STEAM Design Process กระบวนการเรียนรู้แห่งอนาคต
การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่บ่อยครั้งถูกความผิดพลาดปิดกั้น เพราะเด็กๆ ฝังใจ ‘กลัวผิด’ เหมือนมีปีศาจตามหลอกหลอน จนอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้เขาไม่กล้าริเริ่มสร้างสรรค์
แต่ถ้าไม่ลองทำดูก่อน เด็กๆ ก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย จึงเป็นภารกิจของคุณพ่อคุณแม่และคุณครู ที่จะปลุกความมั่นใจของเด็กๆ กลับคืนมาได้อีกครั้ง ผ่านคำพูดอันอ่อนโยนและเข้าอกเข้าใจอย่างแท้จริง เช่น “หนูผิดหวังมากเลยใช่ไหมลูกที่อะไรๆ ไม่เป็นไปอย่างที่คิด แต่ไม่เป็นไรหรอกจ้ะ เดี๋ยวเรามาพยายามกันใหม่ หนูจะค่อยๆ ทำได้ดีขึ้นเอง”
ซึ่งส่วนมากสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ กลัวผิดพลาดก็เกิดจากความคาดหวังที่มากเกินเหตุของผู้ใหญ่ และเมื่อเขาได้รับประสบการณ์ไม่ค่อยดีจากเรื่องที่ทำได้ไม่ดี หรือเคยทำผิดพลาด จนถูกตำหนิด้วยถ้อยคำทำร้ายจิตใจ หรือทำให้เขารู้สึกอับอายต่อหน้าเพื่อนๆ
เราจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับเขาใหม่ว่า “ข้อผิดพลาดไม่ใช่เรื่องใหญ่” แต่มักมอบโอกาสให้เราได้บทเรียนกลับมาเสมอ ไม่มีอะไรที่ทำไปแล้วสูญเปล่า หากเราได้เรียนรู้จากเรื่องนั้น
ผู้ใหญ่อย่างเราอาจหยิบยกเรื่องที่เคยทำพลาด เช่น บางวันที่เผลอใจลอยไปหน่อย จึงทำให้อาหารตกพื้น หรือแก้วน้ำหก อธิบายบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ที่ทำให้คุณต้องระมัดระวังมากกว่าเดิมเวลาเข้าครัวครั้งถัดไป
เมื่อได้แลกเปลี่ยนทุกความล้มเหลว ให้เด็กๆ รู้สึกว่าตนเองสามารถก้าวผ่านความกลัวที่ฝังลึกในจิตใจไปได้ และเราพร้อมจะเอาใจช่วยเด็กๆ อยู่ข้างๆ เขาเสมอ ปล่อยให้เขาล้มแล้วลองใหม่ได้อย่างเต็มที่
วันนี้ Starfish Labz มี 5 ขั้นตอนง่ายๆ แต่เป็นกระบวนการที่ลึกซึ้งที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครู สามารถเริ่มทดลองใช้กับเด็กๆ ได้ทันที ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ไปถึงโจทย์ยากๆ ถ้ามีหลักคิดแบบ ‘Steam Design Process’ รับรองว่าเด็กๆ จะเริ่มสนุกกับทุกการเรียนรู้ แล้วเปลี่ยนใจมองความผิดพลาดเป็นของขวัญสำหรับเขาได้เอง
1. ถาม (Ask)
สอนให้เด็กๆ ตั้งคำถามและสงสัยกับสิ่งรอบตัว ถ้าเด็กๆ นึกไม่ออก คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครู สามารถช่วยสร้างชุดคำถาม และค้นหาคำตอบไปกับพวกเขา ลองโยนคำถามให้เขาได้ฝึก ทีมงาน Statfish Education ขอยกตัวอย่างเรื่องที่เด็กๆ คุ้นเคย ทำไมเราต้องเรียนหนังสือ?
คุณพ่อคุณแม่ลองใช้คำถามนี้ และปล่อยให้พวกเขา แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ รอให้ลูกพูดจนจบจึงค่อยแสดงความคิดเห็นหรือถามเพิ่มเติม
เคล็ดลับสำหรับ ‘Ask’ ซัพพอร์ตเด็กๆ และไม่ตัดสินสิ่งที่พวกเขาตั้งคำถาม
2. จินตนาการ (Imagine)
เมื่อเด็กๆ เริ่มสงสัย คุณพ่อคุณแม่ต้องให้พวกเขาจินตนาการ และระดมความคิดเพื่อหาแนวทางแก้ไข ถ้าการเรียนหนังสือน่าเบื่อ ลองถามลูกให้เสนอวิธีเอนจอยกับการเรียน ปล่อยให้เด็กๆ ออกแบบห้องเรียนของตนเอง วิธีการอ่านหนังสือ หรือให้พวกเขาเสนอกิจกรรมอะไรนอกเหนือจากนี้ ที่ได้ทั้งเรียนและเล่นไปในเวลาเดียวกัน
เคล็ดลับสำหรับ ‘Imagine’ ตั้งคำถาม ให้เด็กๆ จินตนาการ และให้เขารู้สึกสบายใจเมื่อได้พูดสิ่งที่คิด
3. วางแผน (Plan)
การวางแผนจะช่วยให้เด็กๆ จัดการกับสิ่งที่พวกเขาสงสัยได้ดียิ่งขึ้น
และการดำเนินการสำหรับบางเรื่อง ต้องใช้ทั้งอุปกรณ์ สถานที่ในการแก้ไขปัญหา สำหรับการวางแผนคุณพ่อคุณแม่
ลองให้เด็กๆ เขียนใส่กระดาษ วิธีทำให้การเรียนสนุกขึ้นกว่าเดิม ให้พวกเขาลิสต์ออกมาจะเริ่มจัดการปัญหานี้อย่างไรดี เราสามารถไกด์เด็กๆ โดยการตั้งคำถามได้ ว่าขั้นตอนที่ 1 ต้องทำอะไร และขั้นตอนที่ 2 จะไปทางไหนต่อ ถ้ามีสถานที่หรืออุปกรณ์ให้พวกเขาระบุลงไปด้วย
การวางแผนยังช่วยให้เด็กๆ คิดเป็นระบบและมั่นใจกับสิ่งที่พวกเขากำลังแก้ไขปัญหา เคล็ดลับสำหรับ ‘Plan’ ให้เด็กๆ เรียงลำดับด้วยตนเองว่าสิ่งไหนต้องทำก่อนหรือหลัง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยแนะนำอยู่ข้างๆ
4. สร้างสรรค์ (Create)
นำแบบแผนที่วางไว้มาครีเอทให้เห็นภาพ เมื่อเด็กๆ รู้สึกว่าการเรียนสนุกได้มากกว่านี้ จึงวางแผนโดยเริ่มจากห้องเรียน ทำให้ดูสะอาด มีมุมพักผ่อน และแปะรูปการ์ตูนตามใจพวกเขา พร้อมอุปกรณ์ประกอบการเรียนที่ทำให้เพลิดเพลิน เช่น แฟลชการ์ด หุ่นจำลองอวัยวะภายใน หรือของเล่นใช้ผ่อนคลาย สำหรับการครีเอททำได้ทั้ง ชิ้นงาน หนังสือ โมเดล แนวคิด การรณรงค์ หรือการเผยแพร่ คุณพ่อคุณแม่ให้เด็กๆ ลองเลือกว่าเขาต้องการทำออกมาให้เป็นแบบไหน และสามารถให้ฟีดแบ็กพวกเขาได้ พร้อมคำแนะนำเพิ่มเติม
เคล็ดลับสำหรับ ‘Create’ ไม่กำหนดวิธีสร้างสรรค์ผลงาน ปล่อยให้พวกเขาได้ทดลองเอง
5. คิดสะท้อนและออกแบบใหม่ (Reflect & Redesign)
ขั้นตอนสุดท้าย รับฟังเสียงสะท้อนจากคุณครูหรือพ่อแม่ เพื่อนำไปปรับปรุง การได้ความเห็นจากหลายคน จะช่วยให้เด็กๆ
มีมุมมองที่กว้างไกล และฝึกเปิดใจรับฟังความคิดที่แตกต่าง ช่วยให้ผลงานของพวกเขาลงตัวมากยิ่งขึ้น พร้อมถามเด็กๆ ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับผลงานของตนเอง และอยากปรับปรุงส่วนไหนบ้างไหม
เคล็ดลับสำหรับ Reflect & Redesign ให้คำแนะนำในการปรับปรุง กล่าวชมสิ่งที่ดี และตั้งคำถามให้พวกเขาได้สะท้อนผลงานของตนเอง
‘Makerspace’ พื้นที่อิสระ สร้างสรรค์จินตนาการ
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ กล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงความเห็น และใช้ STEAM Design Process ที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
‘Makerspace’ พื้นที่สร้างสรรค์จะช่วยสร้างบรรยากาศให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยและสนุกเมื่อต้องแก้ไขปัญหา สามารถจัดเป็นห้อง หรือมุมเล็กๆ ภายในบ้านและโรงเรียน ให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเหมือนเวทีจำลองของพวกเขา และพร้อมก้าวผ่านอุปสรรคที่พวกเขาต้องเจอในอนาคต
ทีมโค้ช Starfish Academy หวังว่าลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่ และนักเรียนที่น่ารักของคุณครูจะรู้สึกสนุกกับทุกการเรียนรู้ เมื่อได้นำ STEAM Design Process ไปใช้ พร้อมได้รับการซัพพอร์ตที่ดีจากคนรอบตัวที่พวกเขารัก ต่อให้ปัญหาจะหนักหนาแค่ไหน เด็กๆ ก็พร้อมลุยแน่นอน
Sources:
- Help Kids Learn to Fail | Building Self-Esteem in Children | Child Mind Institute
- Parenting: Fear of Failure: A Childhood Epidemic | Psychology Today
- STEAM Education Using Design Thinking Process Through Virtual Communities of Practice (STEAM-DT-VCoPs) | Macrothink Institute
- กระบวนการเรียนรู้พัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 STEAM Design Process | มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม
Related Courses
บูรณาการ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน แก้ปัญห ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
พื้นที่แบบไหนก็จัด Makerspace ได้
พื้นที่นักสร้างสรรค์ Makerspace เป็นการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ สามารถจัดได้หลายรูปแบบตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อใ ...
Social and cultural awareness classroom
ห้องเรียนความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นการออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ให้ผู้เ ...