เมื่อโลกโซเชียลกระตุ้นความอิจฉา พ่อแม่เยียวยาลูกอย่างไรดี
ทุกวันนี้โซเชียลมีเดีย แทบจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเราจนแทบแยกออกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านสังคมออนไลน์ บางคนก็ใช้โซเชียลมีเดีย เพื่ออัปเดตข่าวสารไม่ให้ตกเทรนด์ บางคนใช้หาสถานที่กิน ที่เที่ยวตามเพจดังรีวิว และแทบทุกคนใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อติดตามดูชีวิตของเพื่อนหรือคนรู้จักว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร ไปเที่ยวไหน กินอะไรการได้เห็นชีวิตของคนรู้จักผ่านโลกออนไลน์แทบจะตลอดเวลา แม้จะมีข้อดีคือทำให้คนเราเชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งการรับรู้นั้นก็อาจมากเกินจำเป็น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจวัยรุ่นได้
เพราะการได้รับรู้ชีวิตของผู้คนบนโลกออนไลน์แทบตลอดเวลานั้น กระตุ้นให้เกิดการเปรียบเทียบตนเองกับสิ่งที่เห็นบนโซเชียลมีเดีย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนอาจเป็นที่มาของอาการ Social Media Envy ความอิจฉาที่มาพร้อมโลกโซเชียล
Social Media Envy ตัวการบั่นทอนใจวัยรุ่น
เพื่อนร่วมห้องเพิ่งได้ไอแพดรุ่นใหม่ ส่วนเพื่อนอีกคนครอบครัวพาไปทัวร์ญี่ปุ่นช่วงปิดเทอม ทำไมชีวิตของใครๆ ล้วนดูดีมีสีสัน ต่างกับชีวิตของเราที่ได้แต่จับเจ่าอยู่กับบ้าน?ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่อาจเคยเกิดความรู้สึกเช่นนี้เมื่อไถฟีดโซเชียล มีเดีย และเห็นชีวิตของผู้คนรอบกายช่างมีความสุข แตกต่างจากตัวเราเอง การเปรียบเทียบนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจในชีวิตตนเอง รู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกว่าชีวิตแสนน่าเบื่อ และอาจพาลไปถึงทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นคนไร้ค่า เมื่อไม่ได้มีภาพสุขสันต์ไว้โพสต์ลงโซเชียลเหมือนคนอื่นๆ ความอิจฉาที่เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปนี้ แม้ไม่ได้เป็นอาการเจ็บป่วยทางการแพทย์ แต่ก็เป็นสภาวะอารมณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เพื่อนมีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างสูง การศึกษาในต่างประเทศพบว่า การใช้โซเชียลมีเดีย อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของความเครียด ภาวะวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และอาจทำให้เกิดอาการเสพติดโลกโซเชียลได้
เพราะภาพและเรื่องราวบนสังคมออนไลน์มักตกแต่งให้สวยงามเกินจริง นำเสนอให้เห็นแต่ด้านดีๆ ซึ่งหากผู้ที่เสพสื่อผ่านโลกไม่รู้เท่าทัน ก็อาจถูกบั่นทอนจิตใจ เพราะรู้สึกว่าชีวิตจริงของตนเองไม่สวยงามและดีพร้อมเหมือนชีวิตคนอื่นที่เห็นในโลกโซเชียล
สอนลูกรู้เท่าทันยับยั้งความอิจฉา
จะว่าไปแล้วความอิจฉา เป็นอารมณ์หนึ่งของมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือหมายความว่าผู้ที่รู้สึกอิจฉาจะเป็นคนไม่ดี ตราบเท่าที่เรารู้เท่าทันและรับมือกับอารมณ์ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมด้วยความที่วัยรุ่นถูกกระตุ้นจากสื่ออย่างโซเชียลมีเดียแทบจะตลอดเวลา ไม่เพียงจากเพื่อนฝูง คนรู้จัก แต่ยังรวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของอินฟลูเอนเซอร์คนดังต่างๆ ด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตตนเอง ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกว่าชีวิตตนเองด้อยกว่า เพราะคนเราย่อมมองเห็นชีวิตตนเองอย่างรอบด้านทั้งด้านที่ดีและไม่ดี ชอบและไม่ชอบ แต่สำหรับในโลกโซเชียลนั้น เรามักมองเห็นแต่ด้านที่สวยงามของชีวิตคนอื่นเสมอ
หากพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น เศร้าซึมหลังจากใช้โซเชียลมีเดีย พูดเปรียบเทียบชีวิตตนเองกับคนอื่นๆ ในโลกออนไลน์ หรือบ่นว่าชีวิตตนเองไม่เห็นมีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่มีความสุข พ่อแม่ควรรับฟังความรู้สึกของลูก และค่อยๆ พูดคุยเพื่อค้นหาว่าความรู้สึกของลูกเกิดขึ้นจากอะไรหากลูกไม่มีความสุข คิดว่าชีวิตตนเองไม่ดีพอ หรืออิจฉาชีวิตคนอื่นที่เห็นในโซเชียล สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ
- ชวนลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อลดเวลาการใช้ โซเชียลมีเดีย ควรเป็นกิจกรรมที่ลูกสนใจ หากเป็นไปได้ในแต่ละวันควรเพิ่มช่วงระยะเวลาที่ใช้ร่วมกันในครอบครัวให้มากขึ้น
- ชวนลูกพูดคุยเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อาจเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เพื่อนบ้านอาสาช่วยซ่อมหลังคาบ้านให้ หรือ การได้ดูหนังพร้อมหน้าครอบครัว ฯลฯ สิ่งต่างๆ ที่เงินซื้อไม่ได้ก็มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าวัตถุนอกกาย
- ชวนลูกมองหาข้อดีของสิ่งที่มี แทนการมองว่าตนเองขาดอะไร
- หาโอกาสพูดคุยเรื่องความแตกต่าง ทุกคนล้วนแตกต่างกัน ทั้งความคิด ชีวิต ไลฟ์สไตล์ ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกันและเราไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับใคร
- หากเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วรู้สึกด้อยกว่า ให้ลองเปลี่ยนมุมมองว่าแล้วเราจะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร
หากมองอีกด้านหนึ่งความอิจฉาก็มีข้อดี คือ ทำให้เรารู้ว่าตนเองต้องการอะไรในชีวิต และตั้งเป้าหมายเพื่อสิ่งนั้น แต่ทั้งนี้พ่อแม่ควรชวนลูกตั้งคำถามด้วยว่าเป้าหมายนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ หรือเราต้องการเพราะอยากเป็นเหมือนคนอื่น
สุดท้ายแล้ว ความสุขในชีวิตของคนเราคงไม่ได้วัดกันด้วยยอดไลก์ ถึงแม้การโพสต์เรื่องราวดีๆ บนโลกออนไลน์ จะทำให้เราได้รับคำชม และมีคนกดไลก์ให้ชื่นใจก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ การสอนลูกให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขบนโลกแห่งความจริง แม้จะไม่มีใครกดไลก์ให้ก็ตาม
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
บทความใกล้เคียง
‘ใส่สุด และ ใส่ใจ’ แนวคิดเลี้ยงลูกเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกสร้างความหมายของชีวิตตัวเองสไตล์ พ่อบอล แม่ปุ้ม
เฟคนิวส์จะเยอะแค่ไหน ก็ทำอะไรลูกไม่ได้ เพราะรู้เท่าทันสื่อ
ไม่ต้องเป๊ะแค่ใช้เวลาให้เป็น ทักษะการพัฒนาตนเองที่สำคัญสำหรับ Gen Alpha
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
โลกเปลี่ยนไป ปรับตัวกับภัยธรรมชาติอย่างไรให้อยู่รอด
"โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คิด” ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การเตรียมตัวล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คอร์สนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจกา ...
โลกเปลี่ยนไป ปรับตัวกับภัยธรรมชาติอย่างไรให้อยู่รอด
ต้องใช้ 100 เหรียญ