รับผิดชอบต่อสังคม ทักษะใหม่ที่ต้องสอนในยุค New Normal
Covid-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะรูปแบบการใช้ชีวิต ที่ไม่เพียงเราต้องระวังเรื่องสุขอนามัยของตนเองเพิ่มขึ้น แต่เรายังต้องตระหนักถึงความปลอดภัยต่อส่วนรวมด้วย เพราะหากเราขาดความใส่ใจเพียงนิดเดียว ตัวเราเองอาจกลายเป็นผู้ส่งต่อโรคร้ายให้กับคนมากมายโดยไม่คาดคิด
ความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นทักษะใหม่ที่สำคัญมากๆ ที่ต้องสอนเด็กๆ ในยุค New Normal ค่ะ เพราะยิ่งเทคโนโลยีเชื่อมโยงโลกเข้าถึงกันมากขึ้นเท่าไร ผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของคนเพียงไม่กี่คนที่ขาดความรับผิดชอบ ก็อาจสร้างปัญหาให้กับโลกได้อย่างมากมายทีเดียว
รับผิดชอบต่อสังคม ไม่ได้เป็นแค่คำคม แต่ต้องทำจริงๆ
คำว่า รับผิดชอบต่อสังคม อาจฟังดูเป็นคำสวยหรู ฟังดูยิ่งใหญ่และไกลตัวเกินกว่าจะทำได้ แต่จริงๆ แล้วคำนี้ มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะสำหรับคนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง นอกจากจะให้ความรู้ทางวิชาการ สอนมารยาททางสังคมแล้ว ความรับผิดชอบต่อสังคม ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรเพิ่มเข้าไปในบทเรียนทักษะชีวิตของเด็กๆ ทุกคนค่ะ
ทำไมความรับผิดชอบต่อสังคมจึงสำคัญยิ่งกว่าเดิมในยุค New Normal คำตอบคือ เมื่อเทคโนโลยีเจริญรุดหน้า สังคมของเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในชุมชนหรือประเทศเท่านั้น แต่เชื่อมต่อกันจนเป็นสังคมโลก จากการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่า โรคติดต่อนี้เดินทางไปพร้อมๆ กับผู้คน สู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากเอเชีย สู่ ยุโรป จากยุโรป สู่ อเมริกา ผู้คนสัญจรไปมาหาสู่กันจำนวนมาก จนเราไม่อาจหาที่มาของโรคนี้ได้อย่างแน่ชัด
จากเหตุการณ์นี้ทำให้โลกต้องปรับเปลี่ยน ผู้คนต้องปรับวิถีชีวิตใหม่ จนเกิดเป็นคำว่า New Normal ขึ้นมา แต่คำๆ นี้จะไม่มีประโยชน์เลย หากคนๆ หนึ่งขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ในขณะที่ประเทศของเราเริ่มควบคุมการระบาดของโรคได้ดีขึ้นแล้ว สมมติว่ามีคนๆ หนึ่ง เกิดติดเชื้อ Covid-19 ขึ้นมาแต่ปกปิด เพราะคิดว่าจะหายได้เอง ไม่ระมัดระวังป้องกัน ยังคงไปเที่ยว กินอาหาร ใช้ชีวิตปกติ เพราะเขาคิดว่าใครจะติดก็ไม่เห็นเป็นไร สุดท้ายก็หายได้เองทุกคน จนทำให้เกิดการระบาดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะคำว่า ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม คำเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น โลกที่เชื่อมโยงกันผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียล มีเดีย ต่างๆ การส่งข้อความหรือแสดงความคิดเห็น ทำได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วคลิ๊ก จะเกิดอะไร หากคนๆ หนึ่งขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ ใช้สื่อออนไลน์ที่ทำให้เกิดผลเสียต่อคนส่วนใหญ่ เราในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง คงไม่อยากให้ลูกของเรา เป็นคนๆ นั้น คนที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม...จนทำให้สังคมเดือดร้อน ใช่ไหมคะ?
เมื่อเป็นเช่นนี้ เรามาดูวิธีที่จะปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่เด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของโลกยุคใหม่กันดีกว่าค่ะ
สอน New Normal ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบต่อสังคม
จะว่าไปแล้วคำว่า New Normal อาจไม่ใช่อะไร แต่หมายถึงการปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแค่รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง หรือทำตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการทำสิ่งต่างๆ อย่างระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบสังคมโดยรวมอีกด้วย ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสอนเด็กๆ ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ
สอนความเห็นอกเห็นใจ
เด็กๆ จะรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างไร หากเขาไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความรับผิดชอบต่อสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เด็กๆ คำนึงถึงผู้อื่น ว่าจะได้รับผลกระทบจากการกระทำของตนเองหรือไม่อย่างไร ควรสอนให้ลูกรู้จักสังเกตอารมณ์ของตัวเอง เมื่อลูกเศร้า โกรธ ดีใจ เสียใจ พ่อแม่ควรช่วยลูกสะท้อนอารมณ์ เช่น “ลูกเศร้าเพราะพี่ไม่แบ่งขนมใช่ไหม” หรือ “ลูกไม่ได้แบ่งขนมให้น้อง ลูกคิดว่าน้องจะรู้สึกอย่างไรคะ” การถามเช่นนี้ ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าการกระทำของเขาจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ การสอนความเห็นอกเห็นใจ เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างทักษะความรับผิดชอบต่อสังคมของลูกต่อไปในอนาคต
เริ่มจากรับผิดชอบตัวเอง
ก่อนที่เด็กๆ จะรับผิดชอบต่อสังคมและคนรอบกายได้ พวกเขาจำเป็นต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้ก่อนค่ะ เริ่มจากเรื่องง่ายๆ คือ การดูแลรับผิดชอบกิจวัตรประจำวัน รู้เวลาและลงมือทำโดยพ่อแม่ไม่ต้องคอยบอก เมื่อรับผิดชอบตัวเองได้ดีแล้ว อาจขยายขอบเขตมาสู่การรับผิดชอบหน้าที่ภายในบ้าน เช่น เก็บผ้า ล้างจาน ทำความสะอาดห้องของตัวเอง โดยมอบหมายให้เป็นหน้าที่ประจำของเด็กๆ ระบุวันเวลาชัดเจน และรอดูว่าเด็กๆ ทำสำเร็จหรือไม่ หากขาดตกบกพร่อง ควรชี้ให้เด็กเห็นว่า สิ่งที่เขาละเลยส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร เช่น เมื่อตื่นสาย ทำให้ไปเรียนไม่ทัน พ่อแม่ก็ไปทำงานสายไปด้วย หรือ เมื่อไม่เก็บผ้า จนฝนตก ผ้าเปียก ทำให้แม่ต้องซักผ้าซ้ำอีกครั้ง ทั้งเสียเวลา และเปลืองน้ำ เปลืองไฟ สิ่งสำคัญคือ อธิบายให้ลูกเข้าใจ แทนการตำหนิ ชี้ให้ลูกเห็นผลเสียของความไม่รับผิดชอบที่เกิดขึ้น
มองภาพรวมของสิ่งต่างๆ
เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ไหมคะ คำกล่าวนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะสอนลูกว่าทุกสรรพสิ่งในโลกนี้เชื่อมโยงถึงกัน การกระทำของคนๆ หนึ่งอาจส่งผลต่อคนอีกซีกโลกได้ อย่างกรณีของ Covid-19 แม้เราจะไม่รู้ต้นตอแน่ชัดว่ามาจากที่ใดบนโลก แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลกนับล้านๆ ชีวิต ดังนั้น การตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เมื่อเด็กตัดสินใจไม่ทำการบ้าน เด็กย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะที่พ่อแม่ก็ได้รับผลกระทบด้วยเมื่อคุณครูเรียกผู้ปกครองเข้าพบ ผลกระทบทางอ้อมเกิดขึ้นเมื่อพ่อแม่ลางาน ย่อมส่งผลถึงเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานแทน เป็นต้น เมื่อเด็กๆ มองเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน เขาก็จะเข้าในถึงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างที่ดี...มีความสำคัญ
เราจะสอนเด็กๆ ให้รับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างไร หากเรายังทิ้งขยะลงพื้น เราจะสอนให้เด็กๆ นึกถึงคนอื่นๆ ได้อย่างไร หากเรายังขับรถปาดหน้า หรือแซงคิวทุกครั้งที่มีโอกาส ในบางครั้งเด็กๆ อาจไม่ฟังสิ่งที่เราพูด แต่พวกเขาไม่เคยพลาดที่จะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่เห็นเป็นประจำ การสอนลูกให้รับผิดชอบต่อสังคม จึงไม่อาจสำเร็จได้ หากว่าผู้ใหญ่ไม่ปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับเด็กๆ สิ่งแรกที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอคือ รับผิดชอบอารมณ์ของตัวเอง บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่อาจเหน็ดเหนื่อยจากภาระมากมาย แต่การหงุดหงิดใส่ลูก หรือระบายอารมณ์ด้วยน้ำเสียงและท่าทีกราดเกรี้ยวต่อเด็กๆ ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น กลับกันเด็กๆ อาจเรียนรู้ว่า เมื่อมีอารมณ์เชิงลบ พวกเขาก็แค่ระบายกับบางสิ่งบางอย่าง โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะฉะนั้น ความรับผิดชอบต่อสังคมในเด็กๆ จะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มขึ้นจากผู้ใหญ่ภายในครอบครัวนั่นเอง
Related Courses
Zoom meeting กับวิถี New normal
การใช้งานระบบ E-Meeting ด้วย โปรแกรม Zoom ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานการเป็นผู้เข้าร่วมประชุม ไปจนถึงการเป็นผู้ดูแลห้องประชุม
เจลล้างมือมีความจำเป็นอย่างไร
การเรียนรู้ 7 ขั้นตอนล้างมือด้วยสบู่เมื่อเด็กๆอยู่ที่บ้าน ความจำเป็นที่ต้องใช้เจลล้างมือ ขั้นตอนการผลิตเจลล้างมือแบบง่ายๆ และประ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ปลูกผักไร้ดิน กินเองที่บ้าน (การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์)
ในปัจจุบันทุกคนต้องกักตัวที่บ้านเนื่อง จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้ขาดแคลนอาหาร การปลูกผักแบบไร้ดินจึงเป็น ...