บูรณาการ “หลักสูตร” สู่ชั้นเรียน UP ศักยภาพเด็ก รับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในศตวรรษที่ 21
“หลักสูตร” หนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาของไทย ซึ่งหลักสูตรที่ได้รับความสนใจอย่างมาก แม้จะยังนำร่องใช้เพียงบางโรงเรียนเท่านั้น คือ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” หลักสูตรที่เชื่อว่าสามารถช่วยให้เด็กไทย คิดได้ ทำเป็น เห็นคุณค่า มีทักษะหลากหลายตามความถนัดของเด็กแต่ละคน แทนหลักสูตรท่องจำเนื้อหาเพียงเพื่อไปสอบ
การจัดทำหลักสูตรให้แก่สถานศึกษานั้น ปัจจุบันมี อาทิ 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560, หลักสูตรกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่น
โดยแต่ละหลักสูตร จะต้องนำไปพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สู่หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระ และอีกหนึ่ง คือ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่วนระดับการศึกษาปฐมวัย ต้องนำไปพัฒนาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และนำไปออกแบบแผนการจัดประสบการณ์ สำหรับนำไปจัดกิจกรรมให้แก่ผู้เรียน โดยครู ผู้บริหารโรงเรียน นำหลักสูตรฯ นี้ไปบูรณาการ สอดแทรก หรือนำไปใช้ทั้งหลักสูตร ซึ่งมีหน่วยงานต้นสังกัด โดยหน่วยงานศึกษานิเทศก์ ได้ส่งเสริมสนับสนุน กำหนดให้นำหลักสูตรฐานสมรรถนะ มาบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สอนอยู่ ซึ่งศึกษานิเทศก์ของเทศบาลนครเชียงใหม่ มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน นิเทศ ติดตาม และประเมินผลจำนวน 11 โรงเรียน 1 ศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีทั้งการจัดการศึกษา ระดับการศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ ปัจจุบันมีการนำเนื้อหาสาระ เข้าไปสอดแทรก หรือ บูรณาการ ระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หลักสูตรกิจกรรมของผู้เรียน เข้ามาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ทำให้สถานศึกษาเกิดนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทแต่ละสถานศึกษา ทั้งของสถานศึกษา ของผู้บริหารสถานศึกษา ของครู และของผู้เรียน ถือเป็นไฮไลท์ของโรงเรียนแต่แห่ง ส่วนหลักสูตรท้องถิ่นนั้น มีการบูรณาการโดยบ้าน วัด ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม เช่น โรงเรียนเทศบาลศรีสุพรรณ ก็จะมีหลักสูตรเครื่องเงิน โดยมีเจ้าอาวาสศรีสุพรรณ เป็นผู้ร่วมในการจัดการเรียนการสอน ทำให้เกิดทักษะชีวิต สู่อาชีพได้ เป็นต้น
“ทุกหลักสูตรกลุ่มสาระที่นำมาบูรณาการร่วมกัน ทำให้กลุ่มสาระการเรียนรู้เกิดจุดเด่น ดี เด็ด เด่น สามารถพัฒนาเด็กได้ตามศักยภาพของพวกเขา”
ในการนี้ หน่วยงานศึกษานิเทศก์ ดำเนินการโดยตรวจสอบสภาพการศึกษาของแต่ละสถานศึกษาว่ามีสภาพปัญหา หรือ สภาพความต้องการ หรือ มีปัจจัยเกื้อกูล อย่างไรบ้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เห็นแนวทางในการดำเนินงาน เติมเต็มการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตรงกับทางนโยบายต้นสังกัด หรือทางสถานศึกษาได้ตั้งเป้าไว้ และสอดคล้องในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้น จึงมีการพัฒนาหลักสูตรทุกปีการศึกษา มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก แบบ Active learning ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ให้พวกเขาได้ จำ นำไปประยุกต์ใช้ ผ่านการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ด้วยความรับผิดชอบ เห็นคุณค่า และเป็นไปตามศักยภาพของพวกเขา
ซึ่งเห็นได้ว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะ กับ การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก แบบ Active learning ถือเป็นการเรียนรู้การพัฒนาเด็กในลักษณะที่มีความเหมือนกัน นั่นคือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ ได้ใช้กระบวนการคิด ซึ่งสถานศึกษาส่วนใหญ่ ครูได้จัดการเรียนการสอนแบบ Active learning อยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องเพิ่มเติมบางทักษะให้สอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ การนำหลักสูตรต่างๆ มาบูรณาการร่วมกันจึงช่วยพัฒนาผู้เรียนได้ตามศตวรรษที่ 21 มากขึ้น
“ศึกษานิเทศก์ เป็นยักษ์ไม่มีกระบอง มีแต่บารมี คือ องค์ความรู้ การสื่อสาร ด้วยการนิเทศ ติดตาม และประเมินผล ด้วยกัลยาณมิตร เป็นพี่เลี้ยง เป็นโค้ช เป็นผู้ให้คำแนะนำ ทั้งความรู้ ความเข้าใจ ในการนำหลักสูตรต่างๆ ไปใช้ ให้โรงเรียนได้บูรณาการกับบริบท การบริหารจัดการของโรงเรียน”
สถานศึกษาที่มีผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำทางวิชาการ สามารถส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาครู และครูนำไปออกแบบการจัดกิจกรรมให้แก่ผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย ทั้งสู่ความเป็นเลิศ ด้านวิชาการ ด้านทักษะชีวิต ด้านศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ ด้านกีฬา ด้านภาษา ด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
แต่ต่อให้หลักสูตรมีการพัฒนาปรับปรุงให้มุ่งสู่การพัฒนาเด็กมากขนาดไหน แต่หากผู้ปฎิบัติ อย่าง ครูหรือผู้บริหาร ไม่เห็นความสำคัญก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้น ครูต้องมีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญด้วยการพัฒนาตนเอง อบรม เรียนรู้ เทคนิคการสอนใหม่ๆ อย่างหลากหลาย โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้บริหารสถานศึกษาต้องบริหารจัดการ เอื้อให้ครูได้นำหลักสูตรไปปรับใช้ คอยติดตาม ประเมินชี้วัดศักยภาพการสอนของครู ซึ่งดูได้ง่ายจากผู้เรียน ส่วนศึกษานิเทศก์เอง ก็ต้องช่วยบริหารจัดการ เสริมทัพด้านความรู้ แนวทางใหม่ๆ แก่ครู รวมถึงเรื่องการใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันครูมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ในส่วนของครูอาวุโส อาจต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้น และต้องเชื่อมการทำงานระหว่างครูรุ่นใหม่กับครูอาวุโส ให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน
“แกนหลักในการพัฒนาหลักสูตรสู่การพัฒนาผู้เรียน ต้องทำงานแบบมีส่วนร่วมทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ หน่วยเหนือ สำนักงานเขตพื้นที่ ชุมชน ผู้ปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านคณะทำงาน อาทิ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการประสานงานวิชาการ ระดับสถานศึกษา และคณะกรรมการระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนด้วยกัน มีปฏิทินงาน วางแผน ดำเนินการ และเครื่องมือประเมินผลที่มีมาตรฐานอย่างเป็นระบบ
สิ่งสำคัญที่สุด ก่อนที่จะครูจะพัฒนาหลักสูตร และออกแบบแผนการเรียนการสอนได้ดีนั้น ครูต้องวิเคราะห์ผู้เรียนก่อน เพราะถ้าครูไม่วิเคราะห์ผู้เรียน ครูจะไม่รู้ว่าเด็กคนไหนเรียน เก่ง ปานกลาง หรือว่าอ่อน ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความถนัด มีศักยภาพแตกต่างกัน ทำให้ครูสามารถออกแบบแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน หรือหลักสูตรฐานสมรรถนะ ล้วนก็เหมาะสมกับผู้เรียน สามารถทำให้ผู้เรียนทุกคน ได้พัฒนาการศึกษาเท่าเทียม เสมอภาคในการเรียนรู้ รวมถึงการวัดผลประเมินผล เกิดการเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของผู้เรียนได้จริง
ดร.ปุณณัตถ์ ไชยคำ
ศึกษานิเทศก์ เทศบาลนครเชียงใหม่
Related Courses
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
3 แอปพลิเคชันง่ายๆ ตัวช่วยทำสื่อการสอน
เรียนรู้ 3 แอปพลิเคชันง่ายๆ ที่นำไปใช้ได้จริงสำหรับการสร้างสื่อการสอน สะดวกต่อการใช้งาน มีประโยชน์สำหรับห้องเรียน ช่วยให้นัก ...
สร้าง Self-Esteem เสริมคุณค่าให้กับนักเรียนอย่างไร
Self-Esteem หรือ การเคารพและเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถรับมือกับอารมณ์และสถานการ ...