Emotional Intelligence : ความฉลาดนอกตำราที่สร้างได้ตั้งแต่วัยเด็ก
“ความฉลาดทางอารมณ์” หรือ “Emotional Intelligence” เป็นทักษะนอกตำราที่เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้ ควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาการ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เรียกว่าเป็นโลกไร้พรมแดน ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้พบเจอผู้คนที่แตกต่าง หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ความคิด ความเชื่อและเรื่องอื่น ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องเตรียมพร้อมให้ลูกมีความฉลาดทางอารมณ์ตั้งแต่ยังเล็ก ไปพร้อมกับการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพวกเขา
ขอบคุณภาพจาก pixabay
รู้จักความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) คือ ความสามารถที่จะรับรู้ และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกทั้งของตนเอง และผู้อื่น พร้อมทั้งรู้จักการจัดการอารมณ์ของตนเอง ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่แน่ใจว่าตัวเอง หรือเด็ก ๆ มีความฉลาดทางอารมณ์มากน้อยแค่ไหน เราอยากชวนมาดูเช็คลิสต์ 5 ข้อ ที่คุณ Daniel Goleman ได้เขียนไว้ในนิตยสาร Harvard Business Review ว่า 5 ข้อต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งได้แก่
- การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) คือ ความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก คุณค่าที่ตัวเองยึดถือ และแรงผลักดันภายใน (Drive) ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการประเมินตนเองตามความเป็นจริง
- การควบคุมตัวเอง (Self-regulation) ในที่นี้ คือ การควบคุมอารมณ์ของตนเอง รู้จักยับยั้งชั่งใจ คิดก่อนพูดหรือทำสิ่งต่าง ๆ
- แรงจูงใจ (Motivation) คือ ความรู้สึกที่อยากจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี หรือไปให้ถึงเป้าหมายจากภายในตัวเองโดยไม่ได้มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง พร้อมที่จะเผชิญหน้าทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลว
- ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) คือ ความเข้าอก เข้าใจ นึกถึงความรู้สึกของคนอื่น
- ทักษะทางสังคม (Social skill) คือ ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สามารถปรับตัว และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
เทคนิคการเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ให้กับลูก
องค์ประกอบทั้งห้าข้อข้างต้น สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน เพียงแต่ใช้เวลา และการพัฒนาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถเสริมสร้างความฉลาดทางอารณ์ให้กับลูกได้หลากหลายวิธี เช่น
ขอบคุณภาพจาก pixabay
- ทำให้อารมณ์มีชื่อเรียก เด็กบางคนไม่รู้ว่าจะสื่อสารความรู้สึกออกมาได้อย่างไร ซึ่งการมีคลังคำจะช่วยให้เขาสื่อสารทั้งกับตัวเอง และคนอื่นได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่ค่อยรู้คำศัพท์มากนัก เช่น เมื่อเห็นลูกทำหน้าบึ้งเดินหนี ไม่ยอมคุยใคร ถ้าถามลูกว่า “หนูเป็นอะไร”เด็กบางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าควรใช้คำไหนมาอธิบายความรู้สึกนั้น ซึ่งพ่อแม่อาจจะไกด์ให้ลูกด้วยการถามว่า “ดูเหมือนว่าหนูกำลังรู้สึกโกรธอยู่หรือเปล่า หรือว่ารู้สึกน้อยใจที่...” แต่ต้องควบคุมน้ำเสียง ท่าทางไม่ให้เป็นไปในเชิงถามเพื่อตัดสิน หรือเค้นคำตอบ แต่เปิดช่องให้เด็ก ๆ ได้อธิบาย และแก้ไขถ้าเราเข้าใจผิด ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ รู้สึกว่า “ไม่เป็นไรนะที่จะรู้สึก” ขอแค่เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และรู้สาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพื่อให้จัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ต่อไป
- แสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) โดยเฉพาะเวลาที่เด็ก ๆ มีความรู้สึกทางลบ เช่น เมื่อลูกร้องไห้เพราะของเล่นชิ้นโปรดพัง พ่อแม่อาจจะบอกว่า “ตอนพ่อเด็ก ๆ เสื้อตัวเก่งขาด ตอนนั้นพ่อก็เสียใจมากเลยเหมือนกัน” แล้วค่อยเริ่มปลอบใจลูก ซึ่งการพูดกับลูกในลักษณะนี้จะช่วยให้เขารู้สึกว่ามีคนที่เคยเผชิญสถานการณ์ใกล้เคียงกัน กำลังรับรู้ และเข้าใจความรู้สึกของเขาอยู่ รวมทั้งเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และการแสดงออกอย่างเหมาะสมจากการกระทำพ่อแม่
- สอนวิธีแสดงอารมณ์ ไม่ใช่แค่อารมณ์ทางลบเท่านั้น แต่อารมณ์ทางบวกก็ต้องมีวิธีการแสดงออกเช่นกัน อย่างเวลาที่ลูกกำลังดีใจ แต่เพื่อนข้าง ๆ กำลังผิดหวังอยู่ พ่อแม่ก็ต้องสอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ให้ลูกพูดถึงแต่เรื่องที่ตัวเองกำลังดีใจ จนลืมปลอบใจเพื่อนที่กำลังผิดหวัง ซึ่งการสอนวิธีแสดงอารมณ์สามารถทำได้ทั้งในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์สมมุติ หรือชวนลูกคุยถึงเรื่องนี้
- สอนวิธีจัดการอารมณ์ของตนเอง เริ่มจากการสังเกตตัวเองว่า อะไรทำให้ใจเย็นขึ้น อะไรทำให้มีความสุข เพื่อให้หาวิธีจัดการกับความโกรธ ความเศร้า หรืออารมณ์ทางลบอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม เช่น เมื่อรู้สึกโกรธให้ลองสูดหายใจเข้าลึก ๆ พร้อมกับนับ 1-20 ในใจก่อนจะพูดออกมา หรือการไปออกไปวิ่ง พาน้องหมาไปเดินเล่น งีบสั้น ๆ หรือทำกิจกรรมที่ชอบเมื่อรู้สึกเครียด เป็นต้น
- สอนให้รู้จักวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เช่น ลูกลืมสมุดการบ้านไว้ที่โรงเรียน จากเดิมที่เคยแนะนำวิธีแก้ไขให้กับเขาโดยตรง ก็อาจจะลองปรับมาเป็นการตั้งคำถามว่า “หนูคิดว่าทำยังไงดี” หรือ “มีวิธีอื่น ๆ อีกไหม” แล้วชวนคุยถึงข้อดี ข้อเสีย ของวิธีนั้น ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ลองฝึกคิดแก้ปัญหามากกว่าหนึ่งวิธี และสามารถนำวิธีการคิดในรูปแบบนี้ไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์อื่น ๆ ได้
การเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์นั้น เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เริ่มต้นได้จากครอบครัว แต่สำคัญต่อการอยู่ร่วมกับคนในสังคมที่หลากหลาย ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมให้เด็ก ๆ เรียนพิเศษ หรือเสริมทักษะด้านดนตรี กีฬาแล้ว ก็ต้องไม่ลืมที่จะเสริมสร้างทักษะทางอารมณ์ให้กับลูก เพื่อให้เขามีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดี สามารถต่อยอดทักษะอื่น ๆ ต่อไปได้ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ขอบคุณข้อมูลจาก
Related Courses
พัฒนาการด้านอารมณ์สำคัญอย่างไรกับเด็กปฐมวัย
บทเรียนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ความสำคัญของพัฒนาการ สมรรถนะตามวัย กิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ เน้นการทำกิจกรร ...
เลี้ยงลูกอย่างไรในยุค Thailand 4.0
บทเรียนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ว่าThailand 4.0คืออะไร แนวคิดในการเลี้ยงลูกยุค4.0 เทคนิคการเลี้ยงลูกยุค 4.0 รวมถึงการเรี ...
How to ฝึกวินัยทางการเงินเบื้องต้น
พื้นฐานที่ดีที่จะทำให้เราสามารถต่อยอดในทุกสิ่งที่ต้องการได้ ในทางการเงิน คือ การมีวินัยทางการเงินที่ดี เพราะจัดการด้านการเงิน ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...