โลกนี้ไม่ได้มีแค่ชาย - หญิง สอนลูกอย่างไรให้เข้าใจความหลากหลายทางเพศ
บ่อยครั้งที่เด็กๆ มักถามพ่อแม่ในเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่ทันได้ตั้งตัวและลำบากใจที่จะตอบ เช่น เด็กเกิดมาได้อย่างไร หรือถามว่า ทำไมผู้ชายคนนั้นใส่กระโปรงในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายใบนี้ คำตอบของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่จะปลูกฝัง Mindset การมองคนอย่างเท่าเทียมกันให้กับเด็กๆ โดยไม่เกี่ยวว่าแต่ละคนนั้นเป็นใคร มีสถานะทางเพศอย่างไร การเลือกคำตอบและคำอธิบายอย่างเหมาะสมสามารถปลูกฝังให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะเคารพความแตกต่างหลากหลายและให้เกียรติผู้อื่นในฐานะความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเด็กๆ อาจพบเห็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ จากสื่อต่างๆ หรือพบเห็นในสังคมจากคนใกล้ตัว อาจได้ยินคำบางคำที่ใช้เรียกผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เด็กๆ อาจยังไม่เข้าใจว่าคำเหล่านั้นหมายถึงอะไรกันแน่ แม้ว่าเด็กยุคใหม่อาจหาคำตอบของเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายๆ จากโลกออนไลน์ แต่คำสอนและคำแนะนำของพ่อแม่ก็ยังมีความสำคัญเสมอที่จะหล่อหลอมแนวคิดที่เหมาะสมให้กับลูกได้บทความนี้ StarfishLabz มีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่เพื่อคุยกับเด็กๆ เรื่องความหลากหลายทางเพศมาฝากค่ะ
เข้าใจความหลากหลายทางเพศ เริ่มที่พ่อแม่
ก่อนที่จะให้คำตอบหากลูกสงสัยเรื่องความหลากหลายทางเพศ คงจะดีกว่าหากพ่อแม่มีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แม้ทุกคนจะรู้จักความเป็น เกย์ กระเทย เลสเบี้ยน หรือ LGBT กันแล้ว แต่ภายใต้คำนี้ก็ยังมีคำศัพท์ย่อยๆ อีกหลายคำที่อธิบายความหลากหลายซึ่งพ่อแม่อาจยังไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างคำว่า เพศสรีระ, เพศสภาพ, อัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศทั้งนี้ LGBT หรือที่ในยุคนี้เพิ่มเป็น LGBTQIA+ นั้นย่อมาจาก
- L (Lesbian) คือ ผู้หญิงที่มีรสนิยมชอบผู้หญิง
- G (Gay) คือ ผู้ชายที่มีรสนิยมชอบผู้ชาย หรืออาจกล่าวรวมว่าคือคนที่ชอบเพศเดียวกัน (homosexual)
- B (Bisexaul) คือ คนที่มีรสนิยมสามารถชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
- T (Transgender) คือ บุคคลข้ามเพศ การเปลี่ยนแปลงเพศสภาพของตนไปเป็นเพศตรงข้าม อาจเป็นผู้หญิงที่ข้ามเพศมาจากผู้ชาย หรือผู้ชายที่ข้ามเพศมาจากผู้หญิง
- Q (Queer/Questioning) คือ คนที่ไม่ได้จำกัดกรอบว่าจะต้องมีรสนิยมชอบเพศไหน หรือกำลังตามหาตัวตน
- I (Intersex) คือ กลุ่มคนที่มีสองเพศ (ในทางการแพทย์) ทั้งโครโมโซม และอวัยวะเพศ
- A (Asexual) คือ กลุ่มคนที่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น + คือ ความหลากหลายทางเพศด้านอื่นๆ
ทั้งนี้ เลสเบี้ยน, เกย์, ไบเซ็กชวลและเควียร์ หรือ LGBQ รวมถึง Asexual เป็นคำที่แสดงรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) ส่วน T หรือทรานส์เจนเดอร์ เป็นคำที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ส่วน Intersex เป็นคำแสดงถึงเพศสรีระ (Sex) ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดนั่นเองลองมาดูความแตกต่างของคำเหล่านี้เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
- เพศสรีระ(Sex) คือลักษณะทางกายภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด บ่งบอกด้วยอวัยวะเพศหญิง-เพศชาย หรือบาง กรณีอาจมีสองเพศทั้งทางโครโมโซมและอวัยวะเพศ หรือที่เรียกว่า Intersex
- เพศสภาพ (Gender) คือสถานะทางเพศของบุคคลที่ถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมและสังคม เช่น เด็กหญิงต้องชอบสีชมพู เด็กผู้ชายไม่เล่นตุ๊กตา เป็นต้น
- อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ความรู้สึกที่แท้จริงภายในใจของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับเพศสภาพของตนเอง ซึ่งมีเพียงเจ้าตัวเท่านั้นที่รู้ว่าอัตลักษณ์ทางเพศของตนคืออะไร เด็กที่อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะสามารถระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ ซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศอาจตรงกับเพศสรีระหรือไม่ก็ได้
- รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) คืออารมณ์ความสนใจทางเพศที่มีต่อชาย หญิง หรือทั้งสองเพศ หรือไม่ใช่เพศไหน หรือเพศหลากหลาย โดยรสนิยมทางเพศเป็นสิ่งที่ลื่นไหล ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับเพศสรีระและอัตลักษณ์ทางเพศ บางคนอาจสนใจเพศตรงข้าม บางคนอาจสนใจเพศเดียวกัน บางคนอาจสนใจใครก็ได้โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศสรีระหรืออัตลักษณ์ทางเพศของคนอีกฝ่าย
เมื่อศึกษาคำนิยามต่างๆ เหล่านี้ พ่อแม่อาจเริ่มเห็นว่าถึงความแตกต่างหลากหลายทางเพศที่มีอยู่มากมาย หากเป็นยุคก่อน สิ่งเหล่านี้อาจถูกมองว่าผิดปกติ แต่เมื่อวิวัฒนาการต่างๆ ก้าวหน้ามากขึ้น ก็ทำให้ค้นพบว่าธรรมชาติของมนุษย์หลากหลายเกินกว่าจะจำกัดอยู่แค่ชายและหญิง การศึกษาจาก Census Data พบว่ามีคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันถึง 46,770 ราย เฉพาะในประเทศออสเตรเลียโดยเพิ่มขึ้นจากปี 2006 ถึง 83% แม้จำนวนคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจะเพิ่มขึ้นและดูเหมือนว่าสังคมเริ่มให้การยอมรับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าใจคนกลุ่มนี้และมองว่าความแตกต่างคือความเจ็บป่วยหรือผิดปกติ ซึ่งหากพิจารณาอย่างเปิดใจ ทุกคนในโลกมีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้ชีวิตของตนเองได้ตราบเท่าที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมส่วนรวม ไม่ว่าจะเพศไหน อัตลักษณ์ทางเพศแบบใด ก็สามารถเลือกรูปแบบการใช้ชีวิต เลือกรูปแบบการแสดงออกของตนเองได้ และคนอื่นๆ ในสังคมก็ควรเคารพสิทธิ์ของพวกเขาในฐานะคนเท่ากันด้วย
สอนลูกรักรู้จักความหลากหลายทางเพศ
เมื่อพ่อแม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และยอมรับความแตกต่างได้อย่างเปิดใจโดยมองว่าทุกคนล้วนมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน มีความดีใจ เสียใจ เจ็บปวด ไม่ต่างกันไม่ว่าเพศใดก็ตาม พ่อแม่ก็จะสามารถสอนและเป็นตัวอย่างที่ดีในการยอมรับความแตกต่างในสังคมให้กับลูกได้ควรเริ่มคุยเรื่องเหล่านี้กับลูกเร็วที่สุดเท่าที่โอกาสจะอำนวย สำหรับเด็กเล็กอาจตั้งคำถามและปูพื้นฐานโดยไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก เด็กโตอาจเริ่มอธิบายให้เห็นความแตกต่าง สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องเปิดใจรับฟังความคิดของลูก เพื่อที่รับรู้ได้ว่าลูกมีความเข้าใจประเด็นนี้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหนหากลูกมีคำถามควรตอบอย่างตรงไปตรงมา โดยพิจารณาอายุของลูกเป็นเกณฑ์ อย่ากลัวที่จะบอกลูกว่าไม่รู้ หากคุณไม่สามารถตอบคำถามพวกเขาได้ คุณอาจบอกว่าขอค้นคว้าเพิ่มอีกนิดแล้วจะให้คำตอบ หากลูกอยู่ในวัยที่ค้นหาข้อมูลได้ อาจช่วยมานั่งค้นหาข้อมูลในสิ่งที่สงสัยร่วมกันอย่าให้การสนทนาเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นการคุยกันแบบครั้งเดียวจบ แต่ควรสนับสนุนให้ลูกตั้งคำถาม ถามความคิดเห็นลูกเมื่อมีโอกาส เช่น เมื่อมีประเด็นในสังคม การชวนลูกคุยทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่เพียงทำให้เราเข้าใจลูกมากขึ้น แต่ยังพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ให้ลูกด้วย
เด็กแต่ละวัยคุยเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างไรดี
- อนุบาล (อายุ 3-5 ปี) ความสามารถในการเข้าใจของเด็กวัยนี้ยังไม่ซับซ้อนนัก ควรใช้ภาษาง่ายๆ ที่ลูกฟังเข้าใจ หากเด็กมีคำถามเรื่องความหลากหลายทางเพศ ควรตอบแบบจำเพาะเจาะจงโดยไม่ต้องใส่รายละเอียดมากนัก เช่น หากลูกถามว่าทำไมเพื่อนคนหนึ่งในห้องมีแม่สองคนแต่ไม่มีพ่อ คุณอาจบอกว่า แต่ละครอบครัวไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางครอบครัวมีแม่สองคน บางครอบครัวมีพ่อสองคน บางครอบครัวมีพ่อและแม่ บางครอบครัวก็มีแต่พ่อหรือมีแต่แม่คนเดียว
- ประถม (อายุ 6-12 ปี) คำถามของเด็กวัยนี้อาจเริ่มซับซ้อนมากขึ้น เช่น ลูกอาจมีคำถามว่าเด็กหญิงคนหนึ่งในห้องตัดผมสั้นและชอบเตะบอล จนถูกคนอื่นๆ ล้อว่าเป็นผู้ชาย ถ้าตัดผมสั้นแสดงว่าเป็นผู้ชายจริงหรือ นี่เป็นโอกาสที่พ่อแม่จะสอนเรื่องการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างให้เกียรติ โดยอาจบอกว่า การตัดผมสั้นไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ว่าจะเพศไหนก็ไว้ผมยาวหรือผมสั้นก็ได้หากต้องการ และคนเราก็ไม่ควรถูกล้อเพียงแค่เรื่องทรงผม แล้วลองถามลูกว่ารู้สึกอย่างไรที่เห็นเด็กหญิงคนนั้นถูกล้อเลียน
- วัยรุ่น (13-18 ปี) วัยรุ่นมักเป็นวัยที่เริ่มชัดเจนในอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง อาจมีเพื่อนๆ ในห้องเรียนที่เริ่มแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศออกมา ลูกวัยนี้อาจถามคำถามเพื่อดูปฏิกริยาตอบสนองของพ่อแม่ว่าคิดอย่างไรเรื่องการ come-out หรือเปิดเผยตัวตน พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้ตั้งใจฟังความรู้สึกนึกคิดของลูกเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ พยายามอย่าวิพากษ์วิจารณ์ตัดสินสถานการณ์ต่างๆ ก่อนฟังความคิดเห็นของลูก เช่น หากลูกเล่าว่าเพื่อนในห้องเปิดตัวว่าเป็นเกย์ พ่อแม่ยังไม่ควรรีบแสดงความรู้สึก แต่ควรถามลูกกลับไปว่าลูกรู้สึกอย่างไร เพื่อฟังความคิดของลูกก่อน
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศและทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เป็นโค้ชที่ให้คำแนะนำอย่างเหมาะสมกับลูก และที่สำคัญเป็นเพื่อนที่ยอมรับและเข้าใจตัวตนของลูกอย่างแท้จริง
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ