Makerspace พื้นที่สร้างสรรค์ นวัตกรรมไร้ขีดจำกัด
นางสาวอธิป แย้มเสมอ (ครูตาม) ตำแหน่ง ครูชำนาญการพิเศษ สอนดนตรีเคลื่อนไหวระดับชั้นอนุบาล โรงเรียนอนุบาลพิษณุโลก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1
จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณครูตาม (นางสาวอธิป แย้มเสมอ) ถึงการนำ Makerspace ไปใช้ในโรงเรียนอนุบาลพิษณุโลกนั้น ครูตามได้เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกที่รู้จัก Starfish คือเมี่อประมาณปีการศึกษา 2562 ครูโรงเรียนอนุบาลพิษณุโลกได้มาอบรมที่เชียงใหม่และมีโอกาสได้มาศึกษาดูงาน Makerspace ที่โรงเรียนปลาดาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับความต้องการพัฒนาผู้เรียนของอนุบาลพิษณุโลก แต่ ณ ตอนนั้นมาแค่ดูงานอย่างเดียว แต่ยังไม่ได้นำไปปฏิบัติจริง อยากทำแต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มตรงไหนหรือเอาไปใช้อย่างไร ไม่รู้จะประสานยังไงต่อ ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ซึ่งหลังจากนั้น ประมาณปีการศึกษา 2565 ดร.พิษณุ กันแตง ที่ปรึกษาโครงการ ได้จุดประกายไอเดียว่า โลกและยุคสมัยมีการเปลี่ยนไปเยอะแล้ว และทางโรงเรียนเองก็จัดการเรียนการสอนในโครงการห้องเรียนพิเศษ MEP มาร่วม 18 ปี คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรต้องเปลี่ยนแปลงแนวการสอน ไม่ควรที่จะจัดการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ จึงมีการจัดประชุมครูและให้กลับมาดูงานที่โรงเรียนปลาดาวอีกครั้ง ถือเป็นครั้งที่ 2 ของการมาศึกษาดูงานที่โรงเรียนปลาดาว และครั้งนี้ได้มีการนำ Makerspace มาใช้แบบจริงจัง จึงนำมาปรับให้เหมาะสมกับบริบทและสาระวิชาหรือกิจกรรม ซึ่งตรงกับกลยุทธ์ของโรงเรียนด้วย โดยทางโรงเรียนได้นำ Makerspace มาใช้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 – ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเน้นที่กลุ่มโครงการห้องเรียนพิเศษ MEP ในกลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และระดับชั้นอนุบาล
เมื่อได้นำ Makerspace มาเริ่มใช้จริงจังที่โรงเรียนนั้น ได้มีการปรับ Mindset ของครูผู้สอนก่อน โดยเฉพาะครูตามเอง ซึ่งยอมรับว่าต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนความคิดให้ออกมานอกกรอบ เปลี่ยนทัศนคติและแนวคิดให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง เมื่อครูตามพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองแล้ว ได้ให้ทีมคุณครู MEP ทุกคนมาเปลี่ยนทัศคติด้วย พร้อมตั้งเป้าหมาย วางกลยุทธ์ และวางความคาดหวังของโครงการว่าเราอยากเห็นภาพอนาคตของเด็กเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นแนวทางในการพัฒนาเด็กร่วมกัน เมื่อทุกคนมีความพร้อมครูตามจึงจัดทีมครูให้กลับมาศึกษาดูงานที่ปลาดาวอีกครั้ง เพื่อให้เห็นแนวทางการจัดการเรียนการสอน ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ของครูกับ Makerspace ได้อย่างชัดเจน
ครูตามยังได้บอกอีกว่า ทางโรงเรียนไม่ได้เปลี่ยนแค่ Mindset ของครูเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยน Mindset ของผู้ปกครองด้วย เพื่อให้เข้าใจแนวการจัดการศึกษาไปในทิศทางเดียวกัน จากนั้นจึงได้ร่วมกันสร้างห้อง Makerspace ขึ้นมา และให้นักเรียนแต่ละห้องสลับกันใช้ตามตารางที่วางไว้ ซึ่งผลจากการใช้ Makerspace ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เด็กมีการวางแผน มีการกระตุ้นการเรียนรู้จากครูให้เด็กคิดเป็น วางแผนได้ มีทักษะการคิดค้นและสร้างสรรค์ เลือกดัดแปลงเครื่องมือได้อย่างเหมาะสม เด็กมีโอกาสได้เลือกสร้างสรรค์ชิ้นงานได้ตามความสนใจ ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ครูมีหน้าที่สอนก็สอนไปตามตำราเรียน และเด็กเป็นผู้นั่งฟังหรือทำตามครูเท่านั้น
สำหรับครูตามแล้ว ได้นำกระบวนการ STEAM Design Process ไปสอนในคาบดนตรีและการเคลื่อนไหวของระดับชั้นอนุบาล ยกตัวอย่างเช่น สอนในหน่วยฝน โดยการประยุกต์เข้ากับดนตรี จากนั้นให้นักเรียนจินตนาการถึงเสียงของฝนหรือเสียงฟ้าผ่า และให้นำขยะหรือวัสดุเหลือใช้ในห้องมาสร้างเสียงตามจิตนาการของตนเอง โดยใช้แถบสีแทนเสียงต่าง ๆ เช่น สีส้มแทนเสียงฟ้าผ่า และเสียงของฟ้าผ่ามาจากการเคาะกล่องลัง หรือถัง สีเขียวเป็นเสียงฝนตกโดยใช้การบีบขวดพลาสติก สีม่วงแทนเสียงลมโดยใช้ถุงพลาสติกโบกไปมา เมื่อตัวแทนกลุ่มเลือกสีไหนก็ให้ทำเสียงของสีนั้น ๆ สำหรับกิจกรรมนี้เป็นการสร้างเสียงดนตรีจากขยะ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเสริมประสบการณ์ที่เด็ก ๆ ชอบมาก
สิ่งที่ประทับใจจากการใช้กระบวนการ STEAM Design Process นั้น ทางผู้บริหารได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนแนวการจัดการเรียนการสอน จึงได้สนับสนุนให้มีห้อง Makerspace แล้วยังได้ไอเดียการสร้างชุดรถเข็นเคลื่อนที่จากบ้านปลาดาว โดยได้มีการจัดสร้างชุดรถเข็นเคลื่อนที่ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน ซึ่งเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของเด็ก ๆ ทำให้เด็กอยากเรียนรู้และเห็นคุณค่าของขยะและวัสดุเหลือใช้ ผู้ปกครองเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้การเรียนการสอนมีความคล่องตัวมากขึ้น ช่วยลดภาระการสอนของครู แต่เน้นการเรียนการสอนที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้
ครูตามได้แจ้งกับผู้เขียนเพิ่มเติมว่า อยากให้ Starfish เข้ามาติตตามการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลพิษณุโลกอย่างสม่ำเสมอ เพราะหลังจากที่ได้มาศึกษาดูงาน Makerspace ที่โรงเรียนบ้านปลาดาวแล้ว ได้มีการนำกระบวนการมาปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทและกิจกรรมของโรงเรียน พร้อมทั้งมีการปรับปรุงแก้ไขต่อยอดกระบวนการให้มีการบูรณาการได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทางโรงเรียนเองก็ยังอยากได้คำแนะนำ หรือแนวทางในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้จาก Starfish อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และสามารถปรับตัวให้ทันต่อยุคการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้อย่างสมบูรณ์แบบ
Related Courses
พื้นที่แบบไหนก็จัด Makerspace ได้
พื้นที่นักสร้างสรรค์ Makerspace เป็นการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ สามารถจัดได้หลายรูปแบบตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อใ ...
คู่มือ Starfish Makerspace Certified Teacher & School Leader
Starfish Makerspace Certified Teacher & School Leader เป็นคู่มือที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมพัฒนาทักษะและศักยภาพข ...
คู่มือ Starfish Makerspace Certified Teacher & School Leader
การวางแผนพัฒนาตนเอง
การวางแผนพัฒนาตนเองช่วยให้คุณครูกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีการวางแผน และช่วยให้ครูเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม มีการกำหนดระ ...
พื้นที่แบบไหนก็จัด Makerspace ได้
พื้นที่นักสร้างสรรค์ Makerspace เป็นการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ สามารถจัดได้หลายรูปแบบตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อใ ...