การวัดและการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน
กิจกรรม PLC Teacher ครั้งที่ 5 โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2
ต่อเนื่องในปี 2564 หัวข้อ การวัดและการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน
กิจกรรม PLC Teacher ครั้งที่ 5 การวัดและการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน เป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยน แบ่งปันแนวทางประสบการณ์ถึงวิธีการจัดการเรียนการสอน และการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับรายวิชาสังคมศึกษาและภาษาไทยในมุมมองของครูผู้สอนนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นตลอดจนการเต็มเติมและเสนอมุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิ (ศึกษานิเทศน์จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการวัด และประเมินผลในการพัฒนาผู้เรียนต่อไป
สำหรับรายวิชาสังคมศึกษา ระดับชั้นป.1-3 ธรรมชาติของวิชาสังคมจะเน้นในเรื่องของ Literacy (การเข้าใจ รู้เท่าทัน เห็นความสัมพันธ์ของทั้ง 5 สาระในวิชาเศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศาสนา) การเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจแนวคิด (Concept) ของวิชาสังคม เนื่องจากเป็นวิชาที่เน้นเนื้อหาเป็นส่วนใหญ่ และการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพสู่สังคม ด้านการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นป.1 โรงเรียนวัดนิลเพชร วิธีการสอนจะใช้หนังสือภาพเป็นสื่อในการสอน ที่เน้นให้ผู้เรียนเข้าใจแนวคิดมากกว่าเนื้อหาวิชาและมีความเหมาะสมกับวัย ด้านการวัดและประเมินผลจะอยู่ในรูปแบบของการประเมินพฤติกรรมรายบุคคลจากการสังเกต โดยการใช้แบบประเมินทักษะทางสมองในแต่ละด้าน (EF) ร่วมกับการใช้รูปแบบ Co-Teacher ร่วมประเมิน เพื่อช่วยให้ครูทราบและสามารถพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลในแต่ละด้านได้ ตลอดจนเป็นแนวทางในการออกแบบการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น สำหรับนักเรียนชั้นป.2-3 จะเน้นการใช้คำถามในการกระตุ้นและมีการวัดผลที่หลากหลาย เช่น การถาม-ตอบ โดยการใช้คำถาม 5W1H จากสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อปลูกฝังนิสัยการตั้งคำถาม การประเมินชิ้นงาน แบบทดสอบ เป็นต้น
สำหรับรายวิชาภาษาไทย ระดับชั้นป.6 - ม.3 รูปแบบการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากนักเรียนสามารถเรียนรู้ ค้นคว้า สืบค้นได้ด้วยตนเอง และมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ในการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านกองแยก จึงเน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติในรูปแบบ Active Learning โดยใช้กระบวนการ STEAM Design Process มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สำหรับการวัดและประเมินผล ด้วยธรรมชาติของวิชาภาษาไทยง่ายต่อการประเมิน เนื่องจากเนื้อหาของวิชาอยู่ในด้านความรู้ ทักษะและเจตคติ เช่น สาระที่ 1 การอ่าน สาระที่ 2 การเขียน สาระที่ 3 การฟัง พูด ซึ่งทั้ง 3 สาระเน้นการประเมินด้านทักษะ หรือสาระที่ 4 หลักภาษา เน้นการวัดด้านความรู้ และในด้านวรรณคดี วัดด้านเจตคติ การนำข้อคิดไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ดังนั้น การใช้เครื่องมือในการวัดและประเมินผลจึงมีความหลากหลายและตามสภาพจริง เช่น แบบบันทึก แบบประเมินทั้งประเมินตนเอง เพื่อนประเมิน และครูเป็นผู้ประเมิน(การประเมินแบบมีส่วนร่วม) แบบสังเกตพฤติกรรมการทำงานรายบุคคลหรือกลุ่ม และแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นต้น และจากสถานการณ์โควิด-19 การวัดและประเมินผลในช่วงที่มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โรงเรียน ได้มีการประเมินผลผู้เรียนโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การประเมินทักษะการอ่านใช้การอัดคลิปวิดีโอ แชร์ในกลุ่มเฉพาะ มีกระดานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในกลุ่ม และทำการประเมินผล สำหรับแบบทดสอบจะใช้แบบทดสอบออนไลน์ Google Form เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้มีการเต็มเติมและเสนอมุมมอง ถึงวิธีการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยการสร้าง Rubric เพื่อสร้างสมรรถนะด้านการประเมินให้กับตัวนักเรียน เป็นการนำเกณฑ์ประเมินของชิ้นงานมาสร้างเป็นแบบประเมิน Rubric ซึ่งจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การประเมินแบบรวม (Holistic Rubric) และการประเมินแบบรายด้าน (Analytic Rubric) โดยไอเดียที่จะนำเสนอมีอยู่ 3 มิติ คือ
1) การสร้างเกณฑ์ร่วมกับนักเรียน เนื่องจากในการประเมินชิ้นงานนักเรียนส่วนใหญ่ ไม่มีการบอกเกณฑ์ให้นักเรียนทราบ หรือการไม่มีเกณฑ์ในการพิจารณาแต่ใช้ดุลยพินิจหรือประสบการณ์เป็นส่วนสำคัญ ถ้าเปลี่ยนมุมมองโดยการสร้างเกณฑ์ Rubric ร่วมกับนักเรียน และประเมินตามสภาพจริง ย่อมส่งผลให้นักเรียนเกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม อีกทั้งยังเป็นการฝึกสมรรถนะในด้านการประเมินแก่นักเรียน (Assessment as Learning) อีกด้วย
2) การใช้ Rubric ที่เป็นรูปภาพ ซึ่งอาจจะมีความเหมาะสมสำหรับเด็กเล็กในบางวิชา
3) บูรณาการงานที่มอบหมายข้ามศาสตร์ โดยการผสานจากตัวชี้วัด
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ การวัดและประเมินผล ในบางสถานการณ์ไม่สามารถนำเอาตัวชี้วัดทุกตัวมาประเมินได้ ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการกำหนดเกณฑ์พิจารณาต่างๆ อาจจะต้องสกัดตัวชี้วัดที่มีความสอดคล้องกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนและมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ครูกมลพรรณ นาคบุตร โรงเรียนวัดนิลเพชร
ครูวัชรี ไชยบุตร โรงเรียนบ้านกองแยก
ศน.รัชภูมิ สมสมัย สังกัดศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่
Related Courses
บูรณาการ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน แก้ปัญห ...
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
ทำความเข้าใจ การวัดและประเมินผล สู่การนำไปใช้จริงในห้องเรียน
จะทำอย่างไรให้การวัดผล และประเมินผลการเรียนรู้ มีความหลากหลาย รู้จุดเด่น จุดที่ผู้เรียนต้องพัฒนาได้อย่างตรงจุด วันนี้ Starf ...
ทำความเข้าใจ การวัดและประเมินผล สู่การนำไปใช้จริงในห้องเรียน
ต้องใช้ 100 เหรียญ