5 วิธีรับมือความเครียดช่วงสอบที่พ่อแม่ช่วยได้
รู้ไหมว่าความเครียดไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้นแต่เด็กๆโดยเฉพาะวัยรุ่น วัยเรียน ก็เผชิญกับความเครียดไม่น้อยไปกว่าผู้ใหญ่ยิ่งหากเข้าสู่ช่วงสอบก็มีแนวโน้มว่าความเครียดของวัยเรียนอาจเพิ่มขึ้นได้ StarfishLabZ ชวนพ่อแม่มาทำความเข้าใจความเครียดช่วงสอบของวัยรุ่น มาดูกันว่าสาเหตุใดบ้างที่ทำให้ลูกเครียดและพ่อแม่ช่วยรับมือได้อย่างไร
เข้าใจความเครียดในวัยรุ่น
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และอารมณ์อย่างรวดเร็วผนวกกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวก็อาจทำให้วัยรุ่นมีความเครียดบางกรณีที่ไม่สามารถปรับตัวรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจนทำให้วัยรุ่นมีความเครียดสะสมในระดับที่มากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายทำให้ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดหลัง ใจสั่น อีกด้านหนึ่งความเครียดที่สะสมก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตโดยตรงทำให้ หงุดหงิด โกรธง่าย เบื่อหน่าย คิดมาก วิตกกังวล เศร้าหมอง ไม่มีสมาธิ หากรับมือไม่ได้ก็อาจแสดงออกทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เงียบขรึม เก็บตัว ชวนทะเลาะ เพิ่มความเสี่ยงการใช้สารเสพติดกรณีมีภาวะเครียดรุนแรงอาจถึงขั้นเกิดภาวะซึมเศร้า หรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายซึ่งช่วงเวลาที่วัยรุ่นเสี่ยงมีความเครียดมากที่สุดคือช่วงการเปลี่ยนผ่านต่างๆ เช่น ย้ายโรงเรียน ย้ายที่อยู่ หรือช่วงการสอบโดยเฉพาะการสอบที่มีความสำคัญกับชีวิตอย่างสอบปลายภาค หรือสอบ TCAS
เพราะอะไรวัยรุ่นจึงเครียดช่วงสอบ
หลังจากตั้งใจเรียนมาทั้งปีเป็นธรรมดาที่ยิ่งใกล้วันวัดผลมากเท่าไรความเครียดของนักเรียนส่วนใหญ่ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้นบางคนอาจกังวลว่าจะทำข้อสอบพลาดบางคนอาจคิดกลัวไปถึงอนาคตว่าหากสอบไม่ผ่านจะทำอย่างไร บางคนก็ถูกพ่อแม่กดดันให้อ่านหนังสือเรียนพิเศษหนักมากจนไม่มีเวลาพักผ่อนหลากหลายเหตุผลที่ทำให้ช่วงใกล้สอบเป็นเวลาเปราะบางของวัยรุ่นลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่อาจเป็นสาเหตุให้วัยรุ่นเผชิญกับความเครียด
- ความคาดหวังของพ่อแม่: แน่นอนว่าพ่อแม่ย่อมหวังดีและต้องการให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุดแต่การแสดงความคาดหวังมากเกินไปไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามก็อาจสร้างความกดดันจนทำให้ลูกเกิดความเครียดได้
- โซเชียล มีเดีย: การใช้โซเชียล มีเดียมากเกินไปอาจทำให้ลูกเห็นโพสต์ของเพื่อนๆ คนรู้จักที่ต่างเตรียมความพร้อมในการสอบบางคนไปเรียนพิเศษกับติวเตอร์ชื่อดังบางคนมีครูมาสอนตัวต่อตัว เรื่องราวบนสังคมออนไลน์อาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบทำให้วัยรุ่นเสียความมั่นใจ จนกลายเป็นกังวล
- มีปัญหาด้านเวลา: วัยรุ่นบางคนอาจมีปัญหาด้านการบริหารเวลา เช่น ต้องรอผู้ปกครองมารับจนเย็น รถติด กลับถึงบ้านก็เหนื่อยเกินกว่าจะอ่านหนังสือสอบหรือบางคนต้องช่วยงานพ่อแม่ส่งผลให้ไม่มีเวลาอ่านหนังสือความรู้สึกว่าตนเองไม่พร้อมก็อาจทำให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน
5 วิธีรับมือความเครียดช่วงสอบที่พ่อแม่ช่วยได้
อย่างไรก็ตามความเครียดช่วงสอบของวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยความเครียดเพียงเล็กน้อยถือเป็นตัวกระตุ้นที่ดีให้วัยรุ่นมีความมุ่งมั่นทำเพื่อเป้าหมายแต่หากความเครียดเริ่มสะสมจนมากเกินไปพ่อแม่ผู้ปกครองพบว่าลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปก็อาจเป็นสัญญาณว่าความเครียดของวัยรุ่นอาจมากเกินกว่าที่พวกเขาจะรับมือสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองทำได้ มีดังนี้
1.ลดภาระความรับผิดชอบในบ้าน: วัยรุ่นบ้านไหนที่มีงานบ้านต้องทำ หรือต้องช่วยงานพ่อแม่ เช่น พ่อแม่ที่มีกิจการส่วนตัว ขายอาหาร ขายของต่างๆ อาจอนุญาตให้ลูกเว้นภาระความรับผิดชอบไปก่อนในช่วงใกล้สอบเพื่อให้ลูกมีเวลาอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบและพักผ่อนเพิ่มขึ้น
2.ช่วยจัดพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ: หากอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ วัยรุ่นไม่มีห้องส่วนตัวอาจหาสักมุมในบ้านจัดเป็นมุมอ่านหนังสือให้ลูกเพื่อให้เขามีสมาธิแต่หากหาไม่ได้จริงๆ ควรอนุญาตให้ลูกออกไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุดโรงเรียน หรือ Co-working space โดยอาจกำหนดเวลาให้ชัดเจน เช่น ทุกเช้าวันเสาร์ หรือทุกเย็นเป็นเวลา 2 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน เป็นต้น
3.นอนตรงเวลา: แม้ว่าทุกวินาทีจะสำคัญในช่วงใกล้สอบแต่การนอนเป็นเวลาและนอนให้เพียงพอมีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจผู้ปกครองอาจช่วยลูกจัดสรรเวลาอ่านหนังสือและกำชับให้ลูกเข้านอนเป็นเวลาหรืออย่างน้อยๆ ควรพักผ่อนให้ครบ 7-8 ชั่วโมง เพราะการอ่านหนังสือดึกดื่นจะไม่มีความหมายเลย หากอ่านไปด้วยความอ่อนเพลียและขาดสมาธิเพราะความเหนื่อยล้า
4.พักบ้างก็ได้: หากเห็นว่าลูกเริ่มจริงจังมากเกินไปชวนลูกออกไปเดินเล่นไปกินข้าวไปคาเฟ่การเปลี่ยนอิริยาบถพักสัก 2-3 ชั่วโมง ช่วยลดความเครียดได้อย่างน่าอัศจรรย์
5.หาเวลาพูดคุย: หากเป็นไปได้ในแต่ละวันครอบครัวควรมีเวลาที่นั่งลงคุยกันแบ่งปันเรื่องที่แต่ละคนพบเจอในวันนั้นๆ พ่อแม่อาจถามลูกว่ามีความกังวลอะไรบ้างและเมื่อมีโอกาสควรแสดงให้ลูกรับรู้ว่าสิ่งที่สำคัญกว่าผลสอบคือความพยายามหากทำเต็มที่แล้วพ่อแม่ภูมิใจในตัวลูกเสมอ การที่วัยรุ่นรู้ไม่ว่าจะอย่างไรก็มีครอบครัวยอมรับและให้กำลังใจจะช่วยคลายความกังวลไปได้มาก
สุดท้ายแล้วผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของวัยรุ่น ไม่ต้องถึงขั้นเข้าไปดูแลใกล้ชิดเพราะอาจทำให้วัยรุ่นรู้สึกถูกกดดันแต่หากสังเกตเห็นว่าลูกมีภาวะเครียดมากเกินไปจนอาจกระทบชีวิตประจำวันหรือมีความเสี่ยงทำร้ายตัวเองควรรีบพาลูกปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...