เมื่อลูกเติบโตออกห่างพ่อแม่รับมือความอ้างว้างอย่างไร
เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นเป็นธรรมดาที่พวกเขาจะเริ่มแยกตัวออกห่างจากพ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งเป็นขั้นหนึ่งของพัฒนาการที่วัยรุ่นเริ่มแสวงหาความเป็นตัวของตัวเองและเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาของตนเองโดยไม่ขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักรู้สึกว่าลูกของตนเปลี่ยนไป เก็บตัวมากขึ้น ชอบหลบหน้า ไม่ร่วมกิจกรรมกับครอบครัวเหมือนเคย
พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่ได้เตรียมรับความเปลี่ยนแปลงนี้อาจรู้สึกน้อยอกน้อยใจหรือกังวลว่าลูกกำลังออกห่างไปทุกทีแต่หากมองอีกด้านหนึ่งจะพบว่านี่เป็นเรื่องปกติและถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่ลูกสามารถเติบโตและยืนหยัดได้ด้วยตัวของตัวเองแทนที่จะน้อยใจ ตัดพ้อ ประชดประชันใส่ลูกวัยรุ่น การทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะช่วยลดช่องว่างไม่ให้กว้างเกินไป
เข้าใจพฤติกรรมแยกตัวของวัยรุ่น
วัยรุ่น คือ วัยแห่งการเป็นตัวของตัวเองและมีความสามารถที่จะช่วยเหลือตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงพ่อแม่เหมือนที่ผ่านๆ มาจึงไม่แปลกหากในวัยนี้พ่อแม่จะรู้สึกว่าลูกวัยรุ่นเอาแต่เก็บตัวในห้องเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่หรือกระทั่งตีตัวออกห่างจากพ่อแม่มากขึ้นทุกทีซึ่งพฤติกรรมของวัยรุ่นที่เปลี่ยนไปนี้อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกกังวลหรือกระทั่งเศร้า เสียใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการและถือเป็นสัญญาณที่ดี การที่วัยรุ่นแยกตัวตนจนพ่อแม่รู้สึกว่าลูกตีตัวออกห่างในทางจิตวิทยาเรียกว่ากระบวนการสร้างตัวตน (Individuation) ซึ่งก็คือการที่วัยรุ่นกำลังเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั่นเองในกระบวนการนี้หากพ่อแม่เข้าใจและเปิดโอกาสให้ลูกได้แสวงหาตัวตนลองผิดลองถูกบนเส้นทางที่เหมาะสม มีพื้นที่ให้ลูกได้แสดงศักยภาพความเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ลูกก็จะมีรากฐานที่แข็งแรงเพื่อพัฒนาตนเองต่อไปในทางกลับกันหากพ่อแม่ไม่รับฟัง ไม่เข้าใจความรู้สึก ไม่มีพื้นที่ให้ลูกได้เติบโตเป็นตัวของตัวเองคอยบังคับกะเกณฑ์สิ่งที่ตามมาก็คือ วัยรุ่นอาจสูญเสียความมั่นใจในตนเองขาดพื้นฐานที่ดีจนไม่สามารถพัฒนาเติบโตอย่างมีศักยภาพได้ กระบวนการสร้างตัวตนของวัยรุ่นมักเริ่มต้นจากการเลือกกลุ่มเพื่อน เลือกงานอดิเรกเลือกเสื้อผ้าการแต่งตัวบางครั้งบางตัวเลือกของลูกอาจแตกต่างไปจากค่านิยมของครอบครัวแต่หากทางเลือกของลูกไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือสร้างความเดือดร้อนให้ส่วนรวมพ่อแม่ก็ควรให้การสนับสนุนยอมรับและเข้าใจเพื่อให้กระบวนการสร้างตัวตนของลูกดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์
ช่วยให้ลูกมีตัวตนแข็งแรง
แม้ว่าการที่ลูกเติบโตตามวัย อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกใจหายแต่ในความเป็นจริงแล้วบทบาทของพ่อแม่ไม่ได้หมดลงเพียงเท่านี้ในทางกลับกันช่วงวัยที่ลูกสร้างตัวตนนั้นบทบาทของพ่อแม่ยังคงมีความสำคัญเพียงแต่ว่าเปลี่ยนรูปแบบจากการเป็นผู้ดูแล (Care Provider) เตรียมอาหารรับส่ง ดูแลใกล้ชิดมาเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือทำหน้าที่คล้ายๆกับไลฟ์โค้ชซึ่งหากพ่อแม่เข้าใจว่าความสำคัญของตนเองยังไม่ได้หายไปก็อาจช่วยลดความรู้สึกใจหายเมื่อลูกค่อยๆ เติบโตได้ระดับหนึ่ง
ทั้งนี้วิธีที่พ่อแม่จะช่วยให้คำแนะนำวัยรุ่นที่เริ่มเติบโต สร้างตัวตนของตนเองได้ คือ
- หยุดพฤติกรรมที่ทำให้ลูกยิ่งออกห่าง: ไม่ว่าจะเป็นการบ่น ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของลูก ถามเซ้าซี้ ไปจนถึงการขู่ลงโทษ
- สังเกตความสนใจ: แทนการพร่ำบ่นและคาดหวังให้ลูกทำตามใจ หรือตามความคาดหวังของพ่อแม่ลองเปลี่ยนมาสังเกตความสนใจของลูกช่วงนี้ลูกชอบฟังเพลงอะไรใครเป็นศิลปินคนโปรดกิจกรรมที่ลูกชอบทำคืออะไรแล้วหาโอกาสศึกษาสิ่งที่ลูกสนใจเพื่อจะได้พูดคุยกับลูกรู้เรื่อง และยังแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณใส่ใจอีกด้วย
- ยอมรับเพื่อนของลูก: สำหรับวัยรุ่นเพื่อนมีความสำคัญมากหากพ่อแม่ยอมรับเพื่อนๆ ของลูกก็จะทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ไปด้วยซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับวัยรุ่นได้
- ปล่อยให้ลูกแก้ปัญหา: พ่อแม่ทุกคนย่อมห่วงลูกเมื่อเห็นลูกมีปัญหาก็อยากยื่นมือเข้าไปช่วยแต่สำหรับวัยรุ่นการที่พ่อแม่ยื่นมือเข้าช่วยเร็วเกินไปอาจทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เชื่อมั่นในตัวเขา ดังนั้น พ่อแม่ไม่ควรเร่งรัดแต่ควรปล่อยให้ลูกลองรับมือกับปัญหาด้วยตัวเองก่อนแต่อาจบอกให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่อยู่ตรงนี้และพร้อมเสมอหากลูกต้องการคำแนะนำ
ดูแลใจตัวเอง เมื่อลูกเติบโตออกห่าง
ขณะที่ดูแลลูกวัยรุ่นแล้วช่วงนี้อาจถึงเวลาที่พ่อแม่ต้องกลับมาดูแลจิตใจตัวเองด้วยเช่นกันพ่อแม่ควรทำความเข้าใจว่าลูกเติบโตขึ้นทุกวันเพราะฉะนั้นบทบาทการเป็นพ่อแม่ก็ต้องเติบโตตามลูกด้วยจะคอยประคบประหงมลูกเหมือนตอนเป็นเด็กเล็กๆ คงไม่ได้อีกแล้วความรู้สึกใจหาย โศกเศร้าที่เห็นลูกน้อยค่อยๆ เติบโตออกห่างไปทุกที เป็นความรู้สึกที่รับมือได้ยากแต่กระนั้น พ่อแม่ก็ควรโอบรับความรู้สึกนี้และรู้เท่าทันว่าความโศกเศร้าไม่ต้องฝืนตัวเองเพราะนี่เป็นความรู้สึกปกติที่เกิดขึ้นได้ อาจเปิดใจพูดคุยกับคู่ชีวิตหรือเพื่อนสนิทถึงความรู้สึกที่กำลังเผชิญ ความกังวลต่างๆ หรือใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อให้ก้าวผ่านความรู้สึกอ้างว้างไปได้
- กลับไปทำงานอดิเรกที่ชอบ: ก่อนมีลูกคุณอาจชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เล่นโยคะ ฯลฯ พอมีลูกงานอดิเรกเหล่านี้ก็ค่อยๆเลือนหายไปตอนนี้อาจเป็นเวลาที่จะได้กลับไปทำสิ่งที่ชอบอีกครั้ง
- ค้นหาความสนใจใหม่: หากมีกิจกรรมที่อยากทำแต่ไม่มีโอกาสเสียทีนี่อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะยิ่งหากว่าความสนใจใหม่ๆ ตรงกับสิ่งที่ลูกชอบ เช่น ลูกชอบเพ้นท์ภาพสีน้ำ ก็อาจชวนกันไปลงคอร์สหนึ่งวันได้ใช้เวลาร่วมกันและได้ค้นพบความชอบใหม่ๆ ได้
- ฝึกสมาธิ: บางครั้งจิตใจว้าวุ่นก็สงบลงได้ด้วยการอยู่กับลมหายใจผ่อนคลายด้วยการทำสมาธิ เพื่อค่อยๆ พิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องดำเนินไปตามทางความเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครหยุดได้
- ปรึกษาจิตแพทย์: หากพบว่าความรู้สึกโศกเศร้ามีมากเกินจะรับมือ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวควรพบจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสม
สุดท้ายแล้ว พ่อแม่อาจต้องยอมรับว่าลูกเกิดมาเพื่อให้เราเรียนรู้การรักโดยไม่ครอบครอง พ่อแม่มีหน้าที่ดูแลเพื่อให้เขาเติบโตไปมีชีวิตของตนเอง ไม่ใช่มีชีวิตเพื่อเราหรือเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะสุดท้ายแล้วลูกต้องยืนอยู่บนโลกใบนี้ให้ได้ แม้ไม่มีเราอยู่แล้วก็ตาม
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...