วิธีการจัดการห้องเรียนอนุบาลโดยไม่ต้องทำโทษเด็ก
การให้การเลี้ยงดูและการให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กในวัยนี้มีความอยากรู้ อยากเห็น มักต้องการการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ประสบการณ์การเรียนรู้ ประสาทสัมผัส จากบุคคลใกล้ตัวเช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ซึ่งส่งผลให้เกิดพัฒนาการซึ่งเป็นรากฐานของบุคลิกภาพ อุปนิสัย การเติบโตของสมองที่มีผลต่อสติปัญญา จากกระแสที่ครูทำร้ายเด็กอนุบาลในโรงเรียนเป็นกระแสที่แรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ครูมีความอดทนน้อยลง หรือเด็กมีความประพฤติที่ก้าวร้าวมากขึ้นประเด็นนี้ไม่มีใครสามารถตอบได้ แต่หน้าที่ของความเป็นครู และการที่เราเลือกที่จะมาเป็นครู โดยเฉพาะครูอนุบาลจะต้องมีความอดทน อดกลั้น มีเมตตากับเด็ก และมองถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และจัดการบริหารในห้องเรียนในเชิงบวก ซึ่งวิธีการในการดูแลเด็กโดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง หรือลงโทษเด็กแต่สามารถปรับพฤติกรรมในห้องเรียนได้ มีดังนี้
1. อธิบายข้อตกลงของการอยู่ร่วมกันในห้องเรียนให้กับเด็กทุกครั้งก่อนเข้าห้องเรียน
2. สร้างวินัยเชิงบวกซึ่งเป็นวิธีจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ใช้วิธีการลงโทษ มีจุดมุ่งหมายให้เด็กรู้จักควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของตนเอง มากกว่าที่จะโดนบังคับ เพื่อให้เด็กเกิดการปรับพฤติกรรมไปในแนวทางที่ดีขึ้น และมีผลต่อเนื่อง
3. สร้างแรงจูงใจหล่อหลอมพฤติกรรม เช่น เมื่อเด็กลุกจากที่นั่ง ครูแสดงอาการไม่สนใจ แต่เมื่อเด็กนั่งเรียบร้อยครูจะชม เป็นต้น
4. ครูให้คำชมเชย เช่น เก่งมาก ดีมาก ยอดเยี่ยม หรือให้รางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น ให้ดาว หรือให้สติ๊กเกอร์
5. เปิดโอกาสให้เด็กมีทางเลือกในเชิงบวกโดยไม่ใช้การสั่งหรือบังคับ เช่น เลือกทำกิจกรรมตามความสนใจ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมกลางแจ้งกิจกรรมเกมการศึกษา
6. ใช้กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แทนการทำโทษ เช่น กวาดห้อง เก็บขยะ เช็ดโต๊ะ เอาขยะในห้องไปทิ้ง ลบกระดาน
7. ให้ช่วยครูทำงาน เช่น เก็บหนังสือ แจกใบงาน เก็บอุปกรณ์การเรียนในห้อง
8. เวลาเด็กคุยกันในห้องเรียนครูจะจัดกิจกรรมที่สนุกสลับกับบทเรียน เช่น เกม ร้องเพลง บทบาทสมมติ ให้เด็กมีส่วนร่วม และแสดงออกในกิจกรรม เพื่อให้เด็กเกิดความสนุก พัฒนาด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคมและสติปัญญา
9. หากเด็กคุยกันเวลาเรียนให้เด็กสลับเปลี่ยนที่นั่งกันชั่วคราวกับเพื่อนที่เรียบร้อย
10. ฝึกสมาธิสลับ ก่อนเรียน ระหว่างเรียน หรือหลังการสอน
11. ไม่ใช้คำพูดที่อาจเป็นการปิดกั้นพัฒนาการเด็ก เช่น ห้าม อย่า หยุด ไม่ กับเด็ก
12. เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ควรให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง เช่น ทำน้ำหกให้เด็กเช็ดทำความสะอาดด้วยตนเอง ทำของในห้องตกหล่นก็รู้จักเก็บด้วยตนเอง
นอกจากเทคนิคดังกล่าวแล้ว คุณครูสามารถบริหารจัดการห้องเรียนอนุบาล ได้ด้วยการจัดกิจกรรมแบบ Active Learning คือการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ และออกแบบสภาพแวดล้อม บรรยากาศในการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งก็คือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำและเลือกเรียนรู้ตามสิ่งที่ตนเองสนใจ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตามความแตกต่างของผู้เรียน ก็จะทำให้เด็กเกิดความสุขและสนุกกับการเรียนในห้องเรียน รวมทั้งยังได้ส่งเสริมให้เกิดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย
บทความใกล้เคียง
Related Courses
การพัฒนาทักษะการอ่าน
หนังสือเปรียบเสมือนคลัง ที่รวบรวมเรื่องราวความรู้ต่างๆ มากมาย การพัฒนาทักษะและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านจึงมีความสำคัญเป็น ...
Creative Thinking Classroom Design
Creative Thinking (ความคิดสร้างสรรค์) เป็นคุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน และเป็ ...
คุณสมบัติของครูในศตวรรษที่ 21
หลักสูตรสำหรับครูในศตวรรษที่ 21 เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และจั ...
การประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอย
การประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวันที่โรงเรียนกลับมาเปิดเทอมใหม่อีกครั้ง หลังจากที่เด็กๆ เรียนออนไลน์มาเป็นเวลานาน ส่ง ...