เทคนิคการสอนแบบ Next Gen สัมภาษณ์ครูแนน ผู้ใช้ STEAM Design Process เป็นเครื่องมือการจัดการเรียนรู้
ประเด็นสัมภาษณ์ครูแนนนี่ ผู้ได้รับรางวัล “Next Generation Teacher Award 2023” ระดับดีเด่น จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ด้วยนวัตกรรม STEAM Design Process
แนะนำตัว
- ชื่อนางสาวเฌอมารินทร์ แหวนเพ็ชร์ (ครูแนนนี่) โรงเรียนมิตรมวลชนเชียงใหม่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
ความเป็นมาและแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณครูได้รับรางวัลในครั้งนี้
ข้าพเจ้าเคยมีความทรงจำที่ไม่ดีในการมาโรงเรียน ไม่สนุก ไม่มีความสุข ไม่มีแรงบันดาลใจและไม่มีเป้าหมายว่าเรียนแล้วจะเอาไปใช้อย่างไร ซึ่งหลังจากที่ได้เข้ามาอยู่ในวงการศึกษาทำให้ข้าพเจ้าไม่อยากให้เด็ก ๆ มีความรู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้า อยากให้ทุก ๆวันของการมาเรียนมีความสุขและมีเป้าหมาย ดังนั้นการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ และวิธีการสอนจึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนสนใจที่จะเรียนรู้ ข้าพเจ้าใช้การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ คือ กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามความสนใจ ความสามารถ โดยเชื่อมโยงเนื้อหาสาระของวิชาต่าง ๆ สามารถนำความรู้ ทักษะ และเจตคติไปสร้างงาน แก้ปัญหา และใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง โดยออกแบบให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมของผู้เรียน ซึ่งผู้เรียนกว่าร้อยละ 90 เป็นชาติพันธุ์ม้ง
กระบวนการและที่มาในการสร้างนวัตกรรม
STEAM Design Process เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้แบบการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 โดย ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นระดับเหรียญทองจากคุรุสภา โดยข้าพเจ้าได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำวิจัยและนำนวัตกรรมมาทดลองใช้ในห้องเรียนต้นแบบคือโรงเรียนบ้านปลาดาว (Starfish Country Home School Foundation) STEAM Design Process เป็นกระบวนการที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงและการทำงาน โดยมีการบูรณาการองค์ความรู้ 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่า สะเต็มศึกษา (STEM Education) และเพิ่มศิลปะ (Art) เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีก คือ สมองซีกซ้าย เป็นส่วนของการตัดสินใจ ทำหน้าที่การคิด ด้านตรรกะ การวิเคราะห์ การจัดเรียงลำดับขั้นตอน แบบแผน การใช้ภาษา การคำนวณ และการใช้หลักความจริง และสมองซีกขวา เป็นส่วนของการคิดสร้างสรรค์ การรับรู้สัญชาตญาณและอารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ สุนทรียะทางศิลปะและการออกแบบ ทั้งนี้รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้มีความแตกต่างและหลากหลายตามบริบทของผู้เรียน โรงเรียน และชุมชนซึ่งข้าพเจ้าได้นำมาปรับใช้กับนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง โรงเรียนมิตรมวลชนเชียงใหม่ โดยนวัตกรรม STEAM Design Process ถูกนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมของผู้เรียน ซึ่งผู้เรียนกว่าร้อยละ 80 เป็นชาติพันธุ์ม้ง ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขายพืชผัก ผลไม้ และดอกไม้ นักเรียนต้องพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือตนเอง บางครอบครัวนักเรียนต้องช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพ ดังนั้นโรงเรียนมิตรมวลชนเชียงใหม่จึงเน้นไปที่ทักษะอาชีพมากกว่าทักษะทางวิชาการ แต่ถึงกระนั้นการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะต้องเกิดการเชื่อมโยงของชุดเนื้อหาทั้งความรู้ ทักษะ เจตคติ ถักร้อยเป็นเส้นเดียวกัน โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติงานได้จริง มีการบูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เพื่อนำไปใช้จนเกิดความสำเร็จในการปฏิบัติงาน
ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้ใช้นวัตกรรม STEAM Design Process มาเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ในทุกวิชาที่สอนโดยหลักๆข้าเจ้าสอนวิชาภาษาไทย วิธีการคือให้ผู้เรียนได้เป็นผู้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองมากกว่าการให้ฟัง จดบันทึก และท่องจำ โดยมีกระบวนการดังนี้
1. ASK ตั้งคำถาม (ถามคือสอน) เช่น นักเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับคำราชาศัพท์ แล้วมีสิ่งใดที่เป็นปัญหา อุปสรรคต่อการเรียนเรื่องนี้ ซึ่งนักเรียนพบเจอปัญหาคือจำคำราชาศัพท์ไม่ได้ ไม่รู้วิธีใช้ สิ่งที่ตามมาก็คือ จะทำอย่างไรให้สามารถจดจำและนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น
2. IMAGINE จินตนาการ เป็นการระดมแนวคิดเพื่อการออกแบบวิธีที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา ครูจะตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนเกิดความคิดในการออกแบบ เช่น “กิจกรรมหรือเกมอะไรที่เด็กๆสนใจ” “ถ้าใบงานที่เราทำเรื่องคำราชาศัพท์ไม่น่าสนใจเราจะสร้างชิ้นงานอะไรให้น่าสนุก” ซึ่งนักเรียนให้ความสนใจเกี่ยวกับการ์ตูนและการสร้างโมเดล จึงจะทำโมเดลการ์ตูนที่สนใจแล้วทำบัตรคำราชาศัพท์
3. PLAN วางแผนการทำงาน คือการกำหนดเป้าหมาย และลำดับขั้นตอนของการสร้างชิ้นงาน โดยขั้นตอนนี้นักเรียนเลือกตัวละครจากการ์ตูนที่ตนเองสนใจมาทำเป็นโมเดลคำราชศัพท์ บทบาทของครูในขั้นตอนนี้คือเป็นผู้ถามและอำนวยความสะดวกเช่น “โมเดลที่เราจะทำต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง” “หากไม่สามารถหาวัสดุที่ระบุไว้ได้จะใช้อะไรแทนได้บ้าง”
4. CREATE ลงมือปฏิบัติ คือการลงมือทำเพื่อสร้างสรรค์งานในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาตามแผนที่ได้วางไว้ ซึ่งในขั้นตอนนี้เราจะมองเห็นกระบวนการทำงานของผู้เรียน การแก้ไขปัญหา โดยครูมีหน้าที่ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน เช่น “เราจะทำอย่างไรให้โมเดลของเราสามารถตั้งได้”
5. REFLECT & REDESIGN การสะท้อนความคิด ออกแบบใหม่ คือนำผลจากการใช้งานมาคิดทบทวน และไตร่ตรองเพื่อสะท้อนถึงสิ่งที่ได้ทำมา เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาชิ้นงานหรือวิธีการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะได้นำเสนอผลงานของตนเองและได้อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับผลงานที่ทำ อีกทั้งยังสะท้อนคิดเพื่อแก้ไขผลงานของตนเองได้อีกด้วย
ในแต่ละขั้นของกระบวนการจัดการเรียนรู้ STEAM Design Process กระตุ้นให้เด็กดึงทักษะและศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ในแบบต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความยากง่ายและท้าทายในแบบที่แตกต่างกันไปสำหรับเด็กแต่ละคน โดยประเมินผลตามสภาพจริง ซึ่งเป็นการประเมินผลระดับชั้นเรียนที่อาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์ต่าง ๆ เป็นหลักฐานที่บ่งชี้การเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ผลงานหรือชิ้นงาน แฟ้มสะสมงานและการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ เป็นรูปแบบการประเมินที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของตนเองได้ ครูผู้จัดกิจกรรมจึงต้องคอยชี้แนะในแบบที่ไม่ชี้นำมากเกินไป เพื่อให้เด็ก ๆ มีอิสระที่จะคิดสร้างสรรค์ได้โดยไม่หลุดกรอบการดำเนินงานที่วางไว้
จากการใช้นวัตกรรม STEAM Design Process กระบวนการทั้ง 5 ขั้นนี้ในการจัดการเรียนการสอน พร้อมกับเทคนิคการสอนอื่นๆร่วมด้วย ทำให้สามารถประเมินตามสมรรถนะด้านต่าง ๆอย่างเห็นได้ชัดเจน นักเรียนได้ทักษะในศตวรรษที่ 21 คือ
1. ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and innovation)
2. การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา (Critical thinking and problem solving)
3. การทำงานร่วมกันเป็นทีมและภาวะผู้นำ (Collaboration teamwork and leadership)
4. ความสามารถในการสื่อสารในโลกสมัยใหม่ (Communications, information and media literacy)
5. การรู้จักตนเอง (Self awareness)
6. การบริหารจัดการตนเอง (Self management)
7. การรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง (Responsible decision making)
8. การรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง (Responsible decision making)
9. ด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills)
10. ทักษะชีวิตและการประกอบอาชีพ (Life and Career skills)
ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง มีความสุข ความภูมิใจในสิ่งที่ตนเองทำ นอกจากนักเรียนจะมีความสุขและได้ความรู้จากสิ่งที่เรียนอีกทั้งยังตอบโจทย์เป้าหมายครูและเป้าหมายผู้เรียนได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นนักเรียนยังได้ฝึกทักษะชีวิต การพึ่งพาตนเอง และสามารถแก้ไขปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำได้
รางวัลนี้ช่วยพัฒนาคุณครูยังไงได้บ้าง
รางวัลนี้ช่วยพัฒนาให้ข้าพเจ้าเป็นครูที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้แก่
1.สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น (Teach less Learn More) ส่งผลให้ครูต้องหาความรู้และสั่งสมประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการสอนที่หลากหลายเปิดโอกาสให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง หรือศึกษาจากสภาพจริง เป้าหมายของการเรียนรู้เปลี่ยนจากเรียนเพื่อรู้เป็นเพื่อทักษะ
2.ครูฝึก (Coach) ครูต้องเรียนรู้หลากหลายศาสตร์และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดทักษะและประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการดำรงชีวิต และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน
3.ฝึกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ให้ทำงานร่วมกันเพื่อขยายความรู้ของตนเองให้ออกไปได้มากที่สุด ซึ่งจะเกิดความรับผิดชอบร่วมกันและเกิดบรรยากาศการเรียนรู้แบบใหม่เป็นการร่วมมือ ไม่ใช่มุ่งการแข่งขันเพื่อให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ แต่เรียนรู้ที่จะร่วมมือเพื่อขยายความสามารถและนำไปสู่ทักษะการเรียนรู้พร้อมๆกัน
4.ฝึกผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยครูเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนตั้งแต่เริ่มต้นคือ วิเคราะห์ตนเองว่าสนใจหรือถนัดในเรื่องใด ต้องการเรียนรู้ด้วยวิธีไหน ต้องการได้รับการประเมินแบบไหน และมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการสอนต่างๆ เพียงใด
5.จัดการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) การเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ หรือทำกิจกรรมด้วยตนเองตั้งแต่ ทักษะการตั้งประเด็นปัญหา ทักษะการค้นคว้าและสืบค้นข้อมูล ทักษะการลงมือปฏิบัติ ทักษะการสรุปผล และได้ฝึกทักษะการนำเสนอผลงานและทักษะการประเมินความก้าวหน้าของงานหรือกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการฝึกการทำงานเป็นกลุ่มของผู้เรียนได้
6.ครูประเมินผู้เรียนจากผลการพัฒนา เป็นการประเมินความก้าวหน้ามุ่งนำผลมาแสดงให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง โดยครูมีความเชื่อว่า “ผู้เรียนสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าได้ตลอดเวลา”
7.ร่วมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนปัญหาและประสบการณ์ นำไปสู่วิเคราะห์วางแผนและออกแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
แนวคิดในการปรับปรุงและพัฒนาการสอน
ข้าพเจ้าอยากพัฒนากิจกรรมการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรื่องได้เข้าถึงและมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้แบบเน้นการลงมือปฏิบัติ และมีการประเมินทักษะของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ให้ผลสะท้อนกลับต่อผู้เรียนให้เกิดการพัฒนาตนเอง ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนวิชาภาษาไทย เห็นคุณค่าและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
คิดว่าการศึกษาไทยควรพัฒนาไปแบบไหนเพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์มากที่สุด
จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด องค์ความรู้และเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยได้พัฒนาก้าวขยับตามไปด้วย ในทางกลับกันก็ยังมีกลุ่มเด็กๆที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีทางการศึกษาทำให้เกิดความสวนทางกัน ซึ่งข้าพเจ้ามองว่า การเน้นในเรื่องความเท่าเทียมและเข้าถึงทางการศึกษานั้นสำคัญ คือ ทุกคนควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอหน้ากัน ทั้งด้านสิทธิ สวัสภาพ เทคโนโลยีและอื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเท่าทันไปพร้อมๆกับสังคม
วิธีสร้างแรงบันดาลใจของคุณครูเพื่อให้นักเรียนเกิดการอยากเรียนรู้
ครูสร้างความรู้ความเข้าใจ แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่นักเรียนกำลังเรียนรู้อยู่นั้นมีความน่าสนใจอย่างไร และมีความสำคัญต่อชีวิตของนักเรียนมากขนาดไหน จัดกิจกรรมให้มีความแปลกใหม่ในแต่ละสัปดาห์ มีภาระงานที่หลากหลายรูปแบบ มีการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกหรือออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เช่น วิชาภาษาไทยเรื่องการแต่งกาพย์ กลอน อาจจะเป็นเรื่องที่ยากและน่าเบื่อ แต่ผู้เรียนชอบร้องเพลง จึงได้เสนอว่าจะใส่จังหวะเพลงลงไปในบทกลอน เป็นต้น
คุณครูมีวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนและผู้ปกครองในพื้นที่ห่างไกลได้ยังไง
วิธีการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าครูจะต้องเอาใจนักเรียน เป็นครูที่ดีใจตลอดเวลาเพื่อให้นักเรียนรักหรือพึงพอใจ แต่การสร้างสัมพันธ์ที่ดีของข้าพเจ้าคือการรับรู้ เข้าใจ เข้าถึง แนะนำ ตักเตือน และสร้างความไว้วางใจให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือครูต้องมีจิตวิทยาในเด็ก รู้ว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร และจะรับมืออย่างไร จะสร้างความไว้วางใจอย่างไร เพราะสิ่งที่เด็กๆ และผู้ปกครองต้องการจากครู มีสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นครูไม่แพ้กันคือ “ความเข้าใจในความแตกต่างของผู้เรียน” เป็นครูที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียนได้ สามารถตอบสนองความใคร่รู้ของเด็กๆ ได้ และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสร้างบริบททางสังคมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายได้
คิดว่าบทบาทของครูในสังคมปัจจุบันควรเป็นอย่างไร
บทบาทของครูในสังคมที่ข้าพเจ้ายึดถือเป็นหลักคือ "TEACHER"
1. TEACH (การสอน) สอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ในตนเอง มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี
2. EXAMPLE (เป็นตัวอย่าง) ผู้เรียนจะ “เรียน” และ “เลียน” จากตัวครู การทำตัวเป็นต้นแบบหรือแบบอย่างจึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมากก
3. ABILITY (ความสามารถ) ครูต้องมีการพัฒนาความสามารถในการสอน เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การสอนดีที่สุด
4. CHARACTERISTIC (คุณสมบัติ) คุณสมบัติของความเป็นครู สิ่งสำคัญคือ ครูจะต้องมีเจตคติที่ดีต่อผู้เรียน ต่อวิชาที่สอน และต่องานที่ทำ
5. HEALTH (สุขภาพดี) สุขภาพทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ ทำประโยชน์ต่อสังคมด้วยความพอใจ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต่อบุคคลที่เราอยู่ร่วมและต่อสังคมที่เราเกี่ยวข้อง โดยไม่ก่อความเดือดร้อนให้ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
6. ENTHUSIASM (ความกระตือรือล้น) ครูต้องใฝ่หาความรู้เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ
บทความใกล้เคียง
Related Courses
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...