5 โรคฮิต ที่เด็กๆมักติดจากโรงเรียน
เปิดเทอมนี้นอกจากจะต้องกลัวโรคไวรัสโคโรน่า (Covid -19) เท่านั้นแต่สำหรับเด็กๆ แล้วมีอีกหลายโรคที่ต้องเสี่ยงเมื่อต้องไปโรงเรียน เรารวบรวม 5 โรคติดต่อที่เด็กเล็กเป็นกันบ่อย และต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว มาแชร์กันค่ะ
1. โรคมือ เท้า ปาก (Hand, foot and mouth disease)
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พ่อแม่จะต้องระวังให้มาก เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้านและในโรงเรียน และอาการของโรคมือ เท้า ปากก็คล้ายกับโรคหวัดจนพ่อแม่ไม่ทันสังเกตถึงความรุนแรง จนบางครั้งกว่าจะรู้และรักษาให้หาย ที่สำคัญอันตรายถึงชีวิต
อาการโรคมือ เท้า ปาก ระยะแรกนั้นจะเริ่มจากเป็นไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ เสียงแหบ (คล้าย เป็นหวัด) อาเจียนหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ต่อมาเป็นผื่นและตุ่มน้ำใสที่บริเวณปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้า บางครั้งอาจจะมีผื่นขึ้นที่บริเวณก้นด้วย ลักษณะสำคัญเฉพาะโรคนี้คือ ตุ่มน้ำใสที่ขึ้นในปากจะมีขนาดเล็กและแตกเป็นแผลตื้นๆ โดยเฉพาะบริเวณลิ้นและกระพุ้งแก้ม ทำให้ลูกกินอาหารได้ลดลง และน้ำลายไหลมากผิดปกติ ส่วนตุ่มใสที่มือและเท้าจะไม่แตกเหมือนตุ่มในปาก
ถ้าลูกมีไข้โดยไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร และหากเฝ้าดูอาการแล้วพบว่ามีตุ่มขึ้นก็อาจจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรให้ลูกหยุดเรียน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคและพบแพทย์
2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B อาการป่วยจะเริ่มปรากฎหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน โดยอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดาเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตได้ และเด็กที่ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน โดยติดต่อทางการหายใจ จากเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด รวมถึงการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย
3. โรคเฮอร์แปงไจน่า (Herpangina)
โรคเฮอร์แปงไจน่า มักระบาดในช่วงฤดูฝน และพบบ่อยในเด็กอายุ 2 ถึง 10 ปี เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานของเชื้อนี้ โดยเฉพาะเด็กที่ไปโรงเรียนอนุบาล มักเล่นของเล่นรวมกัน หยิบจับสิ่งของรวมกัน จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย โดยตัวเชื้อจะอยู่ได้นานในอากาศเย็นและชื้น จึงระบาดมากในฤดูฝน แต่ก็สามารถพบได้ทุกฤดู โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่อาจจะมีไข้เฉียบพลัน ไข้อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีอาเจียน และอาการเด่นคือจะมีอาการเจ็บบริเวณเพดานปากและคอนำมาก่อน ต่อมา (ภายใน 1 วัน) จะมีจุดแดงๆ บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และอาจมีตุ่มแดงที่ทอนซิล หรือบริเวณในลำคอด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ไข้จะลดลงภายใน 2 – 4 วัน แต่แผลอาจคงอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์
แต่ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเจอได้จากโรคนี้ ควรรีบนำเด็กพบแพทย์ เมื่ออาการไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน หรือไข้สูง, รับประทานอาหารและดื่มนมไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง หรือมีอาการซึมลง
4. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV นับเป็นอีกหนึ่งโรคทางเดินหายใจที่แพร่ระบาดในเด็กในช่วงฤดูฝนของทุกปี เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจ อาการจะปรากฏหลังจากสัมผัสกับเชื้อโรคประมาณ 4-6 วัน ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงและหลอดลมขนาดใหญ่ อาการจะคล้ายกับเป็นหวัดทั่วไป เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดหัวเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 -2 สัปดาห์ ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV หากลูกมีอาการน่าสงสัย ควรพาไปพบแพทย์ ซึ่งจะมีการเก็บเสมหะจากจมูกไปทดสอบหาเชื้อไวรัส RSV การรักษาจะรักษาตามอาการเช่น เช็ดตัว กินยาลดไข้ พ่นยาเคาะปอด ดูดเสมหะ
การแพร่กระจายของไวรัส RSV คล้ายกับโรคทางเดินหายใจอื่น คือผ่านการจามหรือไอที่ก่อให้เกิดละอองเสมหะในอากาศ ผ่านการสัมผัสโดยตรง และผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ เช่น เด็กสัมผัสสิ่งของหรือของเล่นที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ แล้วมาจับปาก จมูก หรือตาของตัวเอง จึงมักติดต่อกันง่ายในโรงเรียน
5. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรียไมโครพลาสม่า (Mycoplasma)
ไมโครพลาสม่า เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ทำให้เกิดอาการไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และปอดบวม ส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากที่ชุมชนมีผู้คนจำนวนมาก เช่น โรงเรียน โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
โดยหลังจากได้รับเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-4 สัปดาห์ อาการป่วยจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ควรพาลูกมาพบแพทย์หากมีอาการไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ไอรุนแรง หายใจเร็ว หายใจมีหน้าอกบุ๋ม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายมีผื่นแดงตามผิวหนัง โดยโรคติดเชื้อไมโครพลาสม่ารักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides หรือ doxycycline
Related Courses
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...
DIY กระถางต้นไม้ทำมือ
การปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มความร่มรื่น อีกทั้งยังใช้เป็นของตกแต่งบ้านได้อีกด้วย กระถางต้นไม้ก็เป็นส่วนสำคัญในการปลูกต้นไม้ มาฝึกทำกระ ...