Starfish Talk คุยสบายๆ สไตล์ Starfish : EDU TALK : ทำไมต้อง Coding
หลายๆ คนอาจเคยได้ยินคำว่า Coding กันใช่ไหมคะ แต่ถ้าถามว่า Coding คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับเด็กๆ ในยุคนี้ ในบทความนี้มีคำตอบค่ะ ซึ่งเราสรุปมาจากการพูดคุยกันในกิจกรรม Starfish Talk คุยสบายๆ สไตล์ Starfish หัวข้อ EDU TALK : ทำไมต้อง Coding โดยอาจารย์ธิติ ธีระเธียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาครู เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคุณครู ผู้ปกครอง และน้องๆ ทุกคนให้มีความเข้าใจในเรื่องของ Coding มากขึ้นค่ะ
Coding คืออะไร ?
เพื่อให้เข้าใจง่าย อยากให้ทุกคนย้อนไปในสมัยเด็กๆ เราเคยตั้งฉายาให้ใครไหม ไม่ว่าจะคุณครู หรือเพื่อนของเรา ซึ่งการตั้งฉายาที่ว่านี้ก็คือการ Coding
แม้กระทั่งตัวพยัญชนะไทยที่คนโบราณคิดค้นขึ้นมาก็เป็น Coding เช่นเดียวกัน เพราะสมัยก่อนยังไม่มีภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร มนุษย์จึงคิดตัวพยัญชนะขึ้นมาแทนสิ่งที่เราต้องการสื่อสารให้มนุษย์อีกคนหนึ่งเข้าใจ ดังนั้น ตัวพยัญชนะจึงเปรียบเสมือนรหัสหรือสัญลักษณ์ ที่นำมาใช้ในการสื่อสารข้อมูลและอธิบายสิ่งต่างๆ ให้คนอื่นเข้าใจนั่นเอง
สรุปได้ว่า การ Coding คือ การใช้สัญลักษณ์หรือรหัส เพื่อที่จะแทนความหมายในการสื่อสารบางสิ่งบางอย่าง
ทำไมเราถึงต้องเรียน Coding?
การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน เด็กทุกคนจะต้องเรียนเรื่อง Coding ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในวิชาวิทยาการคำนวณ ซึ่งวิชานี้ไม่ใช่แค่การใช้สัญลักษณ์แทนข้อมูลเท่านั้น แต่จะเป็นการสอนเรื่องของวิธีคิด เพื่อให้เด็กเกิดทักษะหลัก 4 ทักษะ ประกอบด้วย
- ทักษะการแบ่งย่อยปัญหา (Decomposition) เป็นการแบ่งปัญหาหรือสิ่งต่างๆ ออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้ง่ายต่อการแก้ไขปัญหานั้นๆ
- ทักษะการคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) เป็นความสามารถที่จะระบุได้ว่าอะไรที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ ที่เราประสบอยู่
- ทักษะการเข้าใจรูปแบบ (Pattern Recognition) เป็นการหารูปแบบหรือลักษณะสิ่งต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นเหมือนๆ กัน
- ทักษะการออกแบบขั้นตอน (Algorithm Design) เป็นการออกแบบลำดับขั้นตอนของการแก้ปัญหา
จะเห็นได้ว่า การเรียน Coding เป็นการฝึกวิธีคิด โดยเน้นไปที่ทักษะทั้ง 4 ด้าน ในการแก้ไขปัญหาผ่านการใช้รหัสแทนข้อมูลเพื่อที่จะสื่อสาร ซึ่งเราอาจจะต้องสื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจ หรือสื่อสารให้เครื่องจักรเข้าใจ ซึ่งมีหลายอาชีพที่จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีทักษะเหล่านี้
การเขียนโปรแกรมเป็น Coding หรือไม่ ?
การเขียนโปรแกรมเป็น Coding เพราะว่าลักษณะของการเขียนโปรแกรมมันคือการใช้สัญลักษณ์ในการเขียนข้อมูลเพื่อจะสื่อสารกับเครื่องจักร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทักษะทั้ง 4 ด้านที่อยู่ในวิชาวิทยาการคำนวณ
ซึ่งการเขียนโปรแกรมจะเป็นการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบของนามธรรม เป็นส่วนที่ต้องใช้ทักษะการคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) และทักษะการเข้าใจรูปแบบ (Pattern recognition) เพราะจะต้องมีการสร้างชุดคำสั่งที่มีการทำงานซ้ำๆ กันออกมาเป็นฟังก์ชันต่างๆ ด้วย
รวมไปจนถึงทักษะการออกแบบขั้นตอน (Algorithm Design) เพื่ออธิบายการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เครื่องจักรเข้าใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดังนั้นทั้ง 4 ทักษะนี้ จึงเป็นเหมือนตัวแทนของการ Coding
ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์ คุณครูจะสอน Coding ให้เด็กได้อย่างไร ?
คุณครูสามารถจัดกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อที่จะสอน Coding ให้กับเด็กได้โดยการจัดกิจกรรมแบบ Computer Science Unplugged หรือ CS Unplugged ซึ่งเป็นกิจกรรมพัฒนาทักษะเรื่องของการแยกย่อยปัญหา การระบุสาระสำคัญของปัญหา การจัดกลุ่มของปัญหา หรือรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการออกแบบขั้นตอนของการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เช่น การนำบอร์ดเกมหรือเกมทั่วไปมาให้เด็กๆ เล่น เพื่อส่งเสริมให้เด็กแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งก็เป็นการพัฒนาทักษะการ Coding เช่นเดียวกัน หรือคุณครูอาจจะกำหนดปัญหาหรือสถานการณ์ให้เด็กๆ ได้ประยุกต์ใช้ความรู้ในการแก้ไขปัญหา หรือสถานการณ์นั้นๆ โดยการจัดกิจกรรมแบบ Project Based Learning เป็นต้น
Makerspace สอดคล้องกับการ Coding อย่างไร ?
กิจกรรม Makerspace มีความสอดคล้องกับการ Coding ในเรื่องของการนำทักษะทั้ง 4 ด้าน มาประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมในทุกๆ ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนแรก คือ ถาม เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการแยกแยะปัญหา จับกลุ่มปัญหาวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้ทักษะของ Coding ก็คือ ทักษะการแบ่งย่อยปัญหา (Decomposition) ทักษะการคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) และทักษะการเข้าใจรูปแบบ (Pattern Recognition)
ขั้นตอนที่สอง คือ จินตนาการ เป็นการหาไอเดียในการแก้ไขปัญหา เด็กจะต้องเข้าใจรูปแบบของปัญหาก่อน และจะต้องมีการเปรียบเทียบกับประสบการณ์เดิมว่าปัญหาที่เขาเคยเจอในอดีตมันใกล้เคียงกันหรือไม่ และเขาคิดจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ด้วยเครื่องมืออะไรจากที่คุณครูเคยสอนอะไรไว้ ซึ่งลักษณะนี้เป็นการใช้ทักษะการเข้าใจรูปแบบ (Pattern Recognition)
ขั้นตอนที่สาม คือ วางแผน เป็นการวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน ในส่วนนี้จะเป็นการใช้ทักษะการออกแบบขั้นตอน (Algorithm Design)
ขั้นตอนที่สี่ คือ ลงมือทำ เป็นการทำตามแผน หากเจอปัญหาจะต้องแก้ไขต่อไป
ขั้นตอนที่ห้า คือ สะท้อนคิด ว่าสิ่งที่ทำนั้นผลออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งจะต้องใช้ทักษะในการแยกแยะปัญหา (Decomposition) การเข้าใจรูปแบบ (Pattern Recognition) และการคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) เพื่อวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เราคิดไว้มันเป็นไปตามแผนหรือไม่ หากเกิดปัญหาจะต้องแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น
แนวทางการสอน Coding ให้กับเด็กๆ สำหรับคุณครู และผู้ปกครอง
- เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการ Coding หรือ CS Unplugged ก่อน
- มองหากิจกรรมที่สอดคล้องกับเด็กแต่ละช่วงวัย หรือเหมาะสมกับบริบทของเด็ก เช่น สำหรับเด็กเล็กหรือเด็กชั้นประถมศึกษาตอนต้น สามารถจัดกิจกรรม CS unplugged หรือใช้เกม เพื่อส่งเสริมในเรื่องของกระบวนการคิด และพัฒนาทักษะหลักทั้ง 4 ด้านให้กับเด็กได้ และสำหรับเด็กโต อาจจะหาอุปกรณ์ที่มีความ Advance มากขึ้น และอาจจะส่งเสริมให้เขาก้าวเป็นนวัตกรผ่านการเรียน Coding ได้
ทั้งนี้ คุณครู ผู้ปกครอง และเด็กๆ สามารถเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Coding และ CS Unplugged ได้ที่ www.starfishlabz.com
สรุปได้ว่า Coding เป็นทักษะสำคัญที่เด็กๆ จะนำไปใช้ในโลกอนาคตได้ หากเด็กๆ ไม่มีทักษะทั้ง 4 ด้านก็อาจจะทำให้เขาใช้ชีวิตลำบากในอนาคต เพราะ Coding ไม่ใช่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ Coding เป็นการพัฒนาทักษะการคิดที่จะแก้ไขปัญหาและสื่อสารกับเครื่องจักร เพราะในโลกอนาคตเราอาจจะทำงานกับเครื่องจักรมากกว่าทำงานกับมนุษย์ ดังนั้น Coding จึงเป็นภาษากลางที่จะทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารกับเครื่องจักรได้อย่างเข้าใจ และทำให้เครื่องจักรสามารถทำงานตามที่มนุษย์ต้องการได้
สำหรับใครที่พลาดดู Starfish Talk Live สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ : www.facebook.com/starfishlabz/videos/195570855805857
Related Courses
การติดตาม ปรับปรุง และผลการสะท้อนกลับ
การติดตามเพื่อพัฒนา ประเมินความก้าวหน้า และสะท้อนผลที่เกิดขึ้นรวมกัน เป็นการกำหนดวิธีในการติดตามผลจากการจัดกิจกรรมการ ...
การเรียนรู้ในห้องเรียนสำหรับนักสร้างสรรค์และการประเมินผู้เรียนด้วยแฟ้มสะสมงาน
หลักสูตรสำหรับครูที่ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกิจกรรมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ ...
การเรียนรู้ในห้องเรียนสำหรับนักสร้างสรรค์และการประเมินผู้เรียนด้วยแฟ้มสะสมงาน
การสร้างรายได้จากสติกเกอร์ Line
เมื่อยุคเปลี่ยนไปการสื่อสารกันในชีวิตประจำวันเปลี่ยนตาม จากการพูดคุยกลายเป็นการพิมพ์คุยกัน การสร้างสติกเกอร์ไลน์จึงเป็นอาชีพ ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...