หนี้สินและสวัสดิการ ชุมชนออนไลน์

ศธ. ทำถึง ดึงธนาคารออมสินนำร่องแก้หนี้ครู ลดดอกเบี้ย สนับสนุนสินเชื่อ 2 พันล้านบาท สร้างคุณภาพชีวิตครูระยะยาว

นางภานุเกต
นางภานุเกต

3 เดือนที่แล้ว

31 พฤษภาคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเข้าใจการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมต.ศธ., นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต และประธานกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจาก 100 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวว่า วันนี้เป็นนิมิตรหมายอันดีที่ ผอ.เขตพื้นที่ฯ และประธานสหกรณ์ต่าง ๆ ได้ร่วมกันรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแต่ละพื้นที่ โดยมี สพฐ. เป็นหน่วยงานที่เข้ามาขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น นอกจากสถาบันทางการเงินแล้ว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ยังได้ประสานหาแหล่งสินเชื่อเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง และทางกระทรวงศึกษาธิการจะพยายามหาแหล่งสินเชื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดอื่นทั่วประเทศ เป็นการแบ่งเบาภาระครูอีกทางหนึ่ง และนอกจากการแก้ไขหนี้สินที่ปลายเหตุแล้ว ด้านต้นเหตุได้มีการให้ความรู้ด้านการเงิน จากโค้ชหนุ่ม นายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ ผู้เชียวชาญการจัดการบริหารหนี้สิน ที่จะมาแนะนำการสร้างวินัยทางการเงินให้ครูอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ยังมีพิธีลงนามในสัญญาสนับสนุนสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ” ระหว่างธนาคารออมสิน กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อกับครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 2,000 ล้านบาท และลดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.88 ต่อปี โดยเป็นการนำร่องที่จังหวัดกาญจนบุรีก่อน และจะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศ ซึ่งต้องขอบคุณธนาคารออมสินที่ใส่ใจครูร่วมกัน เพราะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจมีหนี้สินหลายส่วนเป็นภาระต่อเนื่องมาระยะเวลานาน หากได้รับความร่วมมือที่ดีจากสถาบันทางการเงิน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ตรงจุด แบ่งเบาภาระครู เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว และหากครูมีจิตใจที่เข้มแข็งที่จะแก้ไขหนี้สินของตัวเอง เชื่อว่าจะจัดการปัญหาหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า จากนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” การจะมีความสุขได้คือต้องลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ด้วยปัจจุบันนี้ครูมีภาระเยอะในหลายด้าน จึงต้องช่วยครูลดการปฎิบัติหน้าที่ที่นอกเหนือจากการสอนลดภาระในการดำรงชีวิตให้เยอะที่สุด ครูก็จะมีการทำงานและชีวิตที่ดีขึ้น มีหนี้สินน้อยลง ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายหลายอย่างที่เป็นรูปธรรมในการลดภาระครู เพื่อที่ครูจะได้มีเวลาส่วนตัวหากิจกรรมทำเพื่อเพิ่มรายได้มากขึ้น ปัญหาหนี้สินครูจึงเป็นเรื่องของทุกฝ่าย โดยอาศัยความช่วยเหลือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน หน่วยงานต้นสังกัดมาดูแลอย่างใกล้ชิด ปัญหาต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นได้ มีหนี้แล้วต้องมีการดำเนินชีวิตได้อย่างไม่ยากลำบาก ไม่ถึงทางตัน มีเงินเหลือใช้ในส่วนอื่นได้ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจึงเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ
รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูชุดใหญ่ ขอเรียนว่าจะมีการทำ MOU กับสถาบันการเงิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลเรื่องการขอขยายกรอบเวลาชำระหนี้ และชะลอการฟ้องล้มละลาย ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ดำเนินการของบประมาณมาช่วยในการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สำหรับวันนี้เป็นจะเป็นทิศทางและประกายความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ขอขอบคุณความตั้งใจของทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงิน ถือเป็นมิติที่ยิ่งใหญ่และจริงจังในการร่วมมือกันจัดการปัญหา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพูดคุยแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน จะช่วยแก้ไขปัญหาและลดภาระให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่งผลให้ประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมต.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ยังมีความกังวลว่าเราจะแก้หนี้อย่างแท้จริงได้หรือไม่ จะยั่งยืนเพียงใด จึงต้องขอยืนยันว่าสามารถสงสัยได้ แต่ไม่ทำไม่ได้ เราอาจจะบอกว่าเงินเดือนสุดท้ายต้องเหลือ 30% แต่ปัญหาที่เราเจอคือแม้ว่าเหลือ 30% ก็ยังไม่หมดหนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป หากคิดแนวทางว่าเรานำหนี้ทั้งหมดมารวมกันได้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขของหนี้แต่ละก้อนซึ่งแตกต่างกัน เช่น คนเป็นหนี้ผ่อนรถยนต์ ดอกเบี้ยถูกคิดรวมไปแล้ว หากนำมารวมหนี้แล้วก็เท่ากับเขาเสียดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรืออีกหนึ่งตัวอย่างคืออำนาจการหักเงินเดือนของ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ซึ่งหักได้เฉพาะที่เป็นลักษณะของสวัสดิการ และลูกหนี้ต้องยินยอมด้วยจึงจะหักได้ เป็นต้น

ดังนั้นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ อันดับแรกต้องเริ่มจากการเจรจา สิ่งที่ ผอ.เขตพื้นที่ฯ จำเป็นต้องทำ คือ ต้องให้บุคลากรมาทำความเข้าใจกับกลไกการแก้หนี้ครู เพื่อที่จะสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกหนี้ได้ โดยกลไกต่าง ๆ ทั้งการขยายอายุ การขยายระยะเวลาผ่อนชำระ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่วิธีทำได้แล้วจะยั่งยืนที่สุด คือต้องไปเป็นที่ปรึกษาช่วยลูกหนี้เป็นกรณีไป

“หากถามว่ายากไหม ตอบว่าก็ยาก แต่ถามว่าไม่ทำได้ไหม ตอบเลยว่าไม่ได้ เพราะถ้าไม่เริ่มเดิน ปัญหานี้จะไม่มีทางจบเลย ขอให้พิจารณาดูว่าปัญหาหลายอย่างในกระทรวงศึกษาธิการ เราทำแบบทำทันที แล้วมีปัญหาอะไรก็ไปแก้ไขเฉพาะหน้า ทำไปศึกษาไปโดยไม่ต้องรอพร้อม เพราะถ้ารอพร้อมก่อนเมื่อไหร่ ปัญหาเหล่านี้จะไม่ได้รับการแก้ไขเลย” นายสิริพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้หากสหกรณ์ออมทรัพย์มองว่ากระบวนการแก้ไขหนี้ครูฯ เป็นศัตรู อย่างนั้นไม่ถูกต้องแล้ว อันที่จริงเราเป็นพันธมิตรกัน เป็นภาคีเครือข่ายกัน เพราะเราเอื้อต่อกัน อย่าไปคิดว่าถ้าเข้าโครงการแก้ไขหนี้ครูฯ ดอกเบี้ยที่เคยได้เยอะจะถูกต่อรอง จะได้น้อยลง คิดแบบนี้ไม่ได้ อย่างธนาคารพาณิชย์เอง เมื่อลูกค้าจะเป็น NPL ยังต้องเรียกมาปรับโครงสร้างหนี้ ให้โอกาสลูกหนี้ได้ฟื้นตัว จึงหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกสหกรณ์ทั่วประเทศจะเขียนความประสงค์ยังสถาบันการเงินให้ช่วยสนับสนุนเงินกู้ต้นทุนต่ำ เพื่อจะมาปล่อยให้ลูกหนี้ได้ไปฟื้นตัวด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำลง จะได้มากจะน้อยก็ตาม แต่ขอให้เริ่มต้นให้ได้

ส่วนเป้าหมายที่สองนั้น ได้ทราบว่าแต่ละเขตพื้นที่ฯ มีเป้าหมายว่าในแต่ละสัปดาห์ต้องแก้หนี้ให้ได้เขตพื้นที่ฯ ละ 1 ราย ซึ่งรู้สึกว่ายังไม่ท้าทายเท่าที่ควร ต้องตั้งเป้าให้มันท้าทายขึ้นกว่านี้ แต่อาจจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป และขอย้ำให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ เริ่มแนวทางนี้แบบจริงจังพร้อมรายงานให้ทราบด้วยว่าแก้ไขสำเร็จไปแล้วกี่รายต่อสัปดาห์ เพราะการแก้ไขปัญหาหนี้ครูฯ เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ไม่มีใครสามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว พวกเราทุกคนจึงต้องลงมือทำกันทันที และขอให้กำลังใจทุกฝ่ายในการแก้ไขหนี้ครูฯ เพราะครูคือเพื่อนร่วมงานของเรา ครูคือผู้ที่ทรงคุณค่าสำหรับประเทศนี้ และครูก็เป็นคนสำคัญที่จะสร้างอนาคตของชาติ ขอให้พวกเราทุกคนจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน

ปารัชญ์ ไชยเวช, พบพร ผดุงพล / ข่าว
พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
ที่มา moe360.blog/2024/05/31/debt-moe-bank-savings-cooperative/

2 ชอบ

0 ตอบกลับ

150 ดู

เพิ่มความคิดเห็น
lms.copy_page_url_button.tooltip_label

เข้าร่วมชุมชนออนไลน์

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์ เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง