"จะ On อะไรก็ไม่สำคัญ เพราะครูเราเอาอยู่" EP1
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในด้านการศึกษาที่ได้มีการ
เตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันต่อสถานการณ์ และมีความเหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ On-site, On-air, On-demand, On-hand หรือ Online ขึ้น เพื่อรองรับบริบทของแต่ละโรงเรียน และจากสถานการณ์ดังกล่าว ทาง Starfish Education ได้เล็งเห็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้ จึงได้จัดโครงการที่มีชื่อว่า ‘Teacher Hero’ ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน
โครงการ Teacher Hero คืออะไร
เป็นโครงการภายใต้การบริหารจัดการของ Starfish Academy มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนคุณครูในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ครอบครัวของนักเรียนและชุมชน
กิจกรรม Teacher Hero กับการบูรณาการการเรียนรู้
เป็นการบูรณาการเรียนโดยการใช้บริบทของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาติ ศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ครูไม่สามารถเข้าไปดำเนินการสอนได้ จึงต้องอาศัยผู้ปกครอง ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำหรือคนในชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้เป็นครูผู้สอน แล้วครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในแต่ละกิจกรรม/โครงการ เพื่อสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีขั้นตอนดังนี้
- แบ่งกลุ่มนักเรียน จำนวน 5 กลุ่ม
- การตั้งโจทย์กิจกรรมและเลือกทำกิจกรรมตามฐานที่นักเรียนสนใจหรือต้องการเรียนรู้จากชุมชน
โดยมีกรอบหรือแนวทางทางตามฐานการเรียนรู้ เรียกว่า “5 ฐาน + 1 ฐานใจ” ประกอบไปด้วย
- ฐานที่ 1 คือ สืบสานศิลป์แห่งศรัทธา เป็นการเรียนรู้ศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน
- ฐานที่ 2 คือ นานาอาภรณ์แห่งชาติพันธ์ เป็นการเรียนรู้ด้านเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย
- ฐานที่ 3 คือ สร้างสรรค์สีสันสมุนไพรในท้องถิ่น เป็นการเรียนรู้ด้านสมุนไพร สีธรรมชาติที่ได้จากพันธุ์ไม้ในท้องถิ่น
- ฐานที่ 4 คือ มากมายของกิ๋นบ้านเฮา เป็นการเรียนรู้ด้านอาหารต่าง ๆ ในท้องถิ่น
- ฐานที่ 5 คือ บอกเล่าสู่โลกสังคมออนไลน์ การเผยแพร่ข้อมูล หลังจากดำเนินกิจกรรมครบทั้ง 4 ฐาน นักเรียนทำคลิปวิดีโอสั้น ๆ บอกเล่าเรื่องราวและเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์
- ฐานที่ 6 สู่เป้าหมาย สุขกายใจอย่างยั่งยืน คือ นักเรียนมีความสุขจากการเรียนรู้ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
ยกตัวอย่าง เช่น การบูรณาการร่วมกับวิชาประวัติศาสตร์ ในส่วนของขนมพื้นบ้าน “ขนมกวนบ่แล้ว” ครูทำการตีโจทย์ร่วมกับนักเรียน “ขนมกวนบ่แล้วคืออะไร” หลังจากนั้นนักเรียนทำการลงพื้นที่ สอบถามผู้รู้ ลงมือทำ ให้ชาวบ้านทดลองชิมขนม และตัดต่อประมวลความรู้ในรูปแบบคลิปวิดีโอเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งในช่วงระหว่างดำเนินการครูก็จะเป็นที่ปรึกษา เป็นต้น
จากการดำเนินกิจกรรม Teacher Hero พบว่า นักเรียนและครูเกิดความสนุกในการเรียนรู้สิ่งใหม่นอกเหนือจากในห้องเรียน ได้รับความรู้ทางด้านภูมิปัญญาต่าง ๆ ได้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน การเห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในชุมชนหรือท้องถิ่นของตนเอง
การบูรณาการร่วมกับ STEAM Design Process ทำอย่างไร
จากการบูรณาการร่วมกับกิจกรรมดังกล่าว พบว่า นักเรียนเกิดความสนุก สนใจ และกระตือรือร้นในการเรียนรู้ การลงมือปฏิบัติส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม การสอดแทรกเนื้อหาความรู้ระหว่างการทำกิจกรรม ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น เช่น การตั้งโจทย์ให้นักเรียนออกแบบกิจกรรมหนึ่ง โดยการให้นักเรียนทำโมเดลจำลอง และสอดแทรกเนื้อหาในโมเดลนั้นๆแล้วให้นักเรียนปรับแก้รูปแบบโมเดลที่นักเรียนทำกับสิ่งที่เรียนรู้ เพื่อทราบข้อผิดพลาดแล้วทำการแก้ไข (Redesign) ให้ถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งกระบวนการ STEAM Design Process ทั้ง 5 ขั้นตอน ถือได้ว่าเป็น
กระบวนการที่สร้างความท้าทายให้กับครู โดยเฉพาะในด้านการการตั้งคำถาม สร้างโจทย์ปัญหาและการสร้างจินตนาการ (Imagine) ของนักเรียน โดยครูจะต้องเปิดกว้าง เปิดโอกาสด้านความคิดของนักเรียนในการออกแบบกิจกรรม ซึ่งอาจจะใช้เทคนิคในการกระตุ้นจินตนาการของนักเรียน เช่น การใช้คำถาม “ทำอย่างไร” “ทำยังไงต่อ” “ทำแล้วเกิดผลอย่างไร” เป็นต้น
ความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน ช่วงสถานการณ์โควิด 19
จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้โรงเรียนต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมในการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบ On-hand หรือ On-line ทั้งนี้ครูจะต้องมีการปรับวิธีการสอนในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจในการเรียน เช่น การปรับเนื้อหาบทเรียนให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ตรงตามตัวชี้วัดหรือวัตถุประสงค์ของวิชานั้น ๆ และเน้นการบูรณาการการเรียนการสอนให้สามารถใช้ได้กับทุกวิชา เป็นต้น สำหรับกรณีที่มีการเปิดการเรียนการสอนแบบปกติ (On-site) การบูรณาการเรียนการสอนจะดำเนินการต่อยอดกิจกรรม โดยการใช้ชุมชนเป็นฐานแห่งการเรียนรู้ การเผยแพร่จากการเรียนรู้กลุ่มหนึ่งไปสู่กลุ่มนักเรียนกลุ่มอื่น แล้วนำไปบูรณาการการเรียนการสอนกับวิชาที่เกี่ยวข้อง
สรุปได้ว่า การออกแบบรูปแบบการจัดการเรียนการสอนถือได้ว่ามีส่วนสำคัญ จะทำอย่างไรให้นักเรียนเกิดความสนใจในการเรียนรู้ เมื่อนักเรียนเกิดความอยากในการเรียนรู้ ทุกพื้นที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ และทุกคนสามารถเป็นครูได้ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากคำกล่าวที่ว่า “เราเรียนรู้ด้วยงานการฝึกหัด เราปฏิบัติเพื่องานการศึกษา” (ครูนลิน จากสุโขทัย) คือการเรียนรู้ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง จะทำให้เด็กเกิดประสบการณ์และการฝังลึกมากที่สุด
ครูบัญญัติ ยะวัน (ครูคัต) : วิทยากร
โรงเรียนแม่มอกวิทยา จังหวัดลำปาง
Related Courses
การเรียนรู้ในห้องเรียนสำหรับนักสร้างสรรค์และการประเมินผู้เรียนด้วยแฟ้มสะสมงาน
หลักสูตรสำหรับครูที่ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกิจกรรมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ ...
การเรียนรู้ในห้องเรียนสำหรับนักสร้างสรรค์และการประเมินผู้เรียนด้วยแฟ้มสะสมงาน
บูรณาการ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน แก้ปัญห ...
พื้นที่แบบไหนก็จัด Makerspace ได้
พื้นที่นักสร้างสรรค์ Makerspace เป็นการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ สามารถจัดได้หลายรูปแบบตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อใ ...
Starfish Class Website Version
เครื่องมือในการประเมินทักษะ และสมรรถนะของผู้เรียนที่ครอบคลุม รวมไปถึงการบริหารจัดการชั้นเรียนอย่างง่าย ผ่าน Starfish ...