วยเหลือโรงเรียนได้อย่างเต็มที่ ใกล้ชิด ทันเวลา ช่วยในการแก้ปัญหา และถือว่าเป็นโอกาสดีของทุกโรงเรียนที่มีกระบวนการวิจัยจากทีม ก.ค.ศ. ที่เข้ามาสนับสนุนและเห็นถึงพัฒนาการของโรงเรียน ครู ในการพัฒนาทักษะ รวมถึงผู้บริหารในการพัฒนาด้านการบริหาร สำคัญสุด คือ ตัวนักเรียนที่ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด
Related Courses
สอนศิลปะให้กับเด็กปฐมวัยอย่างไรดี
ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย จะได้เรียนรู้ความสำคัญ พัฒนาการทางศิลปะ กิจกรรมศิลปะและหลักการจัดประสบการณ์ศิลปะให้แก่เด็กปฐมวัย
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...
พื้นฐานการใช้เทคโนโลยี สำหรับครูยุคใหม่
หลักสูตรเพื่อก้าวสู่การครูยุคใหม่ซึ่งมีทักษะพื้นฐานทางดิจิทัลและความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในนำมาใช้ในการผลิตสื่อ ...
โลกเปลี่ยนไป ปรับตัวกับภัยธรรมชาติอย่างไรให้อยู่รอด
"โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คิด” ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การเตรียมตัวล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คอร์สนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจกา ...
โลกเปลี่ยนไป ปรับตัวกับภัยธรรมชาติอย่างไรให้อยู่รอด
ต้องใช้ 100 เหรียญ