รู้ทัน Gender-Based Violence ป้องกันลูกชายไม่ให้ทำร้ายผู้หญิง
ข่าวคราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิง ยังคงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เสมอผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะจากคนในครอบครัว คนรัก หรือกระทั่งคนไม่รู้จักกัน สิ่งที่น่ากังวลมากไปกว่านั้นก็คือสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าผู้กระทำ (ที่ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย) คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสมควรแล้ว เพราะเหยื่อเป็น “เพศหญิง”
Gender-Based Violence (GBV) คือคำที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เรียกความรุนแรงดังกล่าว เป็นความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ที่ผู้ตกเป็นเหยื่อถูกกระทำความรุนแรงเพราะเพศสภาพของตน ซึ่งไม่ว่าเพศหญิง, เพศชาย หรือ LGBTQ+ ก็สามารถตกเป็น ‘เหยื่อ’ ได้ อย่างไรก็ตาม จากสถิติทั่วโลก ดูเหมือนว่าผู้หญิงและเด็กหญิงมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเผชิญกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า 1 ใน 3 ของเพศหญิงทั่วโลกเคยถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต นอกจากนี้ การสำรวจเมื่อปี 2018 ยังพบว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์จำนวน 35 ล้านราย ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ความรุนแรงต่อเพศหญิงเป็นปัญหาวิกฤติระดับโลกอีกด้วย
ทำไมต้องทำร้ายกันเพราะความแตกต่างทางเพศ
ถึงแม้ว่าวิวัฒนาการต่างๆ บนโลกจะพัฒนาจนก้าวหน้าขนาดที่บางสายงานสามารถใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์ได้แล้วก็ตาม แต่ในระดับบรรทัดฐานของสังคม แนวคิดเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงฝังรากลึกยากจะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆสังคมส่วนใหญ่ยังมองภาพรวมของผู้หญิงว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ นอกจากการเป็นแม่ที่ดี และภรรยาที่ดีแล้ว เพศหญิงยังต้องพึ่งพิงฝ่ายชาย ทำให้เกิดการเหมารวมว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และมีหน้าที่เพียงให้กำเนิดบุตรเท่านั้น ยิ่งในสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ยกย่องให้เพศชายมีอำนาจเหนือกว่า เก่งกว่า เป็นผู้นำมากกว่า การให้ค่าของสองเพศที่ไม่เท่ากันนี่เอง จึงอาจนำไปสู่ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศหรือ GBV ได้
ความรุนแรงในรูปแบบ GBV ที่พบได้ มีทั้งการคุกคามทางเพศ, การกระทำความรุนแรงต่อร่างกาย-จิตใจ, การข่มขู่ บังคับ หรือควบคุมด้วยการใช้อำนาจที่เหนือกว่า เช่น สามีใช้กำลังบังคับภรรยาให้ทำตามใจตน หรือพ่อทำร้ายร่างกายลูกสาวที่ไม่เชื่อฟัง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้มักส่งผลร้ายต่อร่างกายจิตใจของเหยื่อ หรือกระทั่งอาจทำให้เหยื่อถึงแก่ชีวิตได้
สิ่งที่น่ากลัวคือ ผู้มีพฤติกรรม GBV มักไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด พวกเขามักคิดว่า เหยื่อสมควรแล้ว เพราะมีชุดความคิดที่เป็นมายาคติเกี่ยวกับเหยื่อ เช่น ผู้หญิงที่ดี ไม่แต่งตัวโป๊ เมื่อพบเห็นผู้หญิงที่แต่งตัวโชว์เนื้อหนัง จึงเชื่อว่าตนเองจะทำอะไรกับผู้หญิงที่แต่งตัวเช่นนี้ก็ได้ เป็นความผิดของเพศหญิงที่แต่งตัวโป๊เอง ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายชาย ทั้งที่ความจริงแล้ว การแต่งตัวเป็นสิทธิส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิในร่างกายตนเอง และการแต่งตัวไม่อาจวัด “ความดี” หรือ “คุณค่า” ของคนๆ นั้นได้ แต่เพราะมายาคติที่ผิดเพี้ยนที่มีต่อเพศหญิงนี่เอง จึงทำให้เกิดความรุนแรงรูปแบบ GBV ซ้ำๆ ในสังคมไทย
เลี้ยงลูกชายอย่างไร โตไปไม่ทำร้ายเพศหญิง
ไม่มีการสอนใดได้ผลมากไปกว่าการเป็นตัวอย่างที่ดี บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองในครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยหล่อหลอมแนวคิดความเท่าเทียมกันทางเพศ หากเด็กๆ เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เขาย่อมเรียนรู้ว่านี่คือสิ่งที่คนเราควรปฏิบัติต่อกัน
ในทางตรงกันข้าม หากเด็กๆ เติบโตขึ้นมากับครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง พ่อทำร้ายแม่ ทำร้ายร่างกายลูกๆ ไม่ว่าจะด้วยวาจา หรือการกระทำ พวกเขาย่อมซึมซับสิ่งเหล่านั้น เด็กบางคนอาจรู้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ดี ไม่ควรทำตาม แต่ขณะเดียวกัน เมื่อไม่เคยเห็นตัวอย่างที่ดี เขาก็ย่อมไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องที่ควรทำคืออะไร
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองสามารถช่วยปลูกฝังแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ และการปฏิบัติตนต่อทุกคนในสังคมด้วยการเคารพให้เกียรติไม่ว่าจะเป็นเพศใด ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- คุยกับลูกเรื่องสิทธิสตรี: วิธีคุยเรื่องนี้อย่างง่ายที่สุดคือ แนะนำให้ลูกอ่านหนังสือเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิง เช่น เรื่องราวของ Malala Yousafzai วัย 15 ปีที่ต่อสู้เพื่อสิทธิการศึกษาหลังจากถูกกลุ่มก่อการร้ายคุกคาม หรืออาจเปิดประเด็นชวนคุยจากเรื่องที่เด็กทุกคนคุ้นเคย อย่าง เจ้าหญิงนิทรา หรือกระทั่งสโนไวท์ ที่นอนหมดสติอยู่แล้วจู่ๆ เจ้าชายก็มาจุมพิต ถามลูกว่าสิ่งที่เจ้าชายทำถูกต้องหรือไม่ ลูกคิดเห็นอย่างไร ก่อนเปิดประเด็นให้ลูกคิดตามว่า การจุมพิตของเจ้าชายคือการละเมิดร่างกายของเจ้าหญิงหรือเปล่า ถ้าลูกเป็นเจ้าชายลูกจะทำเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
- เป็นผู้ชายร้องไห้ได้: เปิดโอกาสให้ลูกแสดงความรู้สึก ไม่ควรปลูกฝังแนวคิดว่า เป็นผู้ชายไม่ร้องไห้ หรือ การร้องไห้เท่ากับอ่อนแอ เพราะไม่ว่าเพศไหน ทุกคนย่อมเจ็บได้ ร้องไห้เป็น การปลูกฝังแนวคิด “ลูกผู้ชาย” ด้วยการสร้างภาพความแข็งแรง เป็นผู้ปกป้อง ไม่แสดงความรู้สึก เป็นการสร้างความคาดหวังเกินจริงที่อาจสร้างความกดดันให้ลูกชายโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว สิ่งที่ควรทำคือ ช่วยสะท้อนอารมณ์ให้ลูก เช่น เมื่อลูกหัวเสียเพราะทะเลาะกับเพื่อน ควรถามโดยระบุอารมณ์ว่า ลูกกำลังหงุดหงิดใช่ไหม เพราะโดยทั่วไปเมื่อคนเรารู้ว่าตนเองกำลังรู้สึกเช่นใด ก็จะสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น หรือเมื่อลูกเสียใจ ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจ รับฟังแทนการตัดสินและบอกให้ลูกหยุดร้องไห้
- ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายข้าวของ: การเปิดโอกาสให้ลูกชายได้แสดงความรู้สึก ไม่กดเก็บอารมณ์ไว้เป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้นไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดความรู้สึกเชิงลบ เช่น โศกเศร้า เสียใจ ผิดหวัง แล้วจะแสดงออกด้วยพฤติกรรมรุนแรงได้ ผู้ปกครองควรสนับสนุนให้เด็กๆ แสดงความรู้สึก แต่ก็กำหนดขอบเขตการแสดงพฤติกรรมด้วยกฎ 3 ประการคือ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่นและไม่ทำร้ายข้าวของ เพราะแต่ละคนมีสิทธิที่จะรู้สึกอย่างไรก็ได้ แต่ทั้งนี้การแสดงออกเชิงพฤติกรรมนั้นจำเป็นต้องมีขอบเขต
- คุยเรื่องเพศกับลูก: แม้เพศสัมพันธ์จะเรื่องธรรมชาติ ที่เด็กๆ อาจเรียนรู้ได้เองตามวัย แต่การเรียนรู้จากสื่อต่างๆ อาจไม่ได้สอนเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกันได้เท่ากับการเรียนรู้ผ่านการแนะนำของพ่อแม่ สอนให้ลูกรู้จักเรื่อง Consent หรือ การยินยอม การมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งต้องเกิดจากการยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมแต่ถูกบังคับ นั่นเท่ากับการละเมิดซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดเข้าข่ายทำร้ายผู้อื่น นอกจากนี้ สอนเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่ควรพูดถึงด้วย
สังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน มีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมายรอบตัวลูกหลานของเรา และสิ่งต่างๆ เหล่านั้นล้วนมีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมตัวตนของลูกว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร หน้าที่ของพ่อแม่คือการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ุแห่งความคิดที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ลูกสามารถคัดกรองสิ่งๆ ต่างๆ ที่ผ่านเขามาและเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการเห็นคุณค่าในมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
โรงเรียนปลาดาว ต้นแบบนวัตกรรมการเรียนรู้สู่อนาคต
โรงเรียนปลาดาว เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะสำคัญทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิต ผ่าน ...