การจัดการศึกษาแบบ Active Learning บน Online Platform ในยุค COVID 19
ในสภาวะการณ์ปัจจุบันมีความเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์โรคระบาดจะยืดเยื้อไปอีกนาน ความเป็นโลกาภิวัฒน์จะถูกทำลาย เพราะโรคระบาด โลกที่เคยกว้างก็จะแคบลง การศึกษาที่เดิมจะมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะต่างๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเป็นพลเมืองโลก จะ Narrow Down ลงมา กลายมาเป็นเพียงการมีชีวิตอย่างมีความสุข ของผู้เรียนและครอบครัว ฉะนั้น เป้าหมาย ปรัชญา กรอบแนวคิด นโยบาย และกระบวนการต่างๆก็ย่อมเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของทักษะการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ที่ยิ่งต้องเข้มข้นมากกว่าเดิม เพื่อส่งเสริมให้สามารถวิเคราะห์ศักยภาพของตัวเอง อันนำไปสู่การสร้างอาชีพใหม่ที่เหมาะสมกับตนและบริบท หรือการคิดค้นธุรกิจ Startup ที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่น ที่จะเข้ามาแทนที่ธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ รวมถึงความสามารถในการเรียนรู้ปรับตัวกับสถานการณ์ที่ผกผัน ได้อย่างรวดเร็ว ล้วนเป็นสมรรถนะใหม่ที่ผู้เรียนในปัจจุบันจำเป็นต้องมี และแน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ กลไกการศึกษาทั้งหมดจะต้องเป็นลักษณะของการจัดการศึกษาทางไกล ที่มีทั้งในรูปแบบ Analog สำหรับผู้ด้อยโอกาส และในรูปแบบของ Digital Platform ซึ่งขณะนี้ก็เกิดการตื่นตัวอย่างกว้างขวางในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือและ Application เพื่อพัฒนาบทเรียน และรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ของผู้สอนไปสู่ผู้เรียนด้วยวิธีออนไลน์ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่อย่างไรก็ตามการกล่าวถึง หรือการตระหนักในมิติของการจัดการเรียนรู้ที่ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning ใน Virtual classroom ยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนักแต่ยังคงมุ่งประเด็นไปที่เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ยังมิใช่หัวใจสำคัญของการศึกษา
โดยการที่เราจะสามารถจัดการศึกษา Online แบบ Active Learning ให้เป็น High Functioning Classroom (ห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งกระบวนการและผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน) ได้นั้นจะต้องคำนึงถึงธรรมชาติผู้เรียน ผู้สอน และบริบทต่างๆรวมถึง สภาพแวดล้อม ภูมิสังคมที่ผู้เรียนเติบโตมา และสถานการณ์ของโลกปัจจุบันเพื่อการออกแบบโครงสร้างเนื้อหาที่สอดคล้องสามารถนำไปใช้ได้จริง และการออกแบบรายวิชาจะต้องไม่เป็นลักษณะของการจำแนกเป็นวิชาใดๆแต่จะต้องควบรวมรายวิชาในลักษณะของการบูรณาการให้น้ำหนักไปกับวิชาสัมมนา วิชาค้นคว้าอิสระ วิชาวิทยาการวิจัย และวิชาการสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นต้น โดยการเรียนรู้และมอบหมายงานต่อ Learner 1 Unit จะไม่ได้มีเพียงผู้เรียน 1 คน อีกต่อไป แต่ในการจัดการเรียนรู้ จะต้องรวมถึงบุคคลรอบข้างของผู้เรียนซึ่งก็คือผู้ปกครองหรือครอบครัวของผู้เรียน จึงนับเป็น 1 Unit เราคือครอบครัวและผู้ปกครองเด็กจะต้องรับรู้ว่าผู้เรียนกำลังเรียนสิ่งใด และกำลังทำสิ่งใด ถึงขนาดที่ว่าบางครั้งผู้ปกครองอาจจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเหมือน Facilitator หรือเป็น Coach ให้กับผู้เรียนในระหว่างที่ผู้เรียนกำลังลงมือเรียนรู้ด้วยตนเอง
โดยกรอบการเรียนรู้ก็จะต้องสอดคล้องกับ ชีวิตของผู้เรียนและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นโครงงานชีวิต การแก้ปัญหา การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะทำให้ชีวิตผู้เรียนดีขึ้น โดยคร่าวๆอาจจะมีขั้นตอนดังนี้
เริ่มต้นชั้นเรียนออนไลน์ให้ผู้เรียนแต่ละคนสลับไมค์กันพูดถึงตัวเอง วิเคราะห์ศักยภาพตัวเองให้เพื่อนฟังไม่ว่าจะเป็นข้อดี ข้อด้อย ความสามารถพิเศษ และแนวคิดสิ่งที่อยากทำเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้น โดย Application ที่เหมาะสมจะเป็น Application ที่ครูเป็นเหมือนกับแอดมินที่มีบทบาทเป็นเหมือนผู้ดำเนินรายการสามารถควบคุมสวิทช์ไมโครโฟนได้ จากนั้นขั้นตอนต่อมาเมื่อตนเองได้เข้าใจศักยภาพตนเองแล้วคุณครูได้เข้าใจศักยภาพของผู้เรียนแล้ว จึงเป็นขั้นนำสู่เนื้อหาการเรียนรู้โดยครูจะนำสื่อมัลติมีเดียต่างๆที่จะใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักเพื่อเปิดทาง หรือนำเข้าสู่เนื้อหา โดย Application ที่จะใช้ในขั้นตอนนี้ควรมีฟีเจอร์ที่สามารถสอดแทรก Media ต่างๆไม่ว่าจะเป็นวีดีโอคลิป หรือคลิปเสียงในระหว่างการสื่อสารกับผู้เข้าร่วมเรียนได้ จากนั้นก็ลองให้ผู้เรียนแชร์ไอเดียสิ่งที่ตัวเองสนใจอยากจะศึกษาค้นคว้า และลงมือทำหรือคิดค้นด้วยตนเอง โดยขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการที่ผู้เรียนจะแยกย้ายกันไปลงมือศึกษาค้นคว้าประดิษฐ์คิดค้นด้วยตนเองโดยอาศัยผู้ปกครองหรือสมาชิกในครอบครัวคนใกล้ชิดที่อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกันเป็นตัวช่วย โดยขอบเขตของงานอาจจะอยู่ที่ข้อจำกัดของเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ทรัพยากรต่างๆเท่าที่ในรอบรั้วชายคาที่ตนมีก่อน โดยระหว่างการลงมือปฏิบัติ ครูจะต้องมีการนัดหมายมารายงานความก้าวหน้าผ่านทางออนไลน์ โดยในระหว่างการรายงานความก้าวหน้าก็จะต้องมีการเก็บข้อมูล เพื่อทำการประเมินผลในลักษณะการประเมินตามสภาพจริง Formative Assessment โดยอาจจะอยู่ในรูปของการประเมินแบบ 360 องศา กล่าวคือ ผู้เรียนประเมินตนเองพร้อมรายงานความก้าวหน้า เพื่อนที่เข้าร่วมฟังแลกเปลี่ยนออนไลน์ร่วมประเมิน ครูประเมินจากกระบวนการและชิ้นงาน ซึ่งจะเป็นการประเมินเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจนลำดับสุดท้ายครูจึงประเมินที่ชิ้นงานสมบูรณ์หลังจากที่ผู้เรียนทำเสร็จสิ้นแล้ว โดยครูจะต้องสามารถแกะร่องรอย และกระบวนการในการลงมือทำจริงของผู้เรียนว่ามีประสิทธิภาพและได้ใช้ความรู้ในสาขาวิชาไหนบ้าง และครูจะต้องทำการออกแบบวิธีการวัดแบบ Summative ที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติศึกษา และเรียนรู้มา หลังจากนั้นครูจะต้องจัด Online Session เพื่อทำการ AAR (After Action Review) อีกครั้ง โดยประเด็นการพูดคุยกันจะเป็นเรื่องของจุดการเรียนรู้ที่ผ่านมาบทเรียนต่างๆอุปสรรค ปัญหา วิธีการแก้ไขตลอดจนมองไปที่ Next step ว่าจะพัฒนาตนเองอย่างไรในอนาคตและถ้ามีโอกาสได้เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ชิ้นงานอีกครั้งจะทำอะไรที่เป็นการต่อยอดที่อยากเห็นและลุกขึ้นจากชิ้นงานเดิม โดยคุณครูอาจจะชวนคิดให้ทำในสิ่งที่จะกระทบกับวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆก็ได้ ตัวอย่างเช่น ครั้งแรกอาจจะทำเพื่อตัวเองและครอบครัว ถัดไปอาจจะเริ่มทำเพื่อชุมชนใกล้เคียงต่อไปอาจจะเริ่มทำในสิ่งที่กระทบกับคนในประเทศ และสังคมโลกในที่สุด เป็นต้น โดยในการจัดการเรียนการสอนทางไกลในลักษณะนี้จะคล้ายๆกับการเรียนแบบ Problem based learning ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งครูจะต้องมีทักษะในการซักถาม การตั้งคำถามที่จะกระตุ้นให้เขาคิดอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นระหว่างทางไปจนถึงจบกระบวนการ นอกจากนี้จะต้องมีทักษะในการสอนอย่างสร้างสรรค์กล่าวคือต้องมีความสามารถในการเลือกใช้สื่อที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจ ออกแบบวิธีมอบหมายงาน วิธีการสื่อสาร อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งไม่สามารถเรียนรู้ผ่านการอบรมได้นอกเสียจากการ PLC (แบบ Online) แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเพื่อนครูด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ
แต่ทว่าอย่างไรก็ตามในสภาวะดังกล่าวแม้เราจะสามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้กับผู้เรียนส่วนใหญ่ได้แต่ก็ยังมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ขาดสัญญาณอินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่จะเรียนรู้ทางไกลได้ จึงอาจใช้อุปกรณ์ Analog เท่าที่มี เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ที่เขตพื้นที่การศึกษาจะสามารถเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้ และให้มีการจัดโปรแกรม วิทยุ หรือ โทรทัศน์ ท้องถิ่น ที่เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบ กับการมอบหมายงานที่คุณครูอาจจะส่งไปรษณีย์ไปเป็นระยะ แต่ถ้าผู้เรียนอยู่ในเขตห่างไกลอย่างที่สุดไม่มีแม้กระทั่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในยุคอนาล็อก หรือแม้แต่ไฟฟ้าก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชุดการเรียนรู้ที่เป็น Paper based แบบ Toolkit หรือ Package ที่ข้างในมีคู่มือการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีแบบฝึกหลากหลายโมดูล และแบบวัดประเมินผลสัมฤทธิ์ เเละส่งกลับให้ครูทางไปรษณีย์
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปข้างต้นเป็นเพียงแนวคิดในเรื่องของกิจกรรม แผนงานและกระบวนการจัดการศึกษาเพื่อรองรับกับสถานการณ์เท่านั้น แต่หัวใจสำคัญคือ การเปลี่ยนมโนทัศน์ในเรื่องการกำหนด Learning Outcome (ผลลัพธ์การเรียนรู้) ของผู้เรียนของประเทศไทย ที่น่าจะเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากโลกใบนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งการกำหนด Learning Outcome ดังกล่าวนี้ ไม่สามารถมาจากใครคนใดคนหนึ่งได้ แต่จะต้องเป็นการระดมสมองช่วยกันออกความคิดเห็นจากประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิ นักปฏิบัติ นักวิชาการการศึกษา จากทุกภาคส่วน มาร่วมกันรังสรรค์และสังเคราะห์ Learning Outcome ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต จนเหนี่ยวนำให้เกิดกลไก และกระบวนการจัดการศึกษาที่ดีและเหมาะสม จนผู้เรียนพัฒนาได้ถูกทางเติบโต มีความสุข มีสัมมาชีพที่ดีเป็นประชาชนที่ดี มีคุณภาพช่วยบ้านเมืองประเทศชาติพัฒนาต่อไป
Related Courses
เทคนิคและวิธีการสอนสมัยใหม่
การใช้คำถาม เครื่องมือ การนำเสนอ ที่แปลกใหม่ น่าสนใจ มีส่วนสำคัญในการสร้างห้องเรียนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม เรียนรู้วิธีการถาม กา ...
ท่องดวงดาวในระบบสุริยะไปกับ AR
การเรียนรู้เรื่องดาวในระบบสุริยะ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน เพราะมีดวงดาวต่าง ๆ มากมาย แต่ในปัจจุบันได้มีแอปพลิเคชันที่ ...
การออกแบบและการสร้างสื่อเทคโนโลยีสำหรับห้องเรียนอัจฉริยะ
หลักสูตรสำหรับครูที่ต้องการออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อ ...
การออกแบบและการสร้างสื่อเทคโนโลยีสำหรับห้องเรียนอัจฉริยะ
ตัวช่วยทำPortfolioให้โดนใจโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์
ตัวช่วยน้องๆ นักเรียน นักศึกษาที่กำลังหาไอเดีย และเครื่องมือที่ใช้ได้ง่ายๆ ในการทำแฟ้มสะสมผลงานที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร ซึ่งสามารถทำ ...