Makerspace เครื่องมือสุดล้ำ! กับการพัฒนาทักษะของผู้เรียน
จากการที่ได้พูดคุยกับท่านรองผู้อำนวยการกุมุทมาส กัมปนาทแสนยากร รองผู้อำนวยการและหัวหน้าด้านบริหารงานวิชาการระดับประถมศึกษา โรงเรียนกุมุทมาส จังหวัดนนทบุรี สังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนนั้นท่านได้แบ่งปันการทำกิจกรรมกับโค้ชว่า หลังจากที่ได้มาศึกษาดูงานที่โรงเรียนปลาดาวแล้ว ทางโรงเรียนได้นำกิจกรรม Makerspace ไปใช้ในโรงเรียนทั้งระบบ ซึ่งที่โรงเรียนมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นเรียนอนุบาล ถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 (อ.1-อ.3 และ ป.1-ป.6) และแต่ละระดับชั้นจะได้เข้าใช้ห้อง Makerspace 2 คาบ/สัปดาห์ สำหรับที่โรงเรียนมีห้อง Makerspace ทั้งหมด 4 ห้อง คือ
ห้องที่ 1 DIY (ห้องกิจกรรมสร้างสรรค์)
ห้องที่ 2 CIY (ห้องทำอาหาร)
ห้องที่ 3 SIY (ห้องสตูดิโอ)
ห้องที่ 4 MIY (ห้องช่าง)
นอกจากนั้น ทางโรงเรียนยังได้จัดการเรียนรู้แบบ Project Based Learning เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และผลงาน โดยเด็ก ๆ ได้ออกแบบผลงานตามอัตลักษณ์และคุณธรรมด้วยตนเองอีกด้วย
ท่านรองผู้อำนวยการยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับกิจกรรม Makerspace นั้นแน่นอนว่ามีประโยชน์ต่อการจัดกิจกรรมได้หลากหลายด้านมากโดยเฉพาะในด้านของนักเรียน ซึ่งกิจกรรม Makerspace เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองผิดลองถูก ได้ฝึกการคิดวางแผนและสะท้อนผลกลับ เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง การลงมือทำ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกทักษะหลากหลายด้าน เช่น การทำงานเป็นกลุ่ม การค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การนำเสนอผลงานและการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน อีกทั้งยังช่วยให้นักเรียนได้ฝึกด้านพฤติกรรมอีกด้วย เช่น การมีสมาธิ การรู้จักรอคอย รวมถึงมีความรับผิดชอบพื้นที่และสิ่งของร่วมกัน
และด้านที่ 2 ที่เห็นในชัดคือ ด้านของครูผู้สอน ที่เน้นให้คุณครูมีโอกาสได้เห็นความสนใจ ความสามารถและทักษะของเด็กแต่ละคนได้อย่างชัดเจน เพราะกิจกรรม Makerspace เปิดโอกาสให้ครูได้ฝึกฝนนักเรียนในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน และการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ที่สำคัญคือ ครูแต่ละห้องได้มีโอกาสมาแชร์ประสบการณ์ร่วมกันด้วย เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับด้านสุดท้ายคือ ด้านผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสนใจของบุตรหลาน และความสามารถเฉพาะด้านของเด็กแต่ละคน อีกทั้งยังได้เห็นพัฒนาการด้านทักษะของลูกหลานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
สำหรับปัญหาหรืออุปสรรคในการทำกิจกรรมนั้น ท่านรองผู้อำนวยการได้เล่าให้โค้ชฟังว่าในช่วงแรกนักเรียนยังไม่เข้าใจกระบวนการ 5 ขั้นของ STEAM Design Process ซึ่งยอมรับเลยว่าต้องใช้เวลาในการคิดและเขียนบันทึกค่อนข้างมาก เด็กบางคนมีแนวโน้มที่อยากทำตามเพื่อน ยังไม่ค้นพบสิ่งที่ตนเองชอบหรืออยากทำจริง ๆ และอีกปัญหาที่พบในระดับชั้นเด็กอนุบาล คือ เด็กยังไม่สามารถบอกหรือแสดงออกได้ว่าอยากทำอะไรหรือชอบอะไร ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการส่งเสริมการเรียนรู้
แน่นอนว่าเมื่อเจอปัญหาหรืออุปสรรค ทางโรงเรียนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งได้มีการจัดให้มีการ PLC ร่วมกัน โดยคุณครูได้มาแชร์กิจกรรมที่ได้ทำแก้ไขปัญหาไปพร้อม ๆ กัน ใครมีกิจกรรมหรือเทคนิคดีๆ ก็มาแบ่งปันไอเดียกัน ที่สำคัญเลยคือครูต้องให้คำแนะนำให้แนวทางกับเด็กทีละกลุ่มหรือรายบุคคล ควรมีการเสริมแรงกระตุ้นเด็กที่มีแนวโน้มตามเพื่อนให้ได้คิดและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อให้สามารถค้นหาสิ่งที่ตนเองอยากทำและสนใจจริง ๆ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ทางโรงเรียนได้วางไว้
ท่านรองผู้อำนวยการยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากที่ทางโรงเรียนได้ร่วมกันสร้างห้อง Makerspace ทั้ง 4 ห้องและได้ให้นักเรียนได้เข้าไปใช้ห้องแล้วนั้น สิ่งที่สังเกตเห็นและรู้สึกประทับใจมากเลยคือ การที่เด็ก ๆ แสดงความกล้าที่จะคิดและทำในสิ่งแปลกใหม่ กล้าในการแสดงความคิดเห็น อภิปราย แก้ปัญหาและมีทักษะการนำเสนอที่เด่นชัดมากขึ้น ครูได้เห็นศักยภาพของเด็กในมิติใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งถือได้ว่ากิจกรรม Makerspace สามารถตอบโจทย์ในการพัฒนาเด็กเพื่อให้มีทักษะแห่งอนาคตได้จริง
สำหรับการต่อยอดนวัตกรรมนั้น ทางโรงเรียนอยากนำแนวคิดปรัชญาทางพุทธมาประกอบกับหลักสูตร Makerspace เช่น อิทธิบาท 4 เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนมีทั้งทักษะ สมรรถนะ และมีคุณธรรมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นแผนที่ทางโรงเรียนพร้อมนำมาปรับใช้ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายให้กับผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
จากที่โค้ชได้มีโอกาสได้พูดคุยกับท่านรองผู้อำนวยการนั้น สังเกตได้ถึงความมุ่งมั่นที่อยากพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะและสมรรถนะอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป้าหมายหลัก คือ มุ่งหวังให้เด็ก ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถพร้อมรับมือกับโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยความท้าทายและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การศึกษาจึงต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21 และสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายสู่ผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
Related Courses
คู่มือ Starfish Makerspace Certified Teacher & School Leader
Starfish Makerspace Certified Teacher & School Leader เป็นคู่มือที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมพัฒนาทักษะและศักยภาพข ...
คู่มือ Starfish Makerspace Certified Teacher & School Leader
พื้นที่แบบไหนก็จัด Makerspace ได้
พื้นที่นักสร้างสรรค์ Makerspace เป็นการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ สามารถจัดได้หลายรูปแบบตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อใ ...
Professional Development
การพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development) เป็นกระบวนการพัฒนาทักษะ ความรู้ และความสามารถที่จำเป็นในการทำงานแล ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...