Homeschool กับ 5 เรื่อง ที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด
สถานการณ์โควิด-19 ที่ดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไร กับการเรียนออนไลน์ที่เหมือนจะต่อเนื่องไปยาวๆ อาจทำให้หลายๆ ครอบครัว เริ่มหันมาสนใจการเรียนรู้แบบ Homeschool มากขึ้น แต่ถึงแม้ คำว่า Homeschool จะแปลตรงๆ ว่า บ้านเรียน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กๆ ที่เรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด จะกลายเป็นเด็ก Homeschool ไปทั้งหมดนะคะ จะว่าไปแล้ว ในสังคมไทย ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำ Homeschool อยู่ไม่น้อย ว่าแล้วเราจึงมีคำอธิบายเกี่ยวกับ 5 ข้อที่คนส่วนใหญ่ มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบ Homeschool มาฝากค่ะ
สิ่งที่คิด “Homeschool พ่อแม่ต้องสอนเองทุกอย่าง”
ความจริง :
Homeschool หรือที่กระทรวงศึกษาธิการ ใช้คำว่า การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ในปัจจุบันนี้มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น จดทะเบียนกับสนง.เขตพื้นที่การศึกษา จดกับโรงเรียนที่รองรับเด็ก home school ลงทะเบียนเรียนกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ชั้นป.1 - ป.6)หรือกับสถาบันการศึกษาทางไกลสำหรับระดับมัธยม หรืออาจจดทะเบียนเรียนออนไลน์กับหลักสูตรต่างประเทศ ดังนั้น จะเห็นว่าการทำ Homeschool นั้นพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สอนเองทุกอย่างเสมอไป บางครอบครัวอาจสอนเอง หรืออาจจัดหาผู้ที่มีความชำนาญในด้านต่างๆ มาสอนก็ได้ โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเรียนรู้ และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับเด็กๆ
อย่างไรก็ตาม ครอบครัว Homeschool ที่เลือกจดทะเบียนกับสนง.เขตพื้นที่การศึกษา จะมีหน้าที่เพิ่มจาก Homeschool รูปแบบอื่นๆ คือ ครอบครัวจำเป็นต้องเขียนแผนการจัดการศึกษาพื้นฐานโดยครอบครัว เพื่อยื่นขออนุญาตกับสนง.เขตพื้นที่การศึกษาด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปค่ะ เพราะที่สนง.เขตพื้นที่การศึกษา ส่วนใหญ่จะมีตัวอย่างแผน มาให้ดูเป็นแนวทาง รวมทั้งยังหาข้อมูลเพิ่มเติมมากมายได้จากอินเทอร์เน็ต
สิ่งที่คิด : Homeschool จบแล้วไม่ได้วุฒิการศึกษา
ความจริง :
ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่า Homeschool แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กๆ จะไม่มีวุฒิการศึกษานะคะ เพราะหากจดทะเบียนกับสนง.เขตพื้นที่การศึกษา เด็กๆ ก็จะได้รับวุฒิการศึกษาตามระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งได้รับสิทธิต่างๆ ตาม
กฏหมาย เช่น การรับเงินสนับสนุนการศึกษา หรือการเรียนรด. สำหรับครอบครัวที่จดทะเบียนเรียนกับสถาบันการศึกษาทางไกล หรือฝากชื่อกับโรงเรียน หรือศูนย์การเรียนต่างๆ ก็จะได้รับวุฒิจากสถาบันที่ตนเองสังกัดเช่นกัน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องวุฒิการศึกษา หากเด็กๆ สามารถผ่านการประเมินได้ตามเกณฑ์ก็ย่อมได้รับวุฒิการศึกษาเหมือนเด็กในระบบโรงเรียนทั่วไป สามารถนำไปใช้ศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปได้
สิ่งที่คิด : เด็ก Homeschool ไม่มีเพื่อน เข้าสังคมไม่เป็น
ความจริง :
แม้เด็กๆ Homeschool จะไม่ได้ไปโรงเรียนตามระบบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็ก Homeschool จะต้องอยู่แต่ในบ้าน ในทางกลับกัน เด็ก Homeschool อาจมีเพื่อนจากการทำกิจกรรมกลุ่ม ได้พบเจอผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนทุกเพศ ทุกวัยมากกว่าเด็กที่ไปโรงเรียนตามระบบ เพราะการเรียน Homeschool ไม่จำกัดแค่ครู และเพื่อนที่โรงเรียน แต่มักได้เรียนรู้จากผู้คนหลากหลาย ขึ้นอยู่กับการจัดการศึกษา และกิจกรรมของแต่ละครอบครัว เด็ก Homeschool จึงมีสังคมไม่ต่างจากเด็กที่ไปโรงเรียนทั่วไป
สิ่งที่คิด : Homeschool เหมาะกับเด็กบางกลุ่มเท่านั้น
ความจริง :
สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการเรียนรู้ในรูปแบบ Homeschool อาจคิดว่า Homeschool เหมาะกับเด็กบางกลุ่ม เช่น เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กที่มีปัญหาการเข้าสังคม หรือเด็ก gifted ที่มีความสามารถพิเศษ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กทุกคน สามารถเรียนรู้ในรูปแบบ Homeschool ได้ แม้ว่าจะเคยเรียนในระบบโรงเรียนทั่วไปมาแล้ว ก็อาจออกมาเรียน Homeschool ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันภายในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ และเด็กๆ ว่าการเรียนรู้รูปแบบใดที่ตอบโจทย์ความต้องการของครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เป็นผู้เรียนได้มากที่สุด รวมถึง พ่อแม่มีความพร้อมในการจัดการเรียนรู้มากเพียงใด เพราะถึงแม้พ่อแม่อาจไม่ได้สอนลูกเอง แต่การทำ Homeschool พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีเวลาให้ลูกมากกว่าการเรียนในระบบโรงเรียนทั่วไป หากพิจารณาแล้วว่า Homeschool น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเด็กคนไหน ก็สามารถเป็นเด็ก Homeschool ได้ค่ะ
สิ่งที่คิด : Homeschool ค่าใช้จ่ายสูง
ความจริง :
ค่าใช้การในการทำ Homeschool จะสูงหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละครอบครัว หากต้องการให้เด็กๆ เข้ากลุ่มทำกิจกรรมหลากหลาย เรียนเสริมด้านวิชาการหลายแห่ง ก็อาจมีค่าใช้จ่ายสูง ในทางกลับกัน หากพ่อแม่สามารถจัดสรรเวลาสอนลูกเอง หรือ เข้าร่วมกลุ่ม Homeschool แบ่งปันสื่อการเรียนรู้ระหว่างกัน ก็อาจประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ ดังนั้น การทำ Homeschool จึงไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูงเสมอไป ขึ้นอยู่กับการวางแผนจัดการของแต่ละครอบครัว หากเปรียบเทียบกับการเรียนในระบบทั่วไป ที่ต้องมีค่าเครื่องแบบ ค่ากระเป๋านักเรียน รวมทั้งค่าเดินทางต่างๆ Homeschool จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ทำให้สามารถนำเงินในส่วนดังกล่าว มาจัดสรรกิจกรรมหรือสื่อการเรียนให้ลูกได้ และในกรณีจดทะเบียนกับสนง.เขตการศึกษา ก็จะได้รับเงินสนับสนุนการศึกษาจากรัฐอีกด้วย
Related Courses
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
ฝึกกระบวนการคิด ในห้องเรียนยุคใหม่
การสร้างการเรียนรู้สำหรับครูและผู้ปกครองในการพัฒนากระบวนการคิดให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กในระหว่างอยู่ที่โรงเรียนและบ้านเพื่อเพิ่มป ...