สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ประเด็นความหมายของ Dialogue ไว้อย่างชัดเจนคือ “การทำให้เด็กมีความมุ่งมั่นต่อการทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องทำให้มีคุณภาพสูง สิ่งนี้ยิ่งใหญ่ที่สุด” เป็นความหมายที่ให้ไว้อย่างน่าคิดและเป็นความหมายที่คุณครูจะต้องนำมายึดถือปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก คือแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า Active Learning หรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการคิดที่เรียกว่าการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนทำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) ผ่าน กระบวนการสานเสวนา (Dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครูและระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
สานเสวนา (Dialogue) คือ การแลกเปลี่ยนกันทางวาจาที่มีความพิถีพิถันด้านสารสนเทศความคิด (idea) ข้อมูลหรือสารสนเทศ (information) และข้อคิดเห็น โดยสานเสวนามีมิติด้านการฟังกัน และการไม่ด่วนตัดสินอยู่ด้วย ซึ่งครูต้องมีความสามารถในการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด และสามารถสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนได้ถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นคำพูดคือการสะท้อนความคิดของตัวเองแล้วก็ต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดความสนใจ อยากฟังซึ่งกันและกัน
เป้าหมายของการพูดในห้องเรียนมีอย่างน้อย 6 ประการคือ
1.การกระตุ้นการคิด 2.การกระตุ้นการเรียนรู้ 3.การสื่อสาร 4.การสร้างความสัมพันธ์เชิงประชาธิปไตย 5.เพื่อการสอน 6.เพื่อการประเมิน ดังนั้นครูต้องใช้คำพูดที่ช่วยเปิดทางหรือการชี้ทางเพื่อให้นักเรียนเข้าถึงหลักการและกรอบความคิดได้ง่ายขึ้น โดยครูจะต้องทำตัวเป็นนักปฏิบัติการ ที่มีความสร้างสรรค์ในการจัดบรรยากาศเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด เช่นแทนที่ครูจะเป็นผู้ถามฝ่ายเดียวครูจะต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้ตั้งคำถาม เพื่อถามเปิดประเด็นการเรียนรู้ เป็นต้น
ข้อแตกต่างของกิจกรรมในชั้นเรียนที่ใช้ “การสอนเสวนา” กับชั้นเรียนที่สอนแบบเดิม
1.การใช้คำถามปลายปิดกับคำถามปลายเปิด ครูในกลุ่มการสอนแบบเสวนาจะใช้คำถามปลายเปิดมากกว่าครูที่ใช้การสอนแบบเดิม
2.มีการเปลี่ยนรูปแบบของการพูดของครูที่ต้องพูดให้นักเรียนได้คิดและได้ตอบด้วยตัวเอง
3.คุณครูใช้คำถามปลายเปิดมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยใช้คำถาม 3 ระดับคือ
1.) คำถามเพื่อหาข้อมูลทั่วไป
2.) คำถามเพื่อหาเหตุผล
3.) คำถามเพื่อชวนหาทางเลือก
4.มีดุลยภาพระหว่างคำพูดของนักเรียนแบบตอบสั้นๆกับการพูดแบบมีการขยายความ
5.รูปแบบการพูดของนักเรียนเป็นการพูดคำอธิบายที่สะท้อนการคิดระดับสูงเพิ่มขึ้น
“สิทธิที่จะเงียบ” (GRIGHT TO BE SILENT) นักเรียนมีสิทธิที่จะไม่พูด ไม่ตอบคำถามไม่เปล่งวาจาคุณครูจะต้องตระหนักและจัดการสิทธิของเด็กอย่างถูกวิธี ครูต้องรู้ว่านักเรียนมีปัญหาในการสื่อสารหรือไม่อย่างไร ถ้ามีปัญหาต้องหาทางช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาระยะยาวของนักเรียนผู้นั้น การพูดเพื่อนำไปสู่การขยายความ คือครูจะต้องมีเป้าหมายว่านักเรียนแต่ละคนจะแชร์และทำความชัดเจนต่อความคิดของตนเอง นั่นคือ เด็กจะมีเวลาคิด จะมีคนพูดและคนฟัง มีการเขียนในช่วงเวลาที่กำลังคิด หรือถ้าฟังไม่ชัดเจนก็สามารถที่จะขอให้พูดอีกทีได้ไหม หรือให้ยกตัวอย่างได้ไหม เป็นต้น ดังนั้นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ นักเรียนจะต้องฟังซึ่งกันและกันอย่างตั้งใจมากขึ้น โดยมีการใช้คำพูดใหม่หรือพูดซ้ำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาจจะมีการหาหลักฐานมาสนับสนุนความคิดได้มากขึ้น หลักฐานคืออะไร หาข้อสรุปร่วมกัน หรือหาเหตุการณ์ที่ท้าทายหรือยกตัวอย่างข้อโต้แย้งในชั้นเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจมากยิ่งขึ้นอย่างมีประชาธิปไตย อาจจะมีการไม่เห็นด้วย จะต้องมีการเคารพความคิดเห็นส่วนใหญ่นั่นเอง สุดท้ายที่สำคัญที่สุดในการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนไม่ให้เงียบเหงาให้เป็นบรรยากาศที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้มากที่สุดในการส่งเสริมความสนใจใคร่รู้ใคร่เรียนให้แก่ผู้เรียน ย่อมเป็นแรงจูงใจภายนอกที่กระตุ้นให้ผู้เรียนรักการเรียน รักการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียน และช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติอันดีงามให้แก่นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุขและสนุกในการเรียนรู้นั่นเอง
ดังนั้น สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก (Dialogue) เป็นแนวทางสอนด้วยคำพูด ที่ใช้พลังของการสานเสวนา เพื่อกระตุ้นและขยายความคิด การเรียนรู้ และความเข้าใจของนักเรียน และเพื่อเอื้อให้นักเรียนอภิปราย ให้เหตุผล และโต้แย้งการสอนด้วยสานเสวนา (Dialogue) เป็นการเชื่อมการพูด การคิด ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความรู้ และวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ก่อตัวเป็นกรอบความคิด ความเชื่อและคุณค่า รวมทั้งพัฒนาวิธีพูดและวิธีฟัง เพื่อการพัฒนานักเรียนได้อย่างมีคุณภาพตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้สามารถรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ www.StarfishLabz.com
Related Courses
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.4-6
เด็กระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 จะอยู่ในช่วงวัยที่เริ่มเรียนรู้จักพัฒนาตนเอง สนใจความรู้สึกตนเองและผู้อื่น เริ่มให้ความสนใจเพศตร ...
Micro Learning เรียนคณิตศาสตร์ ม.1-3
คอร์สนี้เป็นการเรียนรู้การเกี่ยวกับการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่1-3 โดยแบ่งเป็นบทเรียนที่เหมาะสมกับต่ละรดับชั้น ...
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...
STAMPER Learning การเรียนรู้แบบบูรณาการ
STAMPER Learning เป็นการบูรณาการแบบใหม่ ครบจบทั้งขั้นตอนการเรียนรู้ และการประเมินผลสำหรับครู ซึ่งทำได้ง่ายๆ ในกิจกร ...