6 ทักษะแห่งอนาคต ใช้ร่วมงานกับคนหมู่มาก
มีหลายทักษะไม่ดีจริงหรือ? ตอนนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ข้อมูลทุกอย่างอัปเดตวันต่อวัน การไม่เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อาจทำให้ตกขบวน ตามไม่ทันเทรนด์โลกปัจจุบัน ส่วนคนที่ทำอะไรได้หลายอย่าง ถึงเวลาที่ต้องงัดความสามารถออกมาโชว์ เพราะองค์กรทั่วโลกมองว่า สกิลที่หลากหลายมีส่วนเร่งให้องค์กรเจริญรุดหน้าได้
เชื่อว่าคนรุ่นใหม่เติบโตมากับเทคโนโลยี เข้าใจดีว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด แค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็สามารถเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลก
วันนี้ พี่ๆ Starfish Labz จึงอยากชวนน้องๆ เติมความรู้ เตรียมความพร้อมสู่โลกของการทำงาน กับ 6 ทักษะแห่งอนาคต ต่อไปนี้
1. ทำงานเข้าจังหวะเป็นทีมเวิร์ก
น้องๆ ฝึกทักษะนี้ได้ตั้งแต่ในโรงเรียน ผ่านการทำงานกลุ่ม เสนอตัวเป็นหัวหน้า หรือเข้าร่วมชมรม ในทุกๆ ครั้งที่มีการขอความคิดเห็น ขอความช่วยเหลือ แม้จะไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของเราโดยตรง แต่ถ้าเรามีใจซะอย่าง ก็อยากให้ลองเสนอตัวเข้าช่วยดูก่อน
ทีมเวิร์กที่ดี ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกันทุกอย่าง เมื่อเพื่อนบอกว่าอันนี้ดี แต่น้องไม่เห็นด้วยให้ลองอธิบายแลกเปลี่ยนไอเดียและยกเหตุผลขึ้นมาชี้แจงซิ ว่าทำไมเราถึงคิดแบบนั้น
เมื่อถึงวัยทำงานทีมเวิร์กที่ดีจะช่วยให้เราชนะใจลูกค้าและโปรเจกต์กองโตไปได้
อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะหลายคนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ดีกว่าคิดและทำคนเดียวอย่างแน่นอน
2. สื่อสารกระชับจับประเด็นฉับไว
อย่างที่พี่ๆ บอกน้องไปช่วงแรก โลกทุกวันนี้ปรับเปลี่ยนเร็วมาก กะพริบตา 1 ครั้ง อาจมีเรื่องใหม่ที่เรายังไม่รู้เพิ่มขึ้น
การใช้เวลาในการสื่อสารจึงต้องเข้าเรื่องไว กระชับ และตรงประเด็น ไม่เสียเวลาวกวนกับข้อมูลปลีกย่อยที่เกินจำเป็น
พี่ๆ อยากฝากให้น้องๆ ฝึกจากกิจกรรมที่ตนเองสนใจ เช่น เข้าชมรมฝึกพูดในที่สาธารณะ หรือเสนอตัวเป็นคนพรีเซนต์งานหน้าชั้นเรียน
ความตื่นเต้นเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่มืออาชีพก็ยังตื่นเต้น และหลายๆ คนกลับมองว่านั่นเป็นเรื่องดีเสียอีก แต่ถ้าน้องๆ รู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อม ไม่ค่อยมั่นใจ ก็ต้องฝึกซ้อมก่อนออกงานจริงเยอะๆ
เริ่มจากลองเขียนสคริปต์สรุปประเด็น ลำดับเรื่อง เทคนิคการเล่าเรื่องให้ผู้ฟังอยากติดตาม คำนึงถึงเวลาที่ใช้ และไม่ลืมแบ่งจังหวะเว้นวรรคหายใจให้ดี
เมื่อตื่นเต้นต้องคอยดึงสติกลับมาอยู่ในประเด็นให้ได้ พอหมั่นฝึกซ้อมมากๆ ได้ลงสนามจริงหลายครั้งเข้า ก็จะลดอาการประหม่าลงได้เอง
น้องๆ ยังสามารถนำทักษะนี้ไปปรับใช้ในรั้วมหาวิทยาลัยจนถึงวัยทำงาน เมื่อต้องเขียนอีเมลติดต่องาน แสดงความเห็นในที่ประชุม และแม้แต่การนำเสนอคอนเทนต์ทางโซเชียลมีเดีย
เมื่อเพื่อนร่วมงานเข้าใจจุดประสงค์ที่น้องต้องการสื่อสารได้อย่างครบถ้วน ก็จะเพิ่มโอกาสโน้มน้าวใจให้ใครๆ อยากให้ความร่วมมือกับน้องเป็นอย่างดี
3. หยุ่นตัวตั้งรับได้ทุกสถานการณ์
ความสามารถยืดหยุ่นและปรับตัวได้ตามสถานการณ์ (resilience) เป็นทักษะการรับมือ เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก สามารถตั้งรับ พร้อมเผชิญกับมัน และมูฟออนจากมันได้ เช่น เช่น การย้ายโรงเรียนกะทันหัน ทะเลาะกับเพื่อน มีปัญหากับที่บ้าน ซึ่งทำให้น้องๆ รู้สึกอึดอัดใจ การมีทักษะหยุ่นตัว สามารถช่วยให้น้องๆรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
ลองคิดตามพี่ๆ นะคะ ถ้าวันนี้ไปเที่ยวกับเพื่อน หรือครอบครัว แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน สิ่งที่น้องตอบสนองทันทีคือความโกรธ แต่พี่อยากแนะนำ ให้วางแผนอีกรอบหนึ่ง ตามสิ่งที่เราพบเจอ ณ ขณะนั้น ส่วนอารมณ์โกรธ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แค่เรียนรู้ว่าถ้ามันไม่เป็นอย่างที่คิดก็ถือเป็นโอกาสได้ท้าทายตัวเอง ให้ลองหาวิธีอื่นรับมือสถานการณ์ให้เหมาะสม
การทำงานในองค์กรก็เช่นกัน น้องต้องปรับตัวให้ไว ตั้งรับให้ทัน สถานการณ์ ตามความคาดหวังขององค์กร ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และประเด็นที่สังคมจับตาบ่อยครั้งจึงต้องเจอกับความกดดันจากเรื่องเร่งด่วน มีเวลาเตรียมตัวน้อยต้องใช้เวลาที่มีอย่างจำกัดหรือแม้แต่ต้องเปลี่ยนแผนงานกะทันหัน
สิ่งที่พี่ๆ อยากบอกน้องๆ คือต้องลงมือทำทันที และปรับความคิดให้ทันเหตุการณ์ เราเปลี่ยนสถานการณ์ไม่ได้ แต่เราปรับตัว และหาแนวทางแก้ไข พร้อมเรียนรู้จากมันได้ค่ะ
4. หยั่งลึกถึงความคิดและจิตใจของผู้อื่น
ในโรงเรียน น้องเจอแต่เพื่อนกลุ่มเดิม คบกันมาหลายปี รู้ใจกัน เข้าใจกัน การทำความเข้าใจกันไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในชีวิตจริง น้องๆ ต้องเจอคนอีกเป็นร้อยเป็นพันคน การทำความเข้าใจคนที่ไม่คุ้นเคย อาจเป็นสิ่งที่ท้าทาย พี่แนะนำให้ฝึกทักษะการเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น ผ่านกิจกรรมของโรงเรียน หรือชมรมที่มีเพื่อนต่างพื้นเพและต่างวัฒนธรรม
ยิ่งถ้าได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนต่างชาติต่างภาษาก็ยิ่งดี นอกจากได้ฝึกภาษาแล้วยังได้ลองพยายามค้นหาคำตอบมาอธิบายเรื่องที่เพื่อนไม่ เข้าใจด้วย แล้วเราอาจได้รู้จักรากเหง้าของประเทศบ้านเกิดดีขึ้นไปด้วย
หากน้องมีทักษะเห็นใจผู้อื่น จะช่วยให้ทลายกำแพง ลดอคติ และพร้อมเปิดรับ ผู้คนหลากหลายที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน เป็นโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจด้วย
5. เคารพทุกความแตกต่าง
ความต่างมีอยู่ทุกที่ แม้แต่ในโรงเรียนของน้องเอง เพื่อนแต่ละคน ก็ชอบต่างกัน มีความคิดต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้เราไม่ทะเลาะกัน คือการเคารพความแตกต่างของกันและกัน
อย่ารีบตัดสิน ว่าอันนี้ผิด อันนี้ถูก คนนี้ต่างจากฉัน ฉันไม่คบด้วย เราจะต้องเพิ่มทักษะการเคารพและยอมรับความแตกต่าง จะช่วยให้น้องขยายขอบเขตความรู้รอบตัว เช่น พอมีเพื่อนเป็นคนเหนือ เราก็จะได้เปิดโลกใหม่ ได้ชิมรสชาติอาหารพื้นเมือง ได้ฟังภาษาเหนือ และได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนเวลาเราไปเยี่ยมบ้านเกิดเขา
ซึ่งเก็บเอาความรู้รอบมาใช้เป็นเสน่ห์ของเราเองในวัยทำงาน เราจะไม่ด่วนตัดสินใครหากยังไม่รู้จักเขาดีพอ หรือหากเขามีความคิดต่างจากเรา ก็จะสามารถเปิดใจรับฟังไว้ก่อน แล้วเลือกนำมาปรับใช้ตามที่เห็นเหมาะสม และระมัดระวังไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดทางวัฒนธรรมกันได้ สิ่งไหนที่เขาเชื่อและรู้สึกดีที่ได้ทำ แต่เราไม่อินด้วย ก็ไม่ได้แปลว่าเขาหรือเราผิด ขอแค่เราต่างมีหลักยึดถือในการทำงานที่เหมือนกันก็เพียงพอแล้ว
6. ไม่หยุดก้าวทันโลก
น้องๆ โตมาพร้อมกับโลกดิจิทัล พี่มั่นใจว่าน้องๆ จะตามทันทุกข่าว ไม่พลาดทุกเหตุการณ์สำคัญอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นทักษะทางดิจิทัลขั้นพื้นฐานโดยอัตโนมัติ เช่น ใช้เครื่องมือดิจิทัล แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ในการสื่อสารและทำงานอยู่แล้ว
แต่พี่อยากให้น้องๆ เพิ่มทักษะนี้ให้แอดวานซ์ขึ้นกว่าเดิม เช่น กรองข่าวเป็น รู้ว่าแหล่งข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ วิเคราะห์ได้เองอย่างมีวิจารณญาณ เท่าทันสื่อในโลกออนไลน์ หรือรู้คีย์ลัดในโปรแกรมต่างๆ ที่จะช่วยเราทำงานได้รวดเร็วขึ้น เช่น สามารถประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันใหม่ๆ เช่น ใช้ Canva ในการออกแบบกราฟิกหรือศึกษาการเจาะลึกพฤติกรรมและความสนใจของผู้บริโภค ที่สามารถนำไปออกแบบประสบการณ์ในงานด้าน UX/UI หรือทำการตลาด Digital Marketing บนโซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี
หลายองค์กรปัจจุบัน ใช้ดิจิทัลช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เชื่อมต่อพนักงานจากทั่วทุกมุมโลก น้องๆ ทำงานจากที่ไหนก็ได้ แค่มีอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นสกิลเรื่องดิจิทัลจำเป็นมาก ช่วยให้น้องสื่อสารกับคนในองค์กรได้ และพร้อมเรียนรู้ ก้าวทันโลกอนาคต
ทั้ง 6 ทักษะอนาคตนี้ ช่วยเตรียมพร้อม ให้น้องๆ พร้อมสู่โลกของการทำงาน และอยู่ร่วมกับคนหมู่มากอย่างมีความสุข ที่สำคัญสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อีกด้วย ทักษะดีๆ แบบนี้วัยรุ่นทุกคนต้องมี
แหล่งอ้างอิง (Sources):
5 skills teens need in life — and how to encourage them | Harvard Health Publishing
Digital skills critical for jobs and social inclusion | UNESCO
Encouraging adaptability : a skill children need to succeed | Concordia Internationschool Shanghai
บทความใกล้เคียง
5 ทักษะจำเป็น ฝึกลูกให้เก่งตั้งแต่วันนี้ อยู่ที่ไหนก็ก้าวหน้าแน่ ใช้ได้ทุกสายอาชีพในอนาคต
Starfish Teachers Hero Season 2 แท็กทีมครูมีไฟ หัวใจฮีโร่ ในยุค New Normal
"ทักษะแห่งอนาคต" คืออะไร? มีเทรนด์ทักษะใดบ้างที่ควรรู้?
Related Courses
การทำงานแบบทีม ทักษะจำเป็นยุคดิจิทัล (Collaboration skill)
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้ว่า การทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องทำงานกับผู้อื่น แล้วเมื่อต้องทำงานร่วมกันแล้วจะส่งเสริมใ ...
การทำงานแบบทีม ทักษะจำเป็นยุคดิจิทัล (Collaboration skill)
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 100 เหรียญ