ชวนมารู้จัก “การศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-based Education)”ฉบับเข้าใจง่าย
คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าอย่าตัดสินปลาว่าไม่เก่ง เพียงเพราะมันปีนต้นไม้ไม่ได้ อย่าตัดสินลิง ว่าไม่เก่ง เพียงเพราะมันว่ายน้ำไม่เป็นบ้างไหมคะ ? เพราะแต่ละคน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความสามารถกันคนละแบบ จึงไม่สามารถใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งตัดสินทุกคนได้ นี่เป็นแนวคิดที่ทำให้เกิดการศึกษารูปแบบนี้ขึ้นมา ที่มองว่าคนเรามีความถนัดที่แตกต่าง และความแตกต่างนี้เองที่เราควรส่งเสริม จึงทำให้เกิดการศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-based Education) ขึ้นมานั่นเองค่ะ
เพราะทุกคนแตกต่าง และเก่งได้ในสไตล์ของตัวเอง
ย้อนกลับไปในปี 1973 David Clarence McClelland นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่ได้ให้แนวคิดว่าการศึกษาควรเปลี่ยนรูปแบบการวัดผลจากข้อสอบให้เป็นการประเมินสมรรถนะแทน นั่นคือ ให้พิจารณาบุคคลโดยการมองจากภาพรวม ทั้งปัจจัยภายนอก และคุณลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งสิ่งนี้เองจะผลักดันให้บุคคลนั้นสร้างผลงานที่ดี ในงานที่ตนเองถนัด ซึ่งอาจไม่สามารถวัดได้จากเกรด ใบรับรอง หรือใบประกาศเกียรติคุณต่าง ๆ นั่นเป็นที่มาของการกลับมามองที่การศึกษาว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์เดียวในการวัดความสามารถของผู้เรียนไปเสียหมด และนั่นคือแนวคิดของ การศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-based Education) ที่เริ่มเกิดขึ้น
“สมรรถนะ” (Competency) นั้นหมายถึงอะไร
คำว่า “สมรรถนะ” หมายถึง “พฤติกรรม” ที่แสดงออกของบุคคล ผ่านการบูรณาการและประยุกต์ใช้ปัจจัยที่อยู่ภายใน เช่น ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะต่าง ๆ ให้เกิดผลการปฏิบัติงาน และประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต
หลักคิดของการศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-based Education)
1. เก่งในแบบของตัวเอง - เป็นการเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนรายบุคคล (Personalization) เพราะคนเราก็มีความถนัด และความเก่งเป็นของตนเอง
2. มีสุขภาวะ - เน้นให้ผู้เรียนเกิดสุขภาวะ (Well-being) ทั้งในด้านสุขภาพ ความฉลาดรู้ สังคมและอารมณ์อย่างสมดุล เพราะสุขภาพดีเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด ซึ่งหมายความรวมถึงทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตด้วยเช่นกันค่ะ
3. เรียนไปใช้งานเป็น - พัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต การแก้ปัญหา ในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และการสร้างประโยชน์ต่อสังคม หมดปัญหาเก่งแต่ในตำราแต่นำไปใช้ไม่ได้ เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาลแต่ยังหนีชาวต่างชาติ หมายรวมถึงการใช้ความเก่งอย่างถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย
4. ยืดหยุ่นพร้อมปรับตัว - พัฒนาผู้เรียนให้รู้เท่าทัน และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาการ เพราะโลกหมุนไปตลอด การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำราที่สร้างขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ยังศึกษาต่อยอดความรู้ไปได้เรื่อย ๆ
“สมรรถนะ”ประเมินอย่างไร ?
การประเมินผลผู้เรียนจาก “สมรรถนะ” นั่นคือ การประเมินผู้เรียนจากพฤติกรรม ซึ่งจะต้องมีการกำหนดกรอบสมรรถนะหลัก ที่ประกอบไปด้วยนิยามของแต่ละสมรรถนะ ระดับความเชี่ยวชาญ และพฤติกรรมบ่งชี้ที่มีความชัดเจน จะทำให้ผู้เรียนได้ลงมือทำมากกว่าแค่เรียนรู้จากในตำราเรียน เพื่อให้ได้พัฒนาทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งภายใน และภายนอกห้องเรียน
โดยการประเมินสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน นั้นมี 5 ด้าน
1. ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับ และส่งสาร มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และประสบการณ์อันจะเป็น ประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง และสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัด และลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับ หรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผล และความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเอง และสังคม
2. ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตน เอง และสังคมได้อย่างเหมาะสม
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม และข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม
4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหา และความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง และผู้อื่น
การศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-based Education) จึงเป็นการเรียนที่เปิดกว้างในแง่ของความหลากหลายในความถนัดซึ่งในขณะเดียวกัน ก็เข้าใจความเป็นปัจเจกของบุคคลที่มีความแตกต่าง นับเป็นความก้าวหน้าในการเรียนการสอนไปอีกขึ้นหนึ่ง ที่ทำให้สามารถมองการเรียนการสอนในหลายมิติมากขึ้น
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...
Peer Learning วิธีฟื้นฟู Learning Loss
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ Peer Learning คืออะไร 5 รูปแบบของกิจกรรม Peer to Peer Learning ตัวอย่างก ...
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...