ระวังวัยรุ่นซึมเศร้าเพราะฝุ่นพิษ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้กลายเป็นวิกฤติที่คุกคามสุขภาพคนไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พิษของ PM2.5 อย่างที่หลายคนทราบกันดีคือส่งผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงก่อให้เกิดอาการแพ้ในระบบต่างๆ ของร่างกาย ที่เห็นได้ชัดคือ เกิดผื่นคัน ระคายเคืองผิวหนัง เป็นต้น แต่สิ่งที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ มีการศึกษาที่พบว่า PM2.5 อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าและอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นของประชากรโลกด้วย การศึกษาจาก University College London (UCL) พบว่าผู้ที่ต้องสูดดมฝุ่นพิษ มลพิษทางอากาศ มีอัตราเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้น เพื่อให้รู้เท่าทันภาวะซึมเศร้า ขณะที่เรายังคงต้องใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นพิษไปอีกยาวๆ บทความนี้ StarfishLabz มีคำแนะนำมาฝากคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง
อากาศพิษและปัญหาสุขภาพจิตที่มองไม่เห็น
เมื่อพูดถึงอากาศเป็นพิษ ช่วงนี้ก็ต้องนึกถึง PM2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน โดยองค์การอนามัยโลก WHO กำหนดไว้ว่าภายใน 24 ชั่วโมง ค่าฝุ่นต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัม : ลูกบาศก์เมตร สำหรับประเทศไทย ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ภายใน 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม : ลูกบาศก์เมตร ข้อมูลจาก Rocket Media Lab โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ซึ่งค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 31 วัน คิดเป็น 8.52% ของทั้งปี โดยมีวันที่สภาพอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ มีการแจ้งเตือนเป็นสีส้มถึง 78 วัน หรือคิดเป็น 21.43% ของทั้งปี ซึ่งสถิตินี้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นทุกปี ซึ่งผลกระทบต่อร่างกายจาก PM2.5 ที่เราทราบกันดี มีทั้งก่อให้เกิดอาการแพ้ ทางผิวหนัง เช่น ผื่นคัน ลมพิษ ทั้งยังส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เพิ่มความเสี่ยงโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ สิ่งที่ทำให้ PM2.5 น่ากังวลมากขึ้นคือ มีการศึกษาที่พบว่าฝุ่นพิษนี้อาจเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าด้วย นักวิจัยจาก UCL ระบุว่า อนุภาคมลพิษทางอากาศที่เล็กที่สุด สามารถที่จะเข้าไปสู่สมองของคนได้จากกระแสเลือดและจากทางจมูก และมลพิษทางอากาศนั้นมีผลเกี่ยวข้องกับการอักเสบของสมอง ทำลายเยื่อประสาท และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน และมีผลต่อสุขภาพจิตที่ย่ำแย่
พิษฝุ่นกับวัยรุ่นและโรคซึมเศร้า
วัยรุ่นคือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเจริญเติบโต เปลี่ยนผ่านจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ นอกจากฮอร์โมนที่แปรปรวนตามวัยแล้ว วัยรุ่นยังต้องรับมือกับการแสวงหาตัวตนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคมและกลุ่มเพื่อน ประกอบกับปัจจัยภายนอก อื่นๆ ทั้งเรื่องครอบครัว การเรียน ชีวิตประจำวันต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเครียด หากวัยรุ่นไม่ได้รับการปลูกฝังความมั่นคงทางใจตั้งแต่วัยเด็ก ก็อาจเกิดความเครียดจนยากรับมือได้ ความเครียดจากการเจริญเติบโต ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้และเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่น อาจส่งผลให้เซลล์สมองที่ชื่อว่า Microglia เกิดการอักเสบ แต่การอักเสบนี้จะแย่ขึ้นไปอีกหากเด็กที่กำลังเจริญเติบโต สูดฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะ PM 2.5 ที่เล็กมากจนแทรกซึมเข้าไปได้ถึงสมองที่กำลังพัฒนาการศึกษาในปี 2019 ตีพิมพ์ใน Environmental Health Perspectives ศึกษาเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 6,800 รายที่ถูกส่งไปยังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเด็กในซิซินเนติ สหรัฐฯ พบว่า แม้การสูดดมฝุ่นพิษในระยะสั้นๆ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการทางจิตเวชอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น โรคเครียด(Adjustment Disoder) ทำร้ายตัวเอง หรือกระทั่ง ฆ่าตัวตาย มีการศึกษาที่พบว่ายิ่งเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ฝุ่นพิษหนาแน่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกัน เมื่อปริมาณฝุ่นในอากาศลดลง แนวโน้มโรคซึมเศร้ากลับไม่ได้ลดลงตามไปด้วยเพราะเมื่อสูดฝุ่นพิษเข้าไปแล้ว ฝุ่นนั้นจะแทรกซึมอยู่ในเซลล์ร่างกาย และพัฒนาไปพร้อมๆ กับร่างกายของเด็กที่กำลังเติบโต กว่าจะแสดงอาการก็อาจเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ไปแล้ว
ป้องกันฝุ่นพิษในชีวิตประจำวัน
ปัญหาฝุ่นพิษในประเทศไทยกลายเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าที่ประชาชนจะเริ่มที่ตนเอง แต่อย่างน้อยๆ เราก็ควรเริ่มที่จะดูแลป้องกันสุขภาพของตัวเอง และคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่กำลังเติบโต
- เช็คค่าฝุ่นเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้เตรียมตัวสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ไปจนถึงเปิดเครื่องกรองอากาศ และหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่นสูง
- พัฒนาคุณภาพอากาศภายในที่พักอาศัย ด้วยการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ใช้เครื่องดูดควันเมื่อต้องทำอาหารในบ้าน ทำความสะอาดบ้านกำจัดฝุ่น รวมถึงปลูกต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศภายในบ้าน
- ลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด เนื่องจากฝุ่นอยู่ในอากาศที่เราหายใจ การหลีกเลี่ยงฝุ่นพิษ 100% จึงเป็นเรื่องที่อาจเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างไร ก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด เช่น เมื่อกลับถึงบ้าน ควรถอดเสื้อผ้าใส่ตะกร้าสำหรับเตรียมซักและ อาบน้ำ สระผม ทันที เพื่อชะล้างคราบฝุ่นที่มองไม่เห็นซึ่งอาจติดมาจากอากาศภายนอก ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น เพราะ PM2.5 ไม่เห็น ไม่ใช่ไม่มี
- สังเกตสภาพอารมณ์วัยรุ่น พ่อแม่ควรพูดคุย สอบถามความเป็นไปในชีวิตลูกวัยรุ่น และรับฟังโดยไม่ตัดสิน หากพบว่าลูกเปลี่ยนไป เช่น เก็บตัว ไม่พูดคุยเหมือนเคย กินอาหารมากหรือน้อยกว่าปกติ อารมณ์หุนหันหรืออารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อย่างรุนแรง ควรพาลูกขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
สุดท้ายแล้ว เราอาจต้องอยู่กับฝุ่นพิษไปอีกหลายปี กว่าที่รัฐบาลจะมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากดูแลตัวเองแล้ว ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็คงต้องช่วยกันดูแลบุตรหลานและเยาวชนให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษให้ได้มากที่สุดเท่าที่กำลังจะทำได้ จนกว่าจะถึงวันนั้น หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น ก็ยังคงเป็นของต้องมีสำหรับเด็กเจนเนอเรชันนี้ต่อไป
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
สารพัดวิธีรับมือ และเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติ
ความแปรปรวน ของสภาพอากาศโลกและภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่มีความรุนแรงขึ้น จึงมีความจำเ ...
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
แนะนำหลักสูตร well being
คอร์สเรียนนี้จะชวนให้ทุกคน กลับมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กๆ กันนะคะ เพราะทั้งสองเรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์โดยตรง ...