8 Checklist เพื่อการออกแบบการบ้านให้มีประสิทธิภาพ
ถึงแม้จะมีการศึกษาว่า การให้การบ้านจะส่งผลดีต่อนักเรียน แต่การให้การบ้านที่มากเกินไป จะทำให้นักเรียนเกิดความเครียดทั้งทางกายและจิตใจได้ ในบทความนี้ จะมาพูดถึงวิธีการให้การบ้านที่มีประสิทธิภาพต่อนักเรียนอย่างแท้จริงกันค่ะ
มาเริ่มกันที่ การให้การบ้านของคุณครูควรมีจุดประสงค์ให้ชัดเจน ดังนี้
เพื่อฝึกฝน (Practice) : เมื่อนักเรียนได้พัฒนาทักษะต่างๆ ในห้องเรียนแล้ว นักเรียนควรได้นำทักษะที่ได้จากในห้องเรียน ไปฝึกฝนและนำไปใช้จริงที่บ้านด้วย เช่น นักเรียนได้เรียนวิธีการบวกลบเลขในห้องเรียน และเมื่อนักเรียนกลับบ้านนักเรียนควรได้ฝึกวิธีการแก้โจทย์บวกลบเลขอย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะใช้โจทย์จากสิ่งที่เห็นในบ้าน
เพื่อเตรียมตัวก่อนบทเรียนถัดไป (Preparation) : การบ้านสามารถเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องทำ เพื่อเตรียมตัวก่อนที่จะเรียนในบทเรียนถัดไปได้ เช่น คุณครูให้นักเรียนไปอ่านบทเรียนล่วงหน้า เพื่อนำมาพูดคุยกันในชั้นเรียน
เพื่อศึกษาทบทวน (Study) : เป็นการให้การบ้านเพื่อทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อเตรียมตัวทดสอบท้ายบท
เพื่อขยายและต่อยอดความรู้ (Extend or Elaborate) : หลังจากที่นักเรียนได้เรียนเรื่องแนวคิดหลักการของบทเรียนแล้ว คุณครูอาจจะมอบหมายการบ้าน เพื่อให้นักเรียนขยายและต่อยอดความรู้จากเรื่องที่เรียน เช่น นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกาในห้องเรียน หลังจากนั้น คุณครูมอบหมายให้นักเรียนแต่ละคนลองออกแบบโปรเจกต์เกี่ยวกับประวัติศาสต์ของแต่ละรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาดู
คุณครูสามารถลองนำทั้ง 4 จุดประสงค์นี้ไปปรับใช้ได้ในห้องเรียน ซึ่งนอกจากการเข้าใจจุดประสงค์ของการบ้านแล้ว การออกแบบการบ้านที่จะกระตุ้นให้นักเรียนอยากทำ ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน คุณครูอาจจะใช้วิธีการให้รางวัล หรือลงโทษ แต่ทั้งสองสิ่งนี้ ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพราะการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง คือ การออกแบบการบ้านที่ช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ และเห็นการพัฒนาของตัวเองได้
วันนี้ Starfish นำ 8 Checklist มาให้คุณครู เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบการบ้านให้มีประสิทธิภาพสำหรับนักเรียน
Checklist 1 : การบ้านควรมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน
คุณครูจะต้องเข้าใจว่า ‘เราไม่ได้ให้การบ้าน เพื่อให้การบ้าน’ และไม่จำเป็นที่จะต้องให้การบ้านทุกวัน เพราะฉะนั้น คุณครูจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ‘คุณครูให้การบ้านชิ้นนี้กับนักเรียน เพื่อให้เขาได้ฝึกฝนเรื่องอะไร?’
Checklist 2 : การบ้านควรออกแบบให้นักเรียนรู้สึกถึงความสำเร็จ
เมื่อไหร่ก็ตามที่นักเรียนรู้สึกสับสน และท้อแท้กับการทำการบ้าน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำการบ้านอย่างไร หรือรู้สึกว่าการบ้านนั้นยากเกินไป ขอให้คุณครูหยุดงานชิ้นนั้นไว้ก่อน และให้บอกกับนักเรียนว่า ‘เรามาเริ่มกันใหม่ในครั้งถัดไป’ อย่าให้ความพยายามของนักเรียนและคุณครู เป็นเรื่องที่เสียเวลา
Checklist 3 : โฟกัสที่คุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณการบ้าน
การบ้านจะมีประสิทธิภาพ เมื่อคุณครูโฟกัสที่คุณภาพของการบ้านมากกว่าจำนวนการบ้าน เรามักจะได้ยินว่า ‘การฝึกฝนจะช่วยให้เกิดความสมบูรณ์แบบ (Practice makes Perfect)’ แต่ถ้าฝึกฝนโดยที่ไม่เข้าใจแนวคิดหรือวิธีการจริงๆ ก็จะกลายเป็นการฝึกฝนที่ไร้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้น ลองมาใช้คำใหม่กัน คือ การฝึกฝนที่ถูกต้อง จะช่วยให้เกิดความสมบูรณ์แบบ (Perfect Practice makes Perfect) เช่น ก่อนที่คุณครูจะให้นักเรียนทำการบ้าน คุณครูอาจจะให้เวลานักเรียนในการอธิบายสิ่งที่เข้าใจก่อนสักเล็กน้อย เพื่อตรวจสอบดูว่านักเรียนเข้าใจถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะให้นักเรียนจะลงมือทำจริง
Checklist 4 : การบ้านควรทำหน้าที่ที่หลากหลาย
หน้าที่แรก คือ ขยายและต่อยอดความรู้ให้นักเรียน เมื่อมีนักเรียนที่สามารถทำการบ้านทุกอย่างได้อย่างถูกต้อง คุณครูอาจจะมอบหมายการบ้านเพิ่มเติมให้เป็นงานเดี่ยว ในรูปแบบของโปรเจกต์ เพื่อให้นักเรียนได้ขยายขอบเขตความเข้าใจของตนเอง และนำความรู้ที่ได้ไปใช้จริง เช่น สอนเรื่องการใช้ spreadsheet หลังจากนั้นคุณครูอาจจะให้นักเรียนลองคิดคำนวณงบประมาณจากการใช้ spreadsheet เป็นต้น
หน้าที่ที่สอง คือ เสริมพื้นฐานความรู้ให้แข็งแรง เช่น หากนักเรียนเพิ่งเรียนรู้ในเรื่องใหม่ คุณครูจะต้องให้การบ้านที่ช่วยเสริมองค์ความรู้พื้นฐานของนักเรียนให้แน่นเสียก่อน เช่น สอนเรื่อง part of speech (ประเภทของคำ) คุณครูอาจจะให้การบ้านให้นักเรียนไปหาตัวอย่างจากบทความ หรือข่าวที่นักเรียนสนใจมา เพื่อมาระบุประเภทของคำร่วมกัน
หน้าที่ที่สาม คือ เตรียมความรู้ก่อนที่จะเรียนเรื่องถัดไป เช่น คุณครูอาจจะให้การบ้านนักเรียนไปหาชื่อสถานที่ที่นักเรียนเคยไปเที่ยวมา เพื่อในวันถัดไปคุณครูจะสอนเรื่องแผนที่ของแต่ละรัฐ เป็นต้น
Checklist 5 : การบ้านควรเป็นสิ่งที่นักเรียนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และตอบโจทย์รายบุคคล
การบ้านที่ดี ควรเป็นการบ้านที่นักเรียนสามารถทำด้วยตัวเอง หรือได้รับการช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และตอบโจทย์นักเรียนรายบุคคล เพราะถ้าการบ้านยากเกินไป นักเรียนอาจจะไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้มาทำแทนได้ เช่น เวลาให้การบ้าน คุณครูอาจจะออกแบบให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม แต่ต้องเหมาะสม เช่น การให้นักเรียนเขียนเรียงความ แล้วให้ผู้ปกครองให้ข้อเสนอแนะในงานเขียนของนักเรียน หรือการให้นักเรียนสัมภาษณ์ผู้ปกครอง และเพื่อนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหลังจากนั้นเราจึงนำการบ้านมาพูดคุยกันต่อในห้องเรียน
Checklist 6 : การบ้านต้องให้ความเป็นเจ้าของกับนักเรียน
นักเรียนจะอยากทำการบ้านก็ต่อเมื่อนักเรียนรู้สึกเป็นเจ้าของในการบ้าน โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกสั่งให้ทำ แล้วการบ้านแบบไหนที่นักเรียนจะรู้สึกเป็นเจ้าของ คือ 1. การบ้านที่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตของนักเรียนได้ 2. การบ้านที่ให้นักเรียนมีสิทธิในการเลือกหัวข้อที่จะทำ 3. การบ้านที่คุณครูให้อำนาจนักเรียนได้การออกแบบร่วมกัน และเข้ากับบริบทนักเรียนรายบุคคล
Checklist 7 : ให้ฟีดแบ็กหลังจากให้การบ้าน
การให้ฟีดแบ็กเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อาจจะไม่ต้องเป็นทางการ เพราะบางครั้งการที่คุณครูเรียกนักเรียนไปให้ฟีดแบ็กแบบไม่เป็นทางการจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะนักเรียนต้องการโอกาสในการแลกเปลี่ยน และรับฟีดแบ็กจากงานที่ตัวเองทำ หรืออาจจะใช้วิธีการแลกเปลี่ยนคำตอบร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่มเล็กก็ได้
Checklist 8 : รูปแบบการบ้านต้องเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก
การบ้านที่ดี ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ อาจจะต้องประกอบด้วยตัวการ์ตูน และตัวหนังสือต้องใหญ่ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ การบ้านที่ดีจะต้องอยู่ในวิสัยที่นักเรียนฝึกฝน ทำได้เอง และดึงดูดความสนใจ
เมื่อคุณครูรู้อย่างนี้แล้ว ก็ขอเชิญชวนให้คุณครูลองนำวิธีการนี้ไปปรับใช้ในการออกแบบการบ้านที่มีประสิทธิภาพกันค่ะ
แปลและเรียบเรียงจาก
Williams. (2019). High-Quality Homework: How to assign the right amount, and the most effective formats of homework for the 2019-2022 school year. bit.ly/3v3EQGO
Blackburn. (2018). 8 Keys to effective homework. bit.ly/3v4VOV8
Related Courses
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
3 แอปพลิเคชันง่ายๆ ตัวช่วยทำสื่อการสอน
เรียนรู้ 3 แอปพลิเคชันง่ายๆ ที่นำไปใช้ได้จริงสำหรับการสร้างสื่อการสอน สะดวกต่อการใช้งาน มีประโยชน์สำหรับห้องเรียน ช่วยให้นัก ...
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...