New normal สำหรับเด็กปฐมวัยจากสถานการณ์โควิด-19
สถานการณ์โควิด 19 ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และการจัดการศึกษาทั่วโลกและประเทศไทย รวมทั้งมีผลกระทบกับเด็กปฐมวัยและครอบครัวด้วยเช่นกัน การป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในขณะที่กำลังอยู่ระหว่างการคิดค้นวัคซีน ทำให้มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) การทำงานจากที่บ้าน (work from home) การเรียนรู้ที่บ้าน (learn from home หรือ home based learning) ในสถานการณ์เช่นนี้จึงมีแนวคิดความปกติใหม่ (new normal) เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคน แต่อย่างไรก็ตามเด็กปฐมวัยยังต้องมีการเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตอย่างต่อเนื่อง “ความปกติใหม่สำหรับเด็กปฐมวัยจากสถานการณ์โควิด-19” นั้น เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการเผชิญสถานการณ์อย่างเหมาะสม และทำให้เด็กสามารถเกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ โควิด-19 โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้
1. การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลและสุขภาวะของเด็กปฐมวัย เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว เด็กต้องการการดูแลและการให้แนวทางในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องมีการฝึกให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ทุก ๆ หนึ่งชั่วโมง หรือในสถานการณ์ที่ต้องมีการใช้พื้นที่หรือสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น ควรสวมหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปหรือสวมในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปีที่สามารถบอกความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้หรือสามารถดึงหน้ากากออกมาได้เอง การใช้ภาชนะหรือของใช้หรือของเล่นส่วนบุคคลไม่ปะปนกับผู้อื่น เข่น ช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ เสื้อผ้า ตุ๊กตา ไม้บล็อค ของเล่นจำลอง หนังสือภาพ ในส่วนสุขภาวะของเด็กปฐมวัยที่ต้องอยู่บ้านเป็นหลัก จะต้องมีการคำนึงถึงพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา เด็กต้องการเวลาสำหรับการพักผ่อนและการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เด็กต้องการการดูแลด้านอารมณ์จิตใจที่อาจมีความเครียด ความเบื่อหน่ายในการอยู่บ้านในสถานการณ์ที่ต่างไปจากเดิม เด็กต้องการเพื่อนและการเรียนรู้จากผู้อื่นซึ่งอาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระยะนี้ คือ การพูดคุยกับเพื่อนและญาติ ทั้งคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายผ่าน VDO call นอกจากนี้การพัฒนาสติปัญญาควรต้องมีการคำนึงถึงวิถีชีวิตประจำวันกับกิจกรรมการเรียนรู้จากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เปิดโอกาสให้เด็กมีเวลาที่เล่นอย่างอิสระและกำหนดเวลาของการเรียนรู้อย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยเมื่อใดก็ตามที่เด็กมาสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจะต้องมีแนวปฏิบัติในการตรวจคัดกรอง ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ การล้างเจลแอลกอฮอล์ การสวมหน้ากากอนามัย การสวมเครื่องแต่งกาย การใส่รองเท้าที่ป้องกันการแพร่เชื้อ และการมีพื้นที่ส่วนบุคคลตลอดจนของเล่นของใช้ส่วนบุคคลที่เน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม
2. การเว้นระยะห่างทางสังคม ช่วงวัยของเด็กปฐมวัยจะมีความผูกพันใกล้ชิดกับผู้เลี้ยงดู และชอบเล่นร่วมกันกับเพื่อนพี่น้อง ทำให้จะต้องคิดหาวิธีการที่เหมาะสมในการเว้นระยะห่างทางสังคมสำหรับเด็ก โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กมีความจำเป็นต้องไปอยู่ที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเนื่องจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเด็กที่บ้านได้ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องมีการเตรียมการโดยการคำนึงการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งการจัดพื้นที่การเรียนรู้เฉพาะของแต่ละคนให้มีขอบเขตแสดงชัดเจน โดยมีสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้เฉพาะบุคคล เช่น หนังสือภาพ สื่ออุปกรณ์ของเล่นสำหรับการเล่นคนเดียว รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ช่วยในการมองเห็นระยะไกล เช่น Big Book สื่อขนาดใหญ่ ทำให้การเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสมไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ รวมทั้งการมีอุปกรณ์ช่วยการเว้นระยะห่างโดยไม่เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น หมวก เสื้อผ้า อุปกรณ์เว้นระยะห่างที่คิดค้นใหม่อื่น ๆ นอกจากนี้ยังต้องมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และเว้นพักการใช้งานเพื่อทำความสะอาด เช่น พื้นที่ หรือ หนังสือภาพสำหรับ หรือ สื่ออุปกรณ์ของเล่นที่สามารถยืมจากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยไปใช้ รวมทั้งควรมีการจัดการพื้นที่ที่เด็กต้องใช้ร่วมกัน เช่น สนามเด็กเล่น ห้องเรียนและมุมต่าง ๆ ภายในชั้นเรียน ห้องน้ำ พื้นที่ในการรับประทานอาหาร ห้องสมุด และที่สำคัญควรมีการเตรียมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และการเล่นที่เป็นการเล่นคนเดียวหรือมีการเว้นระยะห่าง เด็กปฐมวัยอาจจะต้องมีการเรียนรู้และทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นรายบุคคลเพิ่มมากขึ้น
3. การเรียนรู้ที่บ้าน จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดมาตรการในการปิดเมือง งดการเดินทางเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งมีแนวปฏิบัติในการทำงานที่บ้านและปิดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทำให้การเรียนรู้ที่มีบ้านมีความจำเป็น โดยประเทศต่าง ๆ มีการใช้คำศัพท์ของการเรียนรู้ที่บ้านต่างกันออกไป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียก remote learning ประเทศสิงค์โปร์ เรียก home based learning ในส่วนชองประเทศไทย เรียก learn from home โดยทางสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครองทางออนไลน์ในสถานการณ์ต่าง ๆ จัดส่งตารางกิจกรรม สื่ออุปกรณ์ของเล่น หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ หรือมีการเชิญผู้ปกครองมารับ หรือการเยี่ยมบ้าน โดยเน้นการทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตในครอบครัวและมีความสมดุลย์ ให้เด็กมีโอกาสช่วยทำงานบ้าน การออกกำลังกาย การพักผ่อน การเล่นอิสระ การเล่านิทานรวมทั้งกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา โดยเฉพาะการฟังและการพูดที่นำไปสู่การพัฒนาการอ่านและการเขียน รวมทั้งการทำกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการจัดตารางกิจวัตรประจำวัน และกิจกรรมประจำวันที่มีความสม่ำเสมอสำหรับเด็กที่บ้าน
4. การมีส่วนร่วม และบทบาทของครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง ในช่วงสถานการณ์โควิดความร่วมมือระหว่างสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยอาจต้องมีแนวทางที่เหมาะสมกับลักษณะความพร้อมของครอบครัวที่หลากหลายทั้งครอบครัวที่มีเทคโนโลยีในระดับสูง ระดับปานกลางถึงต่ำ และไม่มีเทคโนโลยีรวมทั้งยากจน ในการจัดโปรแกรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กที่มีความพร้อมต่างกันอาจมีแนวทางของการมีส่วนร่วม ดังนี้
1. การจัดโปรแกรมการเรียนรู้ของเด็กโดยผู้ปกครอง เด็กที่ครอบครัวมีความพร้อมสูง อาจเปิดโอกาสให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกวิธีการดูแลเด็กที่บ้านด้วยตนเองที่บ้าน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอาจเป็นผู้ให้คำปรึกษา
2. การจัดโปรแกรมการเรียนรู้ออนไลน์ เป็นการจัดตารางกิจกรรม รายละเอียดและวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตลอดจนรายการสื่ออุปกรณ์ของเล่นเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยให้ผู้ปกครองได้มีบทบาทหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่บ้านจากความสนับสนุนของครู
3. การจัดโปรแกรมการเรียนรู้กึ่งออนไลน์ โดยจัดตารางกิจกรรม รายละเอียดและวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทางออนไลน์ และจัดสื่อการเรียนรู้ส่งที่บ้านหรือให้ผู้ปกครองมารับ หรือมีการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กทั้งที่บ้านและที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเป็นการจัดที่เน้นการมีพื้นที่ของเด็กแต่ละคนตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม
4. การจัดโปรแกรมการเรียนรู้ออฟไลน์ โดยมีการเยี่ยมบ้าน จัดเตรียมตารางกิจกรรม รายละเอียดและวิธีการจัดกิจกรรม และจัดสื่อการเรียนรู้ให้แก่เด็ก 1-2 สัปดาห์ต่อครั้งที่ผู้ปกครองเป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่บ้าน หรือ เป็นการให้เด็กในครอบครัวที่ขาดความพร้อม สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรรับเด็กมาดูแลและส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ แต่ยังคงยึดหลักการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อและการรักษามาตรฐานการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
ในส่วนของบทบาทนั้น ครูควรเปลี่ยนเป็นนักออกแบบกิจกรรม ในการออกแบบโปรแกรมที่มีความยืดหยุ่นสูง และสร้างสรรค์ เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยแต่ละคน สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง มีการเปลี่ยนบทบาทเป็นพ่อครู แม่ครูในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่บ้าน นอกจากนี้คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายหรือผู้ใหญ่อื่น ๆ ในครอบครัวสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้เช่นกัน โดยเน้นความสัมพันธ์กับกิจวัตรประจำวันและความยืดหยุ่นที่เหมาะกับความพร้อมของแต่ละครอบครัว
5. การใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์สำหรับเด็กปฐมวัย แม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสาร การทำงาน และสามารถใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย แต่สำหรับเด็กแล้วเวลาส่วนใหญ่ไม่ใช่เวลาที่หน้าจอ โดยเด็กเล็กต่ำกว่า 3 ปีไม่ควรใช้ และสำหรับเด็กตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปไม่ควรใช้เกิน 15 นาทีต่อหนึ่งครั้งและไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ในการใช้นั้นให้ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้อย่างมีจุดมุ่งหมาย ควรมีการกำหนดข้อตกลงในการใช้ร่วมกันกับเด็กจะได้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม สำหรับเทคโนโลยีที่เลือกใช้สามารถใช้ในการติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครอง การประชุมออนไลน์ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ออนไลน์ที่ส่งต่อกิจกรรมให้ผู้ปกครองทำร่วมกับเด็ก การให้เด็กได้พบได้พูดคุยกับเพื่อนและครู การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก และการจัดชั้นเรียนออนไลน์
สรุปได้ว่า ความปกติใหม่ หรือ New Normal สำหรับเด็กปฐมวัยในสถานการณ์โควิด-19 เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติในการสร้างความปลอดภัยจากการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ โดยเน้นการเว้นระยะห่างทางสังคมและการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล การเตรียมพร้อมของผู้ใหญ่ที่แวดล้อมเด็กในการตระเตรียมวิธีการ สื่ออุปกรณ์ของเล่น และพื้นที่ที่เด็กสามารถปลอดภัย โดยอาศัยความร่วมมือของครูและพ่อแม่ผู้ปกครองที่มุ่งหวังให้การส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ เช่นเดียวกับการสร้างคุณภาพและศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ใหญ่ที่แวดล้อมเด็ก
เอกสารอ้างอิง
www.uth.edu/news/story.htm?id=e5c159f0-11af-4091-9f1d-342b5a64583a
www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1906490/life-with-covid-19-a-new-norm
Related Courses
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...
ฝึกกระบวนการคิด ในห้องเรียนยุคใหม่
การสร้างการเรียนรู้สำหรับครูและผู้ปกครองในการพัฒนากระบวนการคิดให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กในระหว่างอยู่ที่โรงเรียนและบ้านเพื่อเพิ่มป ...
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...