แนวทางการนำผล RT และ NT มาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และการจัดการเรียนรู้
พื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้ประชากรของประเทศชาติสามารถพัฒนาทักษะรวมทั้งความคิด จนเติบโตเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ คือ “การศึกษา” แน่นอนว่าหากประชากรได้รับการศึกษาที่ดีก็จะกลายเป็นกำลังของชาติที่เข้มแข็ง ส่งเสริมให้ประเทศชาติมีความพร้อม เจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน ซึ่งในประเทศที่มีความเจริญแล้วต่างให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบความรู้ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพมาขับเคลื่อนประเทศ
ประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา คนไทยทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องเริ่มเรียนรู้อยู่ในสังคมโรงเรียน ถูกอบรมสั่งสอนให้เข้าใจความเป็นมนุษย์ เข้าใจการอยู่ร่วมกันในสังคม รู้จักวิธีการสื่อสารกับผู้อื่น รวมถึงรู้จักวิธีการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นด้วย การปูพื้นฐานให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจึงสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นช่วงวัยที่เริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เด็กทุกคนควรมีความรู้และความสามารถที่ช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการจัดสอบวัดผลสำหรับชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นการประเมินคุณภาพของนักเรียนว่ามีความสามารถตามเกณฑ์ที่กำหนดหลังจบการศึกษาหรือไม่ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การประเมินความสามารถด้านของอ่านของผู้เรียน (RT) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ทั้งนี้ การสอบทั้ง 2 รูปแบบ จะนำมาซึ่งประโยชน์ในการวินิจฉัยและตรวจสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียน และช่วยให้การจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เพราะเมื่อครูผู้สอนรู้ผลการประเมินของนักเรียนรายบุคคลก็จะสามารถรู้ได้ว่า แต่ละคนมีความสามารถระดับไหน และต้องปรับปรุงพัฒนาในด้านใดเพิ่มขึ้นอีกบ้าง บทความนี้เราจึงจะมาแนะนำ แนวทางในการปรับใช้ผลการประเมินจากแบบทดสอบ RT และ NT ให้ทั้งครูผู้สอนและนักวิชาการการศึกษานำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนของตนเองต่อไป
ความแตกต่างของการสอบวัดผล RT และ NT
การสอบ RT เป็นการทดสอบความสามารถด้านการอ่านของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีการสอบย่อย คือ การอ่านออกเสียง และการอ่านรู้เรื่อง การอ่านออกเสียงจะเน้นว่านักเรียนต้องสามารถอ่านออกเสียงคำ ประโยค หรือข้อความง่าย ๆ ได้อย่างถูกต้องตามหลักภาษา ส่วนการอ่านรู้เรื่องหมายถึงว่านักเรียนจะต้องอ่านแล้วสามารถจับใจความ ตอบคำถามหลังอ่านจบ บอกเล่าหรือบอกความหมายของสิ่งที่อ่านแล้วได้ ซึ่งทั้งการอ่านออกเสียงและการอ่านรู้เรื่องเน้นการประเมินภาคความรู้ และแบบประเมินภาคปฏิบัติ (Performance Assessment)
การสอบ NT เป็นการทดสอบเพื่อประเมินคุณภาพผู้เรียนของชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประกอบด้วย 2 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ความสามารถด้านภาษาไทยโดยทักษะด้านภาษาไทย เช่น ฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งต้องการให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง เข้าใจภาษาอย่างถ่องแท้ เข้าใจเหตุและผล รวมทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาได้ผ่านการใช้ภาษา และ ด้านที่ 2 ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ เป็นทักษะด้านคณิตศาสตร์พื้นฐานที่เน้นให้นักเรียนสามารถแก้ไขปัญหาโดยแสดงคำตอบออกมาได้อย่างเป็นระบบ
แนวทางการนำผลการประเมินจากแบบทดสอบ RT และ NT ไปใช้ประโยชน์
เพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและการจัดการศึกษา
ในภาพองค์กรอย่างเช่นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา สามารถนำผลการประเมินไปตรวจสอบ เพื่อวางแผนการพัฒนาการเรียนการสอนของบุคลากรทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ อีกทั้งควรส่งเสริมและสนับสนุนสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาการสอนให้ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาสื่อการสอน การจัดอบรมเทคนิคการสอนแบบใหม่ที่ทันสมัย การหาแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละชั้นเรียน และการจัดกิจกรรมส่งเสริมหลักสูตรการเรียนการสอนทุกหลักสูตร
สำหรับครูผู้สอนและนักวิชาการการศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ผลการประเมินได้ ดังนี้
1) ใช้ผลการประเมินมาวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนของนักเรียนรายบุคคล หาจุดที่ควรปรับปรุงและพัฒนาตามมาตรฐานและตัวชี้วัด เช่น บางคนสามารถอ่านได้ แต่ยังจับใจความประโยคหรือเนื้อเรื่องไม่ได้ ครูผู้สอนก็ต้องช่วยหาวิธีพัฒนาต่อไป
2) นำไปปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น จับคู่คนที่ได้คะแนนของผลการทดสอบน้อยให้คู่กับคนที่ได้คะแนนมาก เพื่อให้นักเรียนช่วยเพื่อนทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน
3) ใช้สื่อการเรียนรู้มาช่วยเสริมให้การเรียนในห้องเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น นอกจากการอ่านแค่ข้อความ สามารถให้นักเรียนฟังเสียง ภาพ หรือดูวิดีโอ เพื่อให้อ่านตามได้พร้อมทั้งเห็นภาพที่ชัดเจนด้วย
4) นำเทคนิคการเรียนการสอนแบบใหม่ ๆ มาใช้ เช่น การสร้างสถานการณ์สมมติ (Role Play) เพื่อให้นักเรียนเข้าใจการใช้คำต่าง ๆ มากขึ้น พร้อมทั้งเข้าใจวิธีการในการหาคำตอบได้ดีขึ้น
5) จัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนได้เพิ่มทักษะในด้านต่าง ๆ เช่น พาไปเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยแสดงให้เห็นการใช้งานจริงของทักษะในแต่ละด้าน
บทสรุป
อย่างไรก็ดี ช่วงก่อนการสอบครูผู้สอนควรเตรียมตัวให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนความสามารถพื้นฐานตามกรอบโครงการการประเมิน NT RT เพื่อให้เด็ก ๆ คุ้นชินกับรูปแบบการประเมิน เช่น การประเมินอิงสถานการณ์ การเขียนตอบอิสระ ส่งผลต่อความพร้อมรับมือกับการสอบได้ดีขึ้น และเมื่อครูผู้สอนได้รับผลการประเมินของนักเรียนรายบุคคลแล้ว ก็ควรจะจัดการสอบแยกย่อยในชั้นเรียนของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นระยะ เพราะศักยภาพของเด็กแต่ละคนอาจสามารถพัฒนาได้คนละช่วงวัย หรือความกดดันของการสอบครั้งแรกอาจทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถทำข้อสอบได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการประเมินอยู่เป็นประจำจึงช่วยให้ครูผู้สอนเข้าใจถึงพัฒนาการของผู้เรียนที่แตกต่างกัน
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
บทความใกล้เคียง
วิธีพัฒนาตนให้ Modern อยู่เสมอ
ยกระดับการเรียนรู้โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา ด้วย 3 นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการศึกษา จาก Starfish Education
Starfish Education กับภารกิจที่ไม่ใช่แค่ให้เด็กเข้าถึงการศึกษา แต่ต้องเป็น Meaningful Education
Related Courses
โรงเรียนปลาดาว ต้นแบบนวัตกรรมการเรียนรู้สู่อนาคต
โรงเรียนปลาดาว เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะสำคัญทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิต ผ่าน ...
โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาดูงานโรงเรียนปลาดาว
โรงเรียนปลาดาว เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะสำคัญทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิต ผ่าน ...
โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาดูงานโรงเรียนปลาดาว
How to วิธีการหาทุนสำหรับมือใหม่
ทุกคนมีความฝัน แต่หลายคนกลับไปไม่ถึงฝันเพราะต้นทุนชีวิตน้อย การมองหาทุนการศึกษาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีส่วนช่วยสนับสนุนก ...
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
วันนี้ Starfish Labz มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เทคนิคการออกแบบกิจกรรมใน Booklet ให้มีความน่าสนใจ สร้างสรร ...
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
ต้องใช้ 100 เหรียญ