เครื่องมือประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง และ Competency-based Assessment ตอนที่ 1
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาบนเวที TEP LEARNING ยกเครื่องเรื่องการศึกษาไทย มีการเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวกับ “การประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง และการประเมินสมรรถนะของผู้เรียน” จัดโดย Starfish Education ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และอาจเป็นประโยชน์ต่อคุณครูหลาย ๆ ท่าน ที่กำลังเตรียมความพร้อมกับการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นไปที่สมรรถนะของผู้เรียน ซึ่งก่อนอื่น เราอาจจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “หลักสูตรฐานสมรรถนะแตกต่างจากหลักสูตรเดิม” ที่ใช้กันอยู่อย่างไร ?
หลักสูตรเดิมที่ใช้จะเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-Based Curriculum) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ยึดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมาย แต่ละกลุ่มสาระวิชาจะมีการกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัด เพื่อใช้ในการออกแบบเนื้อหา และกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ บรรลุตามมาตรฐาน และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ ซึ่งจะประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (Attitude)
แต่หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum) จะต่อยอดมาจากหลักสูตรอิงมาตรฐาน คือ เน้นไปที่เรื่องของการพัฒนาผู้เรียนตามความถนัด ความชอบ หรือศักยภาพในแบบของตนเอง โดยเอาตัวชี้วัดเดิมที่มีทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ มาผสมเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นความสามารถ และเจตคติที่นำมาใช้ในการเรียนรู้ การทำงาน การใช้ชีวิต และการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ดังนั้น เมื่อมีการปรับการจัดการเรียนการสอนไปเป็นแบบฐานสมรรถนะ จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. เรียน
- เก่งในแบบของตัวเอง : มีการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนรายบุคคล (Personalization) ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง (Life-long learning)
- มีสุขภาวะ (Well-being) : มีการพัฒนาสุขภาพ ความฉลาดรู้ทางสังคม และอารมณ์อย่างสมดุล รอบด้านและเป็นองค์รวม
- เรียนไป ใช้งานเป็น : มีการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็น รวมทั้งคุณธรรม จริยธรรม เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต และสามารถสร้างประโยชน์ต่อตนเอง และสังคม
- ยืดหยุ่นพร้อมปรับตัว : รู้เท่าทัน และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและบริบทต่าง ๆ ได้
2. ด้านคุณครู
จากเดิมบทบาทของคุณครูเป็น “ผู้บอกความรู้” แต่จะเปลี่ยนเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้” โดยมีหน้าที่ในการกำหนดโจทย์ให้กับผู้เรียน และปล่อยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านกระบวนการ และวิธีการต่าง ๆ ทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาด้วยตัวเอง และนำไปสู่ความสามารถในการแก้ไขปัญหาตามโจทย์นั้น ๆ ได้ สุดท้ายจะทำให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจกับความสำเร็จที่เกิดจากความสามารถของตนเอง
3. ด้านห้องเรียน
ห้องเรียนจะเปลี่ยนไป เพราะการจัดการเรียนการสอนจะเน้นไปที่กิจกรรมการพัฒนาแบบองค์รวม เน้นการแก้ไขปัญหา (Problem Based Learning) หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ผู้เรียนสนใจ (Project Based Learning)ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน คุณครูต้องกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ มีการกำหนดงาน หรือสถานการณ์ที่ผู้เรียนจะต้องทำให้สำเร็จ จากนั้นจึงกำหนดเกณฑ์การปฎิบัติขึ้นมาว่า ลักษณะของความสำเร็จต้องเป็นอย่างไร ระดับไหน ซึ่งในส่วนนี้ก็จะนำไปสู่การประเมินผู้เรียน รวมถึงปรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ๆ คือ
(1) สิ่งที่ต้องการรู้ : เป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องค้นคว้าด้วยตัวเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ หรือสนใจ
(2) สิ่งที่ควรรู้ : เป็นสิ่งที่คุณครูสอน และให้ความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ผู้เรียนควรจะต้องรู้ในเรื่องนั้น ๆ
(3) การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น : ให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้มาลองแก้ไขปัญหา เป็นส่วนของ Problem Based Learning หรือ Project Based Learning ซึ่งเขาจะได้ทำงานกับเพื่อน ๆ และได้นำเสนอผลงานของตนเอง รวมถึงได้สะท้อนในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้
4. ด้านการวัดและประเมินผลผู้เรียน
การประเมินผลไม่ได้วัดความรู้อย่างเดียว แต่เป็นการวัดผู้เรียนให้รอบด้าน ทั้งทักษะ และคุณลักษณะต่าง ๆ เน้นในเรื่องของสถานการณ์ และเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมา เช่น การที่เด็กจะสามารถแก้ไขสถานการณ์นั้นได้ หรือเด็กสามารถทำอะไรได้ประสบความสำเร็จจะต้องมีเกณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้ จะทำให้คุณครูมีอิสระในการออกแบบการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลมากยิ่งขึ้น โดยนำสมรรถนะที่อยากให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนมาแตกเป็นองค์ประกอบหรือตัวบ่งชี้ Rubric และสร้างเครื่องมือในการวัดผลให้หลากหลายรูปแบบ เช่น การทดสอบ หรือปฏิบัติ การสังเกต การสัมภาษณ์ และแฟ้มสะสมงาน เป็นต้น
Related Courses
Peer Learning วิธีฟื้นฟู Learning Loss
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ Peer Learning คืออะไร 5 รูปแบบของกิจกรรม Peer to Peer Learning ตัวอย่างก ...
ลักษณะพระสอนศีลธรรมมืออาชีพ
การเรียนรู้บทบาทภาระหน้าที่และเนื้อหาวิชาพระพุทธศาสนา การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และอุดมการณ์ของความเป็นครู
ลักษณะพระสอนศีลธรรมมืออาชีพ
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
Play and Learn classroom design
Play and Learn classroom design ออกแบบห้องเรียนให้สนุกด้วยเล่นปนเรียน เรียนรู้ความหมายของการเล่นปนเรียน ประ ...