การพัฒนาสุขภาวะทางจิตของนักเรียนด้วยจิตศึกษา
การเรียนตามหลักสูตรของโรงเรียนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เด็ก ๆ เติบโตและพัฒนาได้อย่างรอบด้าน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนักเรียนชั้นอนุบาล ประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ต่างก็ต้องการกิจกรรมเสริมเพื่อเพิ่มทักษะต่าง ๆ ให้กับพวกเขา โรงเรียน คุณครู รวมถึงผู้ปกครอง จึงควรมีกิจกรรมนอกหลักสูตรให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เพิ่มเติม หนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทางการเรียนรู้ได้ก็คือ กิจกรรมที่ประยุกต์ด้วยจิตศึกษา หรือ กิจกรรมจิตศึกษา เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาความคิดของนักเรียน โดยเน้นความสุขทางจิตใจเป็นหลัก
ความหมายของ จิตศึกษา
พระมหาอวิรุทธิ์ โสภณสุธี นิยาม จิตศึกษา ว่า ‘เป็นเรื่องของความคิดของทุกคน โดยที่เราทุกคนทำความเข้าใจกัน’ หรือพูดกันง่าย ๆ จิตศึกษาก็เป็นเหมือนการศึกษาเข้าไปยังจิตใจของคนคนหนึ่งนั่นเอง ส่วน สุขภาวะทางจิตของนักเรียน มาจากการรวมคำ 3 คำ ได้แก่ คำว่า ‘สุข’ ที่หมายถึง ความสุขทั้งทางกายและทางใจ คำว่า ‘ภาวะ’ คือ ความเป็น ดังนั้น ‘สุขภาวะ’ จึงหมายถึง ความเป็นสุข ส่วนคำที่ 3 ‘จิต’ ในที่นี้คือ ความคิด เมื่อรวมเป็น ‘สุขภาวะทางจิต’ จึงหมายถึง ความเป็นสุขทางความคิด และ สุขภาวะทางจิตของนักเรียน จึงแปลได้ว่า ภาวะความเป็นสุขทางความคิดของนักเรียน
สุขภาวะทางจิตของนักเรียน มีความสำคัญที่ผู้สอนทุกคนจะต้องศึกษาเอาไว้ เพราะการกระทำทุกอย่างของตัวผู้สอนและวิธีการสอน จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดจากการทำความเข้าใจความคิดและความต้องการของตัวผู้เรียนก่อน เมื่อตัวผู้สอนเข้าใจก็จะสามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม จิตศึกษา จึงถือเป็นวิธีการในการทำให้ผู้สอนหรือคุณครูสามารถเข้าใจความคิดของนักเรียนได้ เมื่อประยุกต์จิตศึกษาเข้าไปในกิจกรรมก็จะทำให้เข้าใจนักเรียนมากขึ้น ตัวผู้สอนเองก็ควรทำความเข้าใจตนเองเช่นกัน เพื่อที่จะได้พัฒนาการสอนของตนเองให้ตรงกับนักเรียนได้มากขึ้น อีกทั้งควรพัฒนาตนเองก่อนนำความรู้ไปพัฒนานักเรียนและผู้อื่น
ตัวอย่างกิจกรรมจิตศึกษาที่ใช้ในการพัฒนานักเรียน โดยเน้นที่กิจกรรมสำหรับเด็กชั้นอนุบาลและประถมศึกษา
1. กิจกรรมบทบาทสมมติ ให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมติ เช่น พระอาจารย์ใช้ตัวอย่างเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธกาล กิจกรรมนี้ทำให้เด็ก ๆ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น เนื่องจากได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง ซึ่งคุณครูสามารถใช้การแสดงเรื่องอื่น ๆ ตามบทเรียนได้
2. กิจกรรมคัดเลือกสีของหนังยางพลาสติกในตู้น้ำ เป็นการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ที่มี โดยกำหนดกติกาให้กับนักเรียน เช่น กิจกรรมนี้พระอาจารย์ให้นักเรียนหยิบสีหนังยางตามที่บอก ทำให้เด็ก ๆ จดจ่อจิตใจอยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ แม้ว่าอาจจะได้สีที่ไม่ถูกต้องก็ตาม
3. กิจกรรมวางขวดน้ำบนศีรษะ การทำกิจกรรมจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือสำหรับเด็กเล็ก สามารถให้จับขวดไว้ได้ แต่ต้องห้ามให้ร่วงหล่น เพื่อให้เด็ก ๆ อยู่นิ่ง มีสมาธิกับขวดน้ำ และสำหรับเด็กโต ห้ามจับ เพื่อให้ฝึกความอดทนและความสงบในจิตใจ ระหว่างกิจกรรมมีเพลงเปิดให้ฟัง เพื่อให้รู้สึกสงบขึ้น และทำเหมือนเป็นเกมสนุก ๆ ไม่ใช่คำสั่ง แค่ให้เขารู้สึกมีเครื่องยึดเหนี่ยวสมาธิ นั่นก็คือขวดน้ำ
4. กิจกรรมใช้หลอดเป่าลูกปิงปอง ให้เด็ก ๆ เป่าลูกปิงปองไปตามเส้นทางที่กำหนดให้ เพื่อให้เขามีสมาธิอยู่กับการเป่าลูกปิงปองให้ไปถึงเป้าหมาย
5. กิจกรรมกรอกน้ำใส่ขวด ให้นักเรียนแข่งกันกรอกน้ำใส่ขวด สามารถใช้น้ำแบบไหนก็ได้ให้น่าสนใจ เช่น น้ำที่มีสีสัน เพื่อให้จิตใจของนักเรียนจดจ่ออยู่กับการเทน้ำ ผู้ปกครองสามารถประยุกต์ใช้กับการทำงานบ้านได้
6. กิจกรรมเรียงนอต ให้เด็ก ๆ เรียงนอตโดยใช้ดินสอหยิบนอตในกระดาน ช่วยให้เกิดทักษะทางร่างกาย ได้กล้ามเนื้อ และได้ความสงบทางจิตใจ
7. กิจกรรมอื่น ๆ เช่น ช่วยกันส่งถ้วยน้ำ, เรียงสีหนังยาง, ทำท่าทางตามที่กำหนด, ช่วยกันใช้เท้าดันลูกบอกไม่ให้หล่น (ได้ทักษะการทำงานเป็นทีม)
ข้อแนะนำการทำกิจกรรม
กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็ก ๆ ได้จดจ่อกับการเคลื่อนไหวของสิ่งของ ได้มีสมาธิกับสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ เด็ก ๆ จะได้รู้จักสติ รู้สึกสงบ ในแต่ละกิจกรรมเด็กพิเศษสามารถเข้าร่วมได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นพวกเขาก็จะรู้สึกเป็นส่วนรวมกันมากขึ้นอีกด้วย การทำกิจกรรมสามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1. ทำตามสบาย ให้เชียร์เพื่อนได้ หรือจัดเป็นการแข่งขัน เพื่อให้ลุ้น และกระตุ้นตัวเด็กให้เกิดความตื่นเต้น ช่วงนี้จิตใจและหูจะจดจ่ออยู่กับเพื่อน เด็ก ๆ จะได้ความเฮฮาสนุกสนาน เป็นการทำให้เด็กเปิดใจทำกิจกรรม ควรจัดให้นักเรียนที่แข่งกันเป็นคนที่มีทักษะระดับเดียวกัน โดยค่อย ๆ แนะนำและให้กำลังใจคนที่ยังทำไม่ได้ และอย่ากดดันเด็กมากจนเกินไป
ช่วงที่ 2. ให้ทำแบบเงียบ ๆ เพียงลำพัง เมื่อเงียบก็จะได้ความสงบ จิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำมากขึ้น หลังทำกิจกรรมควรมีรางวัลให้บ้าง โดยให้ทุกคนได้รับเท่า ๆ กัน เป็นสิ่งเดียวกัน เช่น ให้รางวัลเป็นขนมแบบที่เด็ก ๆ ชอบ เพราะไม่ได้ต้องการให้เด็ก ๆ ตึงเครียดกับการแข่งขัน ไม่ต้องการผู้แพ้ชนะ แต่ต้องการให้เด็ก ๆ มีสมาธิ
การวัดประเมินผล
ทั้งนักเรียนชั้นประถมและมัธยม ผู้สอนไม่ควรใช้การวัดผลด้วยตัวเลข หรือหลักการชี้วัดที่แน่นอนแต่ควรวัดจากความเข้าใจของผู้สอนว่ามีความเข้าใจในตัวเด็กอย่างไรบ้าง เนื่องจากกิจกรรมจิตศึกษาจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของเด็ก ๆ ทั้งทางด้านความคิดและอารมณ์ การวัดผลจึงเป็นการสังเกตการเรียนรู้ของเด็ก ๆ โดยไม่ต้องสนใจอะไรถูกหรือผิด เช่น ผู้สอนควรสังเกตความสามารถที่พวกเขาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ สังเกตว่าเด็ก ๆ มีทักษะที่ดีขึ้นจากเกมก่อน ๆ หรือมีการแก้ปัญหาได้ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งแต่ละกิจกรรมอาจจะเหมาะสมกับนักเรียนแตกต่างกัน หนึ่งกิจกรรมจะไม่สามารถใช้วัดได้กับทุกคน
การเติบโตของคนเราไม่เหมือนกันด้วยปัจจัยรอบด้าน เราทุกคนต่างกัน ดังนั้นเราจึงต้องใช้วิธีการที่ต่างกันในการเข้าอกเข้าใจ และเห็นใจผู้อื่น และก่อนจะทำความเข้าใจผู้อื่นได้ ตัวเราเองก็ควรมีทัศนคติที่ดี ประกอบไปด้วยความรัก ความเข้าใจ และความเห็นใจ ซึ่งในฐานะของผู้สอน ผู้แนะนำ ทั้งคุณครู และผู้ปกครอง ก็ควรมีจิตเมตตาให้กับเด็ก ๆ ซึ่งความเมตตานี้จะทำให้ผู้สอนมีความพยายามในการมองหาวิธีการสอนที่เหมาะสมกับตัวเด็กได้โดยไร้อคติ เด็ก ๆ ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากเราก็จะเปิดใจรับในสิ่งที่สอน และพวกเขาก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดกลับไปยังตัวเขาเอง
บทความใกล้เคียง
แชร์ไอเดียการสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ง่ายๆ สไตล์โรงเรียนบ้านปลาดาว
การศึกษาหลังยุคโรคระบาดจะเป็นอย่างไร? 5 แนวโน้มเทคโนโลยีการศึกษาที่สถาบันต้องจับตาในปี 2023
Teachers Hero’s Journey เส้นทางครูฮีโร่ ในยุค new normal
Related Courses
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...