สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร นำทีมผู้บริหารศึกษาดูงานโรงเรียนปลาดาว มุ่งพัฒนาสมรรถนะของนักบริหารการศึกษาระดับสูงของกรุงเทพมหานคร
โรงเรียนปลาดาว เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทศึกษาสงเคราะห์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาในระดับอนุบาลและประถมศึกษา ตั้งอยู่ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนปลาดาวจัดตั้งขึ้นเพื่อให้โอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แก่เด็กและครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ โรงเรียนปลาดาวมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนและบุคคลากรทางการศึกษาให้มี ทักษะและสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ การจัดการเรียนแบบ Problem Based Learning (PBL), Makerspace และ นวัตกรรม 3R (Reading, Writing and Arithmetic)
ในการนี้ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร นำโดย นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร, นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา, นายพรนิวัฒน์ แป้นเพชร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางกาารศึกษากรุงเทพมหานคร, นางสาววรัญญา รังสีวนิชอรุณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ พร้อมด้วยผู้บริหารสถานศึกษาจากโครงการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการศึกษามหานครระดับสูง (นสศ.) รุ่นที่ 9 รวม 35 ท่าน เข้าศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนปลาดาว ในวันที่ 27 มิถุนายน 2567
การศึกษาดูงานในครั้งนี้ ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะของนักบริหารการศึกษาระดับสูงของกรุงเทพมหานคร ให้สามารถใช้การเรียนรู้ที่ยั่งยืนในการพัฒนาวิสัยทัศน์ทางการบริหารการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมทางการศึกษา เพื่อประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และนโยบายทางการศึกษาและส่งเสริมภาวะผู้นำ คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ
โรงเรียนปลาดาวได้ต้อนรับคณะศึกษาดูงาน นำโดย นางสาวโยโกะ เตรูย่า รองประธานมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น และนางมุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนปลาดาว กล่าวต้อนรับพร้อมแนะนำหลักสูตรและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนปลาดาวแก่ผู้เข้าร่วม นอกจากนี้ได้พาเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนนวัตกรรม 3R (ไทย คณิต อังกฤษ) นวัตกรรมที่จะเป็นตัวช่วยในเรื่องการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานโดยใช้ความสนใจเป็นฐาน (Project Based Learning) และโครงงานการใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) ด้วยกระบวนการ EDICRA เพื่อส่งเสริมให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเองและบูรณาการเชื่อมโยงกับวิชาต่างๆ กิจกรรม Makerspace ที่จะเป็นไอเดียให้กับคุณครูในการจัดพื้นที่นักสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการ STEAM Design Process เพื่อสร้าง Active Learning ในห้องเรียน และส่งเสริมทักษะสำคัญในอนาคตอีกด้วย
นางสาวโยโกะ เตรูย่า รองประธานมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น กล่าวว่า “ สำหรับผู้บริหารยุคใหม่มุมมองที่ดีและสำคัญมากที่สุดเป็นเรื่องของการมองให้กว้างและมองไปสู่โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราจะนำมุมมองหรือวิสัยทัศน์มาปรับให้เหมาะกับการจัดการศึกษา ในสิ่งที่เราดูแลและรับผิดชอบอยู่ เมื่อทราบแล้วสามารถนำมาเป็นแผนดำเนินการที่สามารถเป็นไปได้จริงในระยะสั้น และส่งผลต่อไปในการพัฒนาสู่ระยะยาวโดยมองที่พัฒนาการของเด็กเป็นหลัก เด็กหลายคนมีความสามารถหรือคุณภาพในการเรียนสูงมากๆ แต่อาจจะไม่ได้รับโอกาสที่จะส่งเสริมแสดงออกให้ไปถึงศักยภาพนั้น การจัดการศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ และคุณครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับเด็กๆ ดังนั้นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และสามารถนำมาเป็นระบบที่สามารถเคลื่อนที่ได้ในระยะสั้นและระยะยาว จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการบริหารจัดการเพื่อผลักดันให้การศึกษายุคใหม่เข้ามาสู่ความเป็นจริงได้ง่ายขึ้น”
และในช่วงสุดท้าย นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมสะท้อนคิดในการศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า “เห็นด้วยและพยายามขับเคลื่อนมาตลอด คือบทบาทในเรื่องการพัฒนาการศึกษาและการให้โอกาสกับคนในสังคม ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นเรื่องควบคู่กัน การจัดการศึกษาให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปกับปัญหาที่โลกต้องเจอ โอกาสที่จะทำให้ทุกคนมีเท่ากัน คือ สถาบันการศึกษา ขอชื่นชมกรอบในการพัฒนาการศึกษาของมูลนิธิฯ การที่ได้มีโอกาสมาเห็นการออกแบบนวัตกรรมการศึกษาที่เป็นเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนให้เด็กมีทักษะสำคัญรอบด้าน นอกจากนี้ในเรื่องของหลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนวิธีการ แต่ต้องควบคู่ไปกับการเปลี่ยนวิธีคิดด้วย ซึ่งจะเป็นการต่อยอดคุณภาพของผู้เรียนของแต่ละคนให้ก้าวต่อไปตามศักยภาพ บางคนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตัวเอง โรงเรียนเป็นที่ปรึกษาเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ การมีนวัตกรรมก็ช่วยทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เร็วขึ้น และส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้เรียนได้สร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย”
ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด
“วัยรุ่นเจนใหม่ คิดเจ๋ง ไอเดียเปลี่ยนโลก!” ส่งนวัตกรรมสู้วิกฤต (SDG) เปลี่ยนอนาคต!
21.01.25
คุณโยโกะ เตรูย่า ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน OEC Hackathon: เรียนดี มีความสุข ชุมชนยั่งยืน - เสริมสร้างทักษะเพื่ออนาคต
10.02.25
“ระเบิดไอเดีย! 30 ทีมเยาวชนไทย ผ่านเข้ารอบ Pitching [Future Youth Thailand] เตรียมโชว์นวัตกรรมการเรียนรู้สุดล้ำ เปลี่ยนอนาคตการศึกษาไทย!”
20.02.25
ศธ. เข้ม! ผิดวินัยร้ายแรง โดนโทษจริงจัง! พอใจ TRS ทะลุ 1.5 หมื่น เดินหน้าพัฒนา PISA พร้อมสั่งโรงเรียนพิจารณาปิด-เปิด ช่วง PM 2.5
27.01.25